“TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย” โครงการพัฒนาทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน

69

กลุ่มธุรกิจ TCP เปิดตัว “TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย” โครงการพัฒนาทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน มุ่งเน้นการบริหารจัดการแหล่งน้ำที่หลากหลายของลุ่มน้ำไทย

โครงการ TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย จึงได้ร่วมมือกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ และ สสน. ดำเนินการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำปราจีน ก่อนขยายไปสู่ลุ่มน้ำอื่นๆ ทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะทำงานร่วมกับองค์กรพันธมิตรผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรน้ำที่หลากหลายทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น สถาบันวิจัยทรัพยากรน้ำใต้ดิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการสนับสนุนการศึกษาเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำใต้ดิน และส่งผลให้น้ำผิวดินมีความอุดมสมบูรณ์อีกด้วย

“น้ำบนดิน หรือน้ำผิวดิน”
ที่ผ่านมากลุ่มธุรกิจ TCP ได้ทำงานใกล้ชิดกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ และ สสน. ในการบริหารจัดการแหล่งน้ำบนดิน ในแถบพื้นที่จังหวัดแพร่ และปราจีนบุรี จากความสำเร็จดังกล่าวเป็นตัวจุดประกายและเป็นแรงขับเคลื่อนให้โครงการ “TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย” ต่อยอดเพื่อพัฒนาการบริหารจัดการตลอดทั้งลุ่มน้ำ จึงได้ขยายความร่วมมือกับ มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ และ สสน.สานต่อโครงการพัฒนาแหล่งน้ำตามแนวพระราชดำริ ในพื้นที่ลุ่มน้ำยม และลุ่มน้ำปราจีน เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง สร้างสมดุลน้ำให้แก่ชุมชนในทั้งสองพื้นที่ได้มีน้ำใช้ตลอดทั้งปี โดยในอนาคตพร้อมขยายการพัฒนาออกไปจนครบทั้ง 25 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ เพื่อความมั่นคงและยั่งยืนในระยะยาว

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า “การตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารจัดการปริมาณน้ำฝน ปริมาณการกักเก็บน้ำและปริมาณน้ำใช้มีความ จำเป็นมากในปัจจุบัน โดยมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ มีหน้าที่สนับสนุน และถ่ายทอดความสำเร็จเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ตามหลักทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรม ชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ไปสู่ชุมชนเพื่อสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยได้ทำงานร่วมกับ โครงการ “TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย” ผ่านหลักการทำงานที่ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” อันเป็นการขยายผลจากคน และชุมชน ไปสู่การบริหารจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า ระดับตำบล และระดับลุ่มน้ำต่อไปตามลำดับ”

จากสถานการณ์ในปัจจุบัน สสน. เผยถึงตัวเลขว่า ประเทศไทยมีปริมาณฝนตกตลอดทั้งปีเฉลี่ยอยู่ที่ 754,730 ล้าน ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) แต่กักเก็บน้ำฝนได้ราว 43,000 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นเพียง
5.7 % ของน้ำฝน ซึ่งเพียงพอต่อการใช้เพียงแค่ 17 % ของพื้นที่ประเทศไทยทั้งหมด แต่ในทางกลับกันมีความต้องการใช้น้ำมากกว่า 100,000 ล้าน ลบ.ม./ต่อปี นอกจากยังมีหมู่บ้านมากกว่า 36,000 หมู่บ้าน ที่อยู่นอกพี้นที่เขตชลประทานและยังไม่ได้จัดการน้ำชุมชน ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข

ดร. สุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) กล่าวเสริมว่า “สสน. และโครงการ TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย สานต่อการทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ในการส่งเสริม สนับสนุนให้เกิดความรู้ในการบริหารจัดการ และพัฒนาแหล่งน้ำ โดยนำวิทยาศาตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในทุกพื้นที่ที่เราเข้าไป เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ส่งผลให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างน้ำ และการจัดการน้ำแบบพึ่งตนเองอย่างยั่งยืนแก่ชุมชน ทั้งนี้จะเริ่มใน 6 จังหวัดจากสองลุ่มน้ำ คือ จังหวัดแพร่ สุโขทัย พิจิตร สระแก้ว ปราจีนบุรี และนครนายก”

“น้ำใต้ดิน”
น้ำใต้ดิน หรือน้ำบาดาล เป็นแหล่งน้ำที่ชุมชนจำนวนมากพึ่งพาเพื่อการเกษตรและการอุปโภค บริโภค เนื่องจากชุมชนเหล่านั้นอยู่นอกเขตชลประทาน และใช้น้ำบาดาลเป็นแหล่งน้ำประปาของชุมชน แต่การใช้น้ำบาดาลจำนวนมากโดยไม่มีการบริหารจัดการรักษาสมดุลที่ดีทำให้หลายพื้นที่มีระดับน้ำใต้ดิน ลดต่ำลงมาก กระทบทั้งทางด้านปริมาณ คุณภาพของน้ำใต้ดิน ไปจนถึงต้นทุนในการสูบน้ำที่สูงขึ้น

นายสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP เปิดเผยว่า  ถึงแม้ว่าน้ำใต้ดินไม่ได้เป็นแหล่งน้ำในการผลิตของกลุ่มธุรกิจ TCP แต่ด้วย ความห่วงใยในปัญหาทรัพยากรน้ำในทุกมิติ เราจึงให้ความสำคัญกับการเติมน้ำให้กับชั้นดินควบคู่กัน โครงการ TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย จึงได้ทำงานร่วมกับ สถาบันวิจัยทรัพยากรน้ำใต้ดิน มหาวิทยาลัย ขอนแก่น ทำการศึกษา วิจัย รวมทั้งประเมินศักยภาพของพื้นที่ เพื่อหาแนวทางในการนำน้ำคืนสู่ชั้นใต้ดิน พร้อมกับให้ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องน้ำบาดาลอีกด้วย”

ตามแผนการดำเนินงาน 5 ปี ของโครงการ TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย และพันธมิตร เราคาดว่าจะสามารถช่วยให้ชุมชนในลุ่มน้ำยม และลุ่มน้ำปราจีน กว่า 16,000 ครอบครัว ใน 6 จังหวัด ได้เข้าถึงแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคมากกว่า 12 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือกว่า 3 เท่าของปริมาณน้ำที่กลุ่มธุรกิจ TCP ใช้ในตลอดกระบวนการ และคาดว่าจะสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้กับชุมชนจากการมีน้ำใช้ในการเกษตรอย่างเพียงพอ ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจ TCP ได้สนับสนุนเงินทุนในการดำเนินการไว้ราว 100 ล้านบาท” นายสราวุฒิ กล่าว

และเพื่อเป็นการสร้างการรับรู้ให้เกิดขึ้นกับคนทั่วไป กลุ่มธุรกิจ TCP ยังได้วางแผนจัดกิจกรรมอาสาสมัครผ่านโครงการ “TCP Spirit” ซึ่งเน้นการทำกิจกรรมร่วมกับอาสาสมัครคนรุ่นใหม่ ให้ได้เรียนรู้ถึงการเชื่อมโยงของสรรพสิ่งรอบตัว สอดแทรกสาระความรู้ แฝงความสนุกสนาน และประสบการณ์แปลกใหม่ พร้อมกับได้ลงมือทำเองทุกขั้นตอน

โดยโครงการ TCP Spirit ปีที่ 2 นี้จะจัดกิจกรรม 2 ครั้ง ภายใต้แนวคิด “พยาบาลลุ่มน้ำ” เพื่อพาอาสาสมัครรุ่นใหม่เกือบ 200 คน ไปเปิดประสบการณ์ เข้าใจปัญหาลุ่มน้ำและสร้างความตระหนักรู้ รวมทั้งร่วมลงมือทำงานแก้ปัญหา อันจะนำไปสู่การจุดประกายสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนในเรื่องนี้สืบไป โดยเริ่มครั้งแรกในเดือนสิงหาคม ที่จังหวัดน่าน และปิดท้ายโครงการในเดือนตุลาคมลกลุ่มธุรกิจ TCP

เกี่ยวกับกลุ่มธุรกิจ TCP

ประกอบด้วยบริษัท ที.ซี. ฟาร์มาซูติคอล อุตสาหกรรม จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าของกลุ่ม บริษัท เครื่องดื่มกระทิงแดง จำกัด รับผิดชอบในการทำตลาดและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม บริษัท ที.จี. เวนดิ้ง แอนด์ โชว์เคส อินดัสทรีส์ จำกัด เป็นเจ้าของและบริหารจัดการตู้จำหน่ายเครื่องดื่มอัตโนมัติสำหรับผลิตภัณฑ์ของกลุ่มและแบรนด์อื่นๆ และ บริษัท เดอเบล จำกัด ดูแลการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของกลุ่มและแบรนด์อื่นๆ ปัจจุบันกลุ่มธุรกิจ TCP มีพนักงานกว่า 5,000 คนในประเทศไทยและทั่วโลก

ผลิตภัณฑ์และแบรนด์ของกลุ่มธุรกิจ TCP ที่มีจำหน่ายในประเทศไทยและทั่วโลก ประกอบด้วย 6 กลุ่มผลิตภัณฑ์ รวม 8 แบรนด์ คือ กลุ่มเครื่องดื่มชูกำลังคือ กระทิงแดง เรดดี้ โสมพลัส และวอริเออร์ กลุ่มเครื่องดื่มเกลือแร่ คือ สปอนเซอร์ กลุ่มเครื่องดื่มฟังก์ชันนัล ดริ้งก์ คือ แมนซั่ม กลุ่มเครื่องดื่มชาพร้อมดื่ม คือ เพียวริคุ ผลิตภัณฑ์เมล็ดทานตะวัน คือ ซันสแนค และกลุ่มหัวเชื้อเครื่องดื่ม คือ เรดบูลรสดั้งเดิม

กลุ่มธุรกิจ TCP ผนึกความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนองค์กรสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนใน 3 มิติคือ Integrity (พันธมิตรธุรกิจยั่งยืนและองค์กรธรรมาภิบาล) Quality (คุณภาพสินค้าและบริการ และคุณภาพชีวิตบุคคลากร) และ Harmony (รักษ์สิ่งแวดล้อม และชุมชนยั่งยืน) เป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนนี้ เพื่อมุ่งยกระดับกลุ่มธุรกิจ TCP เป็นหนึ่งใน “บริษัทคนไทยที่ได้รับการชื่นชมที่สุด”