Capstone Project @ DPU X ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ ปั้นอาจารย์ดรีมทีมเป็นเดอะเทรนเนอร์ การเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด มีความสำคัญอย่างมากทั้งต่อการอยู่รอด และความสำเร็จ ในโลกที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงอย่างในวันนี้
Capstone Project for Entrepreneur Workshop กิจกรรมที่จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่สอง เป้าหมายอยู่ที่การ “สร้างและส่งต่อ” พร้อมกับ “ต่อยอด” ความรู้ให้นั้นไปยังสองกลุ่มเป้าหมายหลักได้แก่ อาจารย์ผู้สอน และนักศึกษา โดยในปีนี้จัดขึ้นในวันที่ 11-12 ก.ค. 2562 @ Makerspace มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU)
กิจกรรมพิเศษครั้งนี้จัดขึ้นสำหรับอาจารย์ DPU เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสู่การเป็น Startup University ที่พร้อมก้าวเข้าสู่การสอนในยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ นอกจากนี้ยังได้ร่วมแบ่งปัน แลกเปลี่ยนประสบการณ์จากผู้ที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจด้านต่างๆ จากองค์กรชั้นนำ
ดร.พัทธนันท์ เพชรเชิดชู รองอธิการบดีสายงานภาคีสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดเผยว่า โครงการ capstone จัดขึ้นเพื่อเป็นการเพิ่มพูนทักษะความรู้ให้อาจารย์มีความเชี่ยวชาญที่จะเป็น accelerator ในวิชา capstone project โดยที่อาจารย์ที่เข้าร่วมติวเข้มความรู้ในครั้งนี้จะนำไปใช้ Coach กับนักศึกษาปี 3
“ในชั้นเรียนปี 1 และ 2 นักศึกษาจะได้รับการพัฒนาทักษะความเป็นผู้ประกอบการ เทคโนโลยี และ Soft skills เมื่อขึ้นปี 3 เด็กๆ จะต้องมารวมกลุ่มจากเพื่อนต่างคณะ ต่างหลักสูตร เพื่อทำโปรเจ็คร่วมกัน ซึ่งในกระบวนการนี้จำเป็นที่จะต้องมีอาจารย์ที่มีทักษะ ความรู้ ความเชี่ยวชาญที่จะสามารถดูแลเด็กได้ กิจกรรมในเวิร์คชอปนี้จะเลือกอาจารย์ที่เป็นดรีมทีมขึ้นมาก่อนในชุดแรก จากนั้นมองถึงการขยายไปสู่การพัฒนาอาจารย์ทุกคนในมหาวิทยาลัยต่อไป”
นอกจากการเวิร์คชอปเพื่อให้อาจารย์ไปสร้างเด็ก ในอีกมุมหนึ่งอาจารย์ก็ได้รับการ Re-skills โดยคนที่ผ่านกระบวนการนี้จะเป็น New work force ที่สำคัญต่อไปของ DPU
ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม ผู้อำนวยการสถาบัน DPU X แห่งมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดเผยว่า อาจารย์แต่ละท่านที่เข้าร่วมกิจกรรมเวิร์คชอปจะมาจากทุกคณะ เช่น ศิลปกรรม วิศวกรรม บริหาร ท่องเที่ยว นิเทศน์ โดยเป็นบุคคลที่เปิดรับและ อยากทดลองทำอะไรใหม่ ๆ
“สิ่งที่สนใจเป็นเรื่อง mind set กระบวนการความคิดมากกว่า เทคโนโลยีเป็นแค่เครื่องมือในการใช้งาน แต่หลักคิดในความเป็นมนุษย์ ในความเป็นผู้เชี่ยวชาญในงานกับเครื่องมือใหม่ ๆ ควรจะเป็นอย่างไร เราจะพัฒนามันอย่างไรเพื่อให้เราใช้ศักยภาพ จุดประสงค์หลักของ Capstone วัดได้ที่นักศึกษา แม้ไม่คาดหวังว่าเด็กทุกคนต้องได้ แค่ให้ส่วนใหญ่รับรู้และเข้าใจในแนวคิดนี้ในเชิงลึก ทำซ้ำไปเรื่อย ๆ แล้วจะเห็นผล ค่อยๆ สะสมไปเรื่อย ๆ จนเกิดเป็นวัฒนธรรมระหว่างอาจารย์กับเด็ก”
ดร. รชฏ ขำบุญ รองคณบดีสายงานวิชาการ วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี เปิดเผยว่า ทักษะความรู้ที่ได้เข้าร่วมในโครงการนี้เกิดข้อดีในสองส่วนด้วยกัน ส่วนแรกนักศึกษาสามารถสร้างธุรกิจใหม่ได้ กับ สอง การปรับมุมมองคิดที่จะปรับธุรกิจเดิมๆ แล้ว สร้างสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น
“ไม่ใช่เด็กทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ที่จบไปแล้วจะไปเป็นสตาร์ทอัพ ส่วนหนึ่งอาจต้องการทำงานในบริษัทใหญ่ซึ่งก็ต้องมีความรู้ด้านการสร้างนวัตกรรมหรือคิดปรับปรุงช่วยประโยชน์ให้องค์กร เพราะไม่ว่าจะเป็นสตาร์ทอัพ หรือทำงานในองค์กร หลักการเดียวกัน คือ การเข้าใจลูกค้า หาความต้องการของลูกค้าแล้วสนองตอบให้ได้มากที่สุด”
ในกิจกรรมเวิร์คชอปสองวันเป็นการอบรมที่พยายามนำเสนอเครื่องมือที่หลากหลายที่จะเอาไปใช้ในการค้นหาความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า“ ดร. รชฏ กล่าว
การทำธุรกิจสมัยนี้ เริ่มต้นมีแค่คอมพิวเตอร์ และทีมอีกสองคนก็เพียงพอ เมื่อเทียบกับการลงทุนเริ่มต้นธุรกิจที่ต้องมีสเกลที่ใหญ่กว่านี้มาก อย่างไรก็ดี ขอแค่มีความพร้อม และไม่ประมาทในการประเมินต้นทุน เชื่อว่าอย่างไรก็ได้อะไรที่ล้ำค่ากลับไป แม้ไม่เป็นตัวเงิน แต่ก็ได้ประสบการณ์ในการทำธุรกิจ”
จากภาพรวมของปีนี้ “Capstone Business Project” นับเป็นอีกโมเดลการเรียนรู้ที่สำคัญในโลกยุคปัจจุบันที่ให้มุ่งเน้นพัฒนาทักษะแห่งอนาคตให้กับบุคลากรและนักศึกษา DPU ในการมีมุมมองความคิดการเป็นผู้ประกอบการ รวมถึงการทำ Startup ให้ประสบความสำเร็จอย่างมืออาชีพ ชี้วัดจากปีที่ผ่านมา DPU ส่งนักศึกษาเข้าแข่ง startup Thailand เป็นปีแรกจำนวน 10 ทีม สามารถทะลุ เข้ารอบ 4 ทีม ที่สุดคว้ารางวัลที่ 2 ของภูมิภาคได้เป็นผลสำเร็จ