เสนอ 10 แพ็กเกจ ส่งเสริมสุขภาพวัยทำงาน ที่รัฐต้องพร้อมจัดการ

258

จากผลสำรวจภาวะการทำงานของประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติ สำหรับไตรมาสที่ 1 ปี 2562 พบว่าประเทศไทยมีประชากรที่อยู่ในวัยทำงานหรืออายุ 15 ปีขึ้นไปจำนวน 56.47 ล้านคน จำแนกเป็นผู้อยู่ในกำลังแรงงาน 38.37 ล้านคน และจำแนกเป็นผู้ไม่อยู่ในกำลังแรงงาน 18.10 ล้านคน โดยเป็นกลุ่มคนที่มีงานทำประมาณ 37.7 ล้านคน นั่นแสดงให้เห็นว่า ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ยังคงเป็นวัยทำงาน และครึ่งหนึ่งของประเทศ คือ คนทำงาน ซึ่งเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ

ประเด็นของการดูแลสุขภาวะของกลุ่มคนทำงานจึงมีความสำคัญมาก  ล่าสุด สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  มีการประชุมเชิงปฎิบัติการ “สุขภาพพนักงานคือพื้นฐานองค์กรแห่งความสุข” โดยมีภาคีเครือข่ายองค์กรแห่งความสุขเข้าร่วมกว่า 170 คน

นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สสส. กล่าวว่า สสส. โดยแผนสร้างเสริมสุขภาวะในองค์กร สนับสนุนและบูรณาการเพื่อสร้างความสุขให้เกิดขึ้นในที่ทำงาน เพื่อขับเคลื่อนองค์กรสุขภาวะร่วมกับภาคีเครือข่าย องค์กรภาคสาธารณะ และองค์กรภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง การจัดงานครั้งนี้เกิดพื้นที่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เชิงประเด็น อาทิ สุขภาพพนักงานคือพื้นฐานองค์กรแห่งความสุข, ธนาคารเวลา, No Drink I Drive, 10 Pakages ส่งเสริมสุขภาพคนวัยทำงาน ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของคนวัยทำงาน เกิดการนำองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพไปใช้ประโยชน์ต่อยอด รวมถึงเกิดการดำเนินงานร่วมกันระหว่างเครือข่ายองค์กรสุขภาวะกับภาคีเครือข่ายเชิงประเด็น สสส. ปัจจุบันได้เกิดเครือข่ายองค์กรสุขภาวะมีการทำงานที่มีความสุขส่งผลต่อสถิติในสถานประกอบการด้านต่างๆ อาทิ ลาหยุด ลาออก ผลผลิตเพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายสวัสดิการในการรักษาพยาบาลลดลงครอบคลุมทั่วประเทศไทยกว่า 100 องค์กร

“แนวคิดในการดำเนินงานกับกลุ่มเป้าหมายหลักคือ คนทำงานในองค์กร ที่ถือเป็นบุคคลสำคัญและเป็นกำลังหลักของทั้งครอบครัว องค์กร ชุมชน และสังคม การสร้างความสุขในที่ทำงาน นับว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการบริหารองค์กร มุ่งหวังให้กลุ่มคนวัยทำงานที่มี 37.79 ล้านคนในประเทศไทย มีความสุขในการทำงาน ส่งผลให้ความเครียด อุบัติเหตุ และโรคที่เกิดจากการทำงานลดลง เป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนไทยยุค 4.0 ทั้ง 4 ด้าน คือ สุขภาพกาย สุขภาพใจ บรรยากาศในการทำงานหรือสังคม และทัศนคติในการทำงาน เครื่องมือที่พิสูจน์แล้วว่าได้ผลก็คือ การทำให้พนักงานมีสติ Mindfulness และด้านเจตคติของคน ส่งผลต่อการวัดผลคุณค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการที่คนในองค์กรมีความสุขมากขึ้น รวมถึงการให้ความรู้  ทักษะการจัดการทางการเงิน การสร้างสติในการทำงาน และการใช้ชีวิตให้พนักงาน” นพ.ชาญวิทย์ กล่าว

พญ.สาริษฐา สมทรัพย์ หัวหน้ากลุ่มอนามัยวัยทำงาน สำนักส่งเสริมสุขภาพวัยทำงาน กรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ สสส. และภาคีเครือข่าย รวบรวมองค์ความรู้ในการเสริมสร้างสุขภาพคนวัยทำงานในสถานประกอบการ จัดทำ 10 รูปแบบส่งเสริมสุขภาพวัยทำงาน เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานในระดับนโยบายด้านการส่งเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิตในสถานประกอบการ สร้างภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนกลไกพัฒนาระบบการดำเนินงานด้านการส่งเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิตในสถานประกอบการ เพื่อสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมด้านการส่งเสริมสุขภาพในสถานประกอบการ โดยมีเป้าหมายในการขยายผลการดำเนินงานให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศนำไปสู่การสนับสนุนรัฐบาลทำงานต่อไป การจัดงานแถลงข่าวเปิดตัว “10 Packages ส่งเสริมสุขภาพคนวัยทำงาน” โดย สสส. กรมอนามัย และผู้แทนภาคีเครือข่ายนักวิชาการ เข้าร่วมเป็นวิทยากรและร่วมเสวนา จะจัดขึ้นในวันที่ 8 สิงหาคม 2562 ที่ สสส.