ทลายกำแพงโลกสื่อสารไร้เสียง “เรียนด้วยกัน”….ความพิการไม่มีจริง!!

27

จากสถิติข้อมูลปี 62 มีจำนวนผู้พิการประมาณ 2 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 3.01 ของคนไทยทั้งประเทศ และ 3 อันดับแรกเป็นคนพิการทางการเคลื่อนไหวหรือร่างกาย รองลงมาคือคนพิการทางการได้ยิน (หูหนวก) และคนพิการทางการมองเห็น (ตาบอด)

จากตัวเลขนี้นำมาสู่โครงการ “ด้วยกัน” ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีภาคส่วนต่างๆ ขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ ปี 2558 เพื่อสนับสนุนให้คนพิการทุกประเภทความพิการ และคนไม่พิการสามารถเรียนรู้ร่วมกัน อย่างมีความสุขบนพื้นฐานความแตกต่าง ผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดี และพัฒนาสังคมการเรียนรู้ ควบคู่กับสร้างเสริมทัศนคติเชิงบวกในการใช้ชีวิตร่วมกันในสังคม

ล่าสุด สสส. ร่วมกับ บริษัท กล่องดินสอ จำกัด วิทยาลัยราชสุดา กองกิจการนักศึกษา และกองเทคโนโลยีสารสนเทศ ม.มหิดล จัดกิจกรรม “เรียนด้วยกัน” ครั้งที่ 1 เปิดพื้นที่ให้นักศึกษาพิการทางการได้ยิน จากวิทยาลัยราชสุดา และ คนไม่พิการ ซึ่งเป็นอาสาสมัคร ศิษย์เก่าจาก ม.มหิดล ที่สนใจเข้ามาเรียนรู้การออกแบบงานกราฟิกดีไซน์ จำนวน 20 คน โดยจับคู่บัดดี้ เรียนร่วมกัน ใช้เวลาเรียน 10 วัน จนสามารถสร้างชิ้นงาน Final Project ที่นำเสนอออกมาเป็นผลงานกราฟิกได้อย่างน่าทึ่ง

นางภรณี ภู่ประเสริฐ (กลาง) ดร.วรางคณา รัชตะวรรณ (ขวา) และ นายสมบูรณ์ ชุติวิโรจน์ (ซ้าย)

นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. สนับสนุนโครงการ ด้วยกัน เพื่อส่งเสริมสุขภาวะ ที่คนพิการและคนไม่พิการให้สามารถทำกิจกรรมร่วมกันได้ และสร้างองค์ความรู้เพื่อให้องค์กรอื่นๆ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ โดยมุ่งให้คนพิการมีคุณภาพชีวิตที่ดี และภายใต้โครงการด้วยกัน มีกิจกรรมหลากหลาย ซึ่งเริ่มตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2558 สำหรับกิจกรรม เรียนด้วยกัน มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในการทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างคนพิการ และคนไม่พิการให้เข้าใจในข้อจำกัดของกันและกัน

ดร.วรางคณา รัชตะวรรณ รักษาการแทนรองคณบดี ฝ่ายการศึกษา กิจการนักศึกษาและสื่อสารองค์กร วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สิ่งที่ผู้เรียนได้เรียนรู้จากโครงการนี้ ไม่ใช่เพียงแค่เนื้อหาของบทเรียน แต่เป็นการเรียนรู้ “วิธีการเรียน” ซึ่งกันและกัน โดย ทางวิทยาลัยราชสุดา จะนำผลจากการดำเนินกิจกรรมนี้ไปในพัฒนาหลักสูตรอาชีพระยะสั้นด้านการออกแบบกราฟิก สำหรับพัฒนาศักยภาพผู้พิการที่ตอบสนองต่อตลาดแรงงาน ให้ผู้พิการตระหนักถึงคุณค่า และศักยภาพของตนเองในการเป็นส่วนสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนาสังคมให้เข้มแข็งและยั่งยืน

ด้าน นายสมบูรณ์ ชุติวิโรจน์สกุล ผู้จัดการทั่วไปและผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ บริษัทกล่องดินสอ จำกัด กล่าวว่า กล่องดินสอมีความเชื่อว่าความพิการไม่มีจริง มีแต่สภาพแวดล้อมที่พิการเท่านั้น เราจึงมองเห็น โอกาสพัฒนาผู้พิการ ทลายความเชื่อเดิมๆ ที่ว่าผู้พิการทำได้เฉพาะบางอาชีพ และด้วยความเชื่อนี้ที่มี ทำให้เกิดโครงการ เรียนด้วยกัน ขึ้น ซึ่งสิ่งที่มากกว่าพัฒนานักกราฟิกดีไซน์ 20 คน แต่ได้เห็นมิตรภาพ มุมมองของผู้พิการเปลี่ยนไป และ สามารถพัฒนาคนพิการให้มีโอกาสมากยิ่งขึ้น ตอบเป้าหมายของกล่องดินสอในการมุ่งสร้างสังคมแห่งความเท่าเทียม ให้เกิดขึ้นจริงได้

โครงการ “เรียนด้วยกัน” ครั้งที่ 1 เริ่มเรียนตั้งแต่ วันที่ 28 มิ.ย.จนถึง วันที่ 12 ก.ค.2562 โดยจับคู่กันเรียน วิชาออกแบบกราฟิกพื้นฐานด้วยกัน ตั้งแต่ การใช้เครื่องมือ การวางองค์ประกอบของภาพ การใช้ตัวอักษร การออกแบบชิ้นงาน สื่อสิ่งพิมพ์ บรรจุภัณฑ์ และเรียนรู้การเล่าเรื่องแบบ Storytelling ไปจนถึงการออกแบบชิ้นงาน Final Project ภายใต้แนวคิด “What is favorite time of Day ” ช่วงเวลาที่ดีที่สุดของวัน โดยนำเสนอออกมาเป็นผลงานกราฟิก ซึ่งแต่ละชิ้นงานถ่ายทอดเรื่องราวได้น่าสนใจ และมีความโดดเด่น ที่แตกต่างกัน โดยทั้งหมด จัดแสดงให้ชมในงานนิทรรศการ See Scenes ระหว่างวันที่ 23 ก.ค. จนถึงวันที่ 4 ส.ค. 62 ณ บริเวณชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ตลอด 10 วันที่ ในโลกการสื่อสารไร้เสียง ที่ต้องใช้ชีวิตด้วยกัน เรียนด้วยกัน สิงที่ได้มากกว่าวิชาความรู้ คือได้มิตรภาพ ความประทับใจ และเรื่องราวดีๆ ที่มีคุณค่า และมีความหมายมากมาย ที่เกิดขึ้นระหว่างทาง หนึ่งเสียงสะท้อน จาก น.ส.วิมลศรี จินดานุ (เบล่า) นักศึกษาผู้พิการทางการได้ยิน ที่เข้าร่วม เล่าว่า ตอนแรกตัวเองก็กังวลใจเหมือนกัน เพราะไม่เคยเข้าร่วมกิจกรรมแบบนี้มาก่อน แต่ด้วยความชอบงานด้านกราฟิกดีไซน์ ชอบคิด ชอบออกแบบ จึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ ก็รู้สึกดีที่ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับเพื่อนที่ปกติ แม้ในการสื่อสารจะมีอุปสรรคบ้าง แต่เราก็ข้ามผ่านไปได้ จากแค่หวังเพียงความรู้เพิ่มเติมเพื่อนำไปต่อยอดในการประกอบอาชีพ แต่กลับได้มากกว่ามันได้มิตรภาพที่ดี ยังเป็นเพื่อนที่พร้อมจะช่วยเหลือกัน สื่อสารกันทางไลน์ เหมือนคนปกติทั่วไป

“เมื่อเราอยู่ในสังคมมีความแตกต่างหลากหลาย อาจเจอคนพิการทางการได้ยิน ถ้าใช้ภาษามือไม่ได้ก็ใช้การเขียนแทน ทำให้คนหูหนวกอยู่ด้วยกันมีความสุข” เบล่า สื่อสารในสิ่งที่อยากบอกกับสังคม

น.ส.วิมลศรี จินดานุ (เบล่า) และน.ส.ปิยธิดา สวันตรัจฉ์ (เมย์)

ส่วน น.ส.ปิยธิดา สวันตรัจฉ์ (เมย์) อาสาสมัครเพื่อนช่วยเรียน บัดดี้ของเบล่า ก็รู้สึกไม่ต่างกับ เมย์ เขาเล่าให้ฟังว่า พอได้ยินโครงการนี้ สิ่งแรกที่คิด คือ ต้องการช่วยเหลือคนหูหนวก เพราเชื่อว่า คนพิการน่าสงสาร คนพิการต้องการความช่วยเหลือแต่พอได้มาเรียนด้วยกัน รู้จักกันมากขึ้น ทำให้เราได้เรียนรู้ว่า ผู้พิการไม่ได้ต้องการความสงสาร แต่ต้องการให้ปฏิบัติกับเขาเหมือนกับคนทั่วไป เพราะบางครั้งความหวังดีอาจทำให้เขารู้สึกแย่ จะช่วยเขาเท่าที่เขาอยากให้ช่วยดีกว่า

“ยอมรับว่าแรกๆ ยากมาก เพราะต้องสื่อสารภาษามือ ซึ่งเบลล่าจะถามตลอด แม้จะย้ำคำตอบไปหลายครั้ง แต่ก็ค่อยๆ ปรับตัว จนคุ้นชินทำให้เรียนสนุกกันมากขึ้น วันสุดท้ายได้มานั่งเปิดใจคุยกัน โดยมีล่ามภาษามือแปล ทำให้เราเข้าใจเบล่ามากขึ้น และที่ประทับใจได้มีโอกาสไปกินเนื้อย่างด้วยกันกับพี่ๆ คุยภาษามือกันอย่างสนุกสนาน ทำให้เราได้เห็นความสวยงามของโลกคนพิการทางการได้ยินที่สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุขบนพื้นฐานความแตกต่าง ” เมย์ สะท้อนความรู้สึก

“เรียนด้วยกัน” โลกการเรียนรู้ไร้เสียงรูปแบบใหม่ของผู้พิการทางการได้ยิน อีกหนึ่งนวัตกรรมสร้างสรรค์ที่ก้าวข้ามความพิการ สะท้อนความเท่าเทียม ที่ทุกคนมีศักดิ์ศรี มีความสามารถ และมีศักยภาพที่จะเรียนรู้เท่ากัน สสส. พร้อมสนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมทางเลือก นวัตกรรม และการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เพื่อให้คนพิการมีสุขภาวะที่ดี ทั้งมิติกาย จิต ปัญญา และเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่มีศักดิ์ศรีทัดเทียมกับคนทั่วไป