Prik University มหาวิชชาลัยแห่งแรกของภาคใต้ มุ่งสร้าง “พลเมืองตื่นรู้”

36

สสส. เปิดตัว “มหาวิชชาลัยปริกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” มหาวิชชาลัยแห่งแรกของภาคใต้ เน้นสร้าง “พลเมืองตื่นรู้” น้อมนำศาสตร์พระราชามาปรับใช้-โปร่งใส-ยึดหลักคุณธรรม สร้างสังคมคนดี สันติสุข รักษ์โลก เน้นตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ร่วมกับเทศบาลตำบลปริก จัดเวทีสุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่นพื้นที่ภาคใต้ พร้อมเปิดตัว “มหาวิชชาลัยปริกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” Prik University of Wisdom and Technology for Sustainable Development: Prik USD โดยมีนายไพโรจน์ จริตงาม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายสมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ นางสาวดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. และคณะกรรมการบริหารแผน คณะที่ 3 สสส. หัวหน้าส่วนราชการ คณะผู้บริหารเทศบาลตำบลปริก สมาชิกเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่เข้าร่วม

นางสาวดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. กล่าวว่า ปัจจุบันแผนสุขภาวะชุมชนสนับสนุนให้มีมหาวิชชาลัยจำนวน 4 แห่ง จากจุดเริ่มต้นของการบูรณาการการดูแลสุขภาพชุมชนโดยชุมชน ในการจัดงานครั้งนี้ได้เปิดตัว “มหาวิชชาลัยปริกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” มหาวิชชาลัยแห่งแรกในภาคใต้อย่างเป็นทางการ ซึ่งปัจจัยความสำเร็จนอกจากชุมชนจะมีทุนศักยภาพของพื้นที่แล้ว ยังมีสุดยอดองค์กรความรู้  สุดยอดผู้นำ ที่มีการลงมือปฏิบัติจริงจนเห็นผลสำเร็จ

“น่าชื่นชมเทศบาลตำบลปริกที่มีแนวคิดการบริหารจัดการอย่างยั่งยืน ตอบสนองต่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนเป็นการมุ่งสร้างคน ให้เป็นพลเมืองที่มีความกระตือรือร้น (Active Citizens) ด้วยการจัดกระบวนการเรียนรู้ในทุกกลุ่มคน มีระบบการบริหารจัดการตำบลที่มีการสร้างผู้นำ การวางแผนที่ตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหา และจัดระบบการทำงานในลักษณะพหุภาคี เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งของประชาชนและสังคม โดยการน้อมนำศาสตร์พระราชาและหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี  เพื่อมุ่งให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชนในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน” นางสาวดวงพรกล่าว

ด้านนายสุริยา ยีขุน นายกเทศมนตรีตำบลปริก กล่าวว่า เทศบาลตำบลปริกร่วมขับเคลื่อนตำบลสุขภาวะ โดยได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ตั้งแต่ปี 2552 จนกระทั่งปัจจุบัน 10 ปี ที่ผ่านมาปริกสั่งสมประสบการณ์มีความเชี่ยวชาญการพัฒนาสุขภาวะชุมชน สามารถสร้างผู้นำ เครือข่าย บริหารจัดการพื้นที่โดยยึดหลักธรรมาภิบาลและมีขีดความสามารถในการสร้างนวัตกรรมโดยใช้ชุมชนท้องถิ่นเป็นฐานอันนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยยึดหลักดังนี้ 1.น้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 มาเป็นแนวทางในการพัฒนาพื้นที่ 2. โปร่งใสตรวจสอบได้ มีการเปิดเผยข้อมูลการปฏิบัติงานทุกขั้นตอน เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งจากภายในและภายนอกหน่วยงานสามารถเข้าถึงข้อมูลได้  3. สร้างหุ้นส่วนในการทำงาน ทุกคนทุกหน่วยงานในชุมชนร่วมลงมือปฏิบัติการร่วมกัน และรับผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกัน  4. ยึดหลักคุณธรรม คณะผู้บริหาร สมาชิกสภา ข้าราชการ พนักงานในเทศบาลตำบลปริก เป็นแบบอย่างในการปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เสียสละ มีความอดทน ขยันหมั่นเพียร ยึดมั่นในความถูกต้องดีงาม และ 5.พัฒนาผ่านปฏิบัติการจริง ค้นหาวิธีการโดยการลองผิด ลองถูก ส่งเสริมเรียนรู้บนฐานความเข้าใจในวิถีชีวิต  

นายสุริยา กล่าวต่อว่า สำหรับรูปธรรมการสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต 7 กลุ่มสังคม ได้แก่  1. สังคมคนดี : การเรียนรู้เรื่องศาสนา จากนโยบายการพัฒนาการศึกษา ศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม ของเทศบาลตำบลปริก ส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนากระบวนการทางการศึกษาทั้งในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย เน้นการสร้างพลังเด็กและเยาวชนให้เกิดสำนึกความเป็นพลเมืองที่ตื่นรู้ มีการส่งเสริมการเรียนการสอนศาสนาทุกกลุ่มวัย  ทำให้คนในชุมชนนำหลักศาสนามาขัดเกลาจิตใจ ก่อให้เกิดสังคมคนดี ปรากฏเป็นรูปธรรมทุนทางสังคมเด่น  ได้แก่ มัสยิดครบวงจร และมัสยิดส่งเสริมสุขภาพ  2. สังคมสันติสุข : การร่วมแก้ปัญหาความขัดแย้งในชุมชน ปรากฏเป็นรูปธรรมทุนทางสังคมเด่น ได้แก่ ศูนย์ยุติธรรมชุมชนเทศบาลตำบลปริก กลุ่มอนุรักษ์คลองอู่ตะเภา เป็นต้น 3. สังคมสวัสดิการ : การช่วยเหลือกัน จากพระราชดำรัสสู่การปฏิบัติการจริง การนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนา โดยเร่งส่งเสริมให้ความรู้ด้านการเกษตร เพื่อเพิ่มผลผลิต และยกระดับรายได้ของประชาชน 4. สังคมรักษ์โลก : การอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติ เช่น ขยะมีบุญ 5. สังคมเอื้ออาทร : การดูแลกัน เน้นกิจกรรมเพื่อการส่งเสริมการพัฒนา ยกระดับงานด้านการจัดการสุขภาวะชุมชนแบบองค์รวม กาย จิต อารมณ์ สังคม และสิ่งแวดล้อม เช่น กลุ่มอาสาดูแลผู้ป่วยจิตเวช กลุ่มแม่อาสา 6. สังคมปรับตัว : การจัดการภัยพิบัติ โดยส่งเสริมให้คนในชุมชนมาเรียนรู้วิธีการจัดการภัยพิบัติ พร้อมจัดทำแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และจัดทำข้อมูลพื้นที่เสี่ยงกำหนดเป้าหมายกลุ่มเสี่ยง จัดทำแผนที่ทำมือเพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการช่วยเหลือผู้ประสบภัย และ 7. สังคมไม่เดือดร้อน : การเรียนรู้เพื่อการประกอบอาชีพ คนในชุมชนเทศบาลตำบลปริก มีความเกี่ยวโยงถึงการพัฒนาระบบสวัสดิการชุมชนและส่งผลให้ประชาชนหันมาทำเกษตรแบบผสมผสาน ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ใช้น้ำหมักชีวภาพ แทนการใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมี และยาฆ่าแมลง

อนึ่ง แผนสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. นำโดยนายธวัชชัย ฟักอังกูร ประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 3 สสส. ได้เข้ามามีส่วนร่วมส่งเสริมและขับเคลื่อนตำบลดอนแก้วให้เป็นตำบลสุขภาวะ จนกระทั่งยกสถานะเป็นมหาวิชชาลัยดอนแก้วสร้างสุข โดย อบต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เป็นมหาวิชชาลัยของชุมชนเป็นแห่งแรกในปี 2557 จากนั้นเกิดมหาวิชชาลัยอุโมงค์สร้างพลเมือง โดย ทต.อุโมงค์ อ.เมือง จ.ลำพูน ในปี 2558 สำหรับในปี 2562 มีการเปิดตัว “มหาวิชชาลัยบ้านแฮดสร้างความเท่าเทียม” โดย ทต.บ้านแฮด อ.บ้านแฮด จ.ขอนแก่น และล่าสุดเปิดตัว “มหาวิชชาลัยปริกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” โดย ทต.ปริก อ.สะเดา จ.สงขลา