รายงานสุขภาพคนไทย 2562 ชี้ สถานการณ์เอชไอวี/เอดส์ดีขึ้น ผู้ป่วยเข้าถึงยาต้านไวรัส แต่ติดปัญหาถูกเลือกปฏิบัติสูงลิ่ว ร้อยละ 58.6 ด้าน สสส. จับมือภาคีเดินหน้าลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเท่าเทียม สอดรับเป้าหมายโลกลดการตีตราเลือกปฏิบัติ
ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ข้อมูลว่า สสส. ได้ร่วมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ พ.ศ. 2560-2573 ซึ่งมีเป้าหมายที่ต้องการบรรลุในปี 2573 รวม 3 ประการ คือ 1) ลดการติดเชื้อเอชไอวี รายใหม่เหลือไม่เกิน 1,000 รายต่อปี 2) ลดการเสียชีวิตในผู้ติดเชื้อเอชไอวี เหลือปีละไม่เกิน 4,000 ราย และ 3)ลดการเลือกปฏิบัติอันเกี่ยวเนื่องจากเอชไอวี ลงจากเดิมร้อยละ 90 ทั้งนี้ สสส. ได้ให้ความสำคัญกับการลดตีตราเลือกปฏิบัติ เนื่องจากที่ผ่านมามีผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อหลายคนไม่กล้าตรวจเลือด เพราะกลัวการถูกตีตรา ส่งผลให้ขาดการป้องกันตัวเองและเกิดการแพร่กระจายเชื้อ สอดคล้องกับรายงานสุขภาพคนไทย ปี 2562 ที่ระบุว่า ประชาชนร้อยละ 76.9 ยังลังเลที่จะไปตรวจหาเชื้อ และคนส่วนใหญ่ร้อยละ 58.6 มีทัศนคติที่จะตีตราและเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อ สสส.จึงสนับสนุนการศึกษากฎหมายการห้ามเลือกปฏิบัติในหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว พร้อมทั้งทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและภาคีในการรณรงค์ส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ รวมถึงการป้องกันมะเร็งปากมดลูก
ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา รักษาการผู้อำนวยการสำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ สสส. กล่าวว่า สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และ สสส. ได้ร่วมกันจัดทำรายงานรายงานสุขภาพคนไทย 2562 เพื่อสะท้อนปัญหาสำคัญของสังคมเป็นประจำทุกปี โดยในปีนี้ให้ความสำคัญกับ 12 ตัวชี้วัดสุขภาพของประชากรกลุ่มเปราะบาง อาทิ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ผู้ต้องขัง ผู้ใช้สารเสพติด คนพิการ และผู้สูงอายุ ซึ่งข้อมูลทั้งหมดนี้จะเป็นฐานข้อมูลสนับสนุนการทำงานของภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม และสื่อมวลชน ที่กำลังปฏิบัติงานเรื่องนี้ เช่นเดียวกับการที่ สสส. เองได้นำผลการวิจัยที่ทันสมัยภายในเล่มมาพัฒนากลยุทธ์การสร้างเสริมสุขภาพของคนไทยทุกกลุ่มอย่างครอบคลุมทุกมิติ
ผศ.ดร.เฉลิมพล แจ่มจันทร์ คณะทำงานรายงานสุขภาพคนไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล กล่าวว่า รายงานสุขภาพคนไทยปี 2562 นี้มุ่งเน้นที่ประชากรกลุ่มเปราะบางที่มีสถานภาพทางสังคม รวมถึงทางสุขภาพที่มีลักษณะเฉพาะ ที่อาจนำไปสู่การถูกตีตราจากสังคมสิ่งแวดล้อมภายนอกและเกิดเป็นการตีตราภายในตนเอง ซึ่งมีผลทำให้บุคคลเข้าถึงสิทธิบริการต่างๆ ทางสังคมและทางสุขภาพได้ไม่มาก โดยรายงานสุขภาพคนไทยไม่ได้มุ่งนำเสนอแค่ตัวเลขผลวิจัย แต่สื่อสารประเด็นที่สังคมควรรับรู้ และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง อย่างเช่นในปีนี้ที่มุ่งตอกย้ำว่าการพัฒนาประเทศให้รุดหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ ทุกภาคส่วนจะต้องไม่ทิ้งประชากรกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไว้ข้างหลัง
นางสาวสุภัทรา นาคะผิว ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ กล่าวว่า มูลนิธิฯ ร่วมกับเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี และเครือข่ายกลุ่มเปราะบางต่างๆ ยกระดับการแก้ปัญหาประเด็นการตีตราและเลือกปฏิบัติ โดยมีการพัฒนาร่างพระราชบัญญัติขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล พ.ศ. … เพื่อรองรับหลักการตามมาตรา 27 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่ระบุว่า ‘บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน’ และกำลังดำเนินการรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อสนับสนุนการเสนอร่างกฎหมายดังกล่าว คาดว่าจะได้รายชื่ออย่างน้อย 1 หมื่นรายชื่อภายในสิ้นปีนี้ โดยเชื่อมั่นว่าหากกฎหมายลูกฉบับดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจากสภาแล้ว ปัญหาการเลือกปฏิบัติจะลดลง และประชากรกลุ่มเปราะบางจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ได้รับการคุ้มครองสิทธิในการเข้าทำงาน การศึกษา การใช้ชีวิต และการเข้าถึงบริการต่างๆ ที่พึงได้รับ โดยมีบทลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายอย่างชัดเจน