จากความสำเร็จของโครงการเชฟชุมชนเพื่อท่องเที่ยวไทยอย่างยั่งยืนในปี 2561 โดยความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชน กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ จีซี ที่ได้ร่วมกันตอกย้ำนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหาร ที่มุ่งส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารให้กับประเทศไทย
วันนี้ 30 ร้านเชฟชุมชนทุกภาคทั่วประเทศไทย ตั้งแต่เชียงแสนไปจนถึงเบตงได้จัดตั้งสำเร็จแล้วโดยพลังจากชุมชน และการฝึกอบรมของเหล่าเซเลบริตี้เชฟจิตอาสา และองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) ที่ได้ร่วมเป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำระบบการพัฒนาชุมชนอย่างใกล้ชิดกับ บริษัท เทสท์อิงค์ เอเชีย จำกัด และ โรงเรียนการอาหารไทย เอ็มเอสซี ในฐานะผู้บริหารงานโครงการ
ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้อำนวยการฝ่ายสินค้าการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ปัจจุบัน งบการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวของชาวต่างชาติ 1 ใน 3 เป็นการใช้จ่ายด้านอาหารการกิน ซึ่งวันนี้จากการพัฒนาโครงการเชฟชุมชนเพื่อท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ได้คัดเลือก 30 ชุมชน จาก 25 จังหวัด สร้างเส้นทางการท่องเที่ยวเชื่อมโยงวัฒนธรรมการกินกับแหล่งท่องเที่ยว หรือ Food Trip เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับนักท่องเที่ยว และสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้ชุมชน
นอกจากชุมชนเหล่านี้จะได้องค์ความรู้ในการประกอบอาหารไทยและธุรกิจร้านอาหารในชุมชนแล้ว ยังได้เครือข่ายชุมชนจากทุกภาคทั่วประเทศไทยเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และสร้างการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวในชุมชนระหว่างกัน จนได้จัดตั้งร้านอาหารเชฟชุมชนและร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่คงเอกลักษณ์และวิถีชุมชน ซึ่งตั้งอยู่ทั้งในเมืองหลักและเมืองรองทั่วประเทศไทย อันจะก่อให้เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชน และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยพร้อมให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวแล้ววันนี้พร้อมกันทั่วประเทศ
30 เส้นทางท่องเที่ยวเชฟชุมชนเชฟชุมพล แจ้งไพร ผู้อำนวยการโรงเรียนการอาหารไทย เอ็มเอสซี ในฐานะผู้บริหารงานโครงการ กล่าวว่า “Local Chef Journey” หรือเส้นทางท่องเที่ยวเชฟชุมชนทั่วประเทศ ได้ถูกออกแบบขึ้นมาโดยชุมชนและพันธมิตรทุกภาคส่วน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเดินทางมาส่วนตัวหรือเดินทางมาเป็นหมู่คณะ โดยใช้ “อาหาร” เป็นแกนกลางในการดึงดูด และมีร้านเชฟชุมชนเป็นศูนย์กลางสำหรับต้อนรับนักท่องเที่ยว Local Chef Journey หรือเส้นทางท่องเที่ยวเชฟชุมชน จะทั้งสามารถให้บริการทั้งเมนูอาหารถิ่น และเมนู Amazing Thai Taste ซึ่งเป็นเมนูที่นักท่องเที่ยวโดยทั่วไปคุ้นชิน รวมถึงจะมีการให้บริการ “คลาสสอนทำอาหาร” หรือ cooking Class เมนูอาหารถิ่นให้กับนักท่องเที่ยวที่สนใจ
เส้นทางท่องเที่ยวเชฟชุมชนแต่ละเส้นทางจะเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัส การเล่าเรื่องราววิถึชีวิต และประวัติศาสตร์ รวมถึงวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่นผ่าน “อาหาร” และ “คลาสสอนทำอาหาร” โดยชุมชนนั้นๆ
เชฟอังคณา พิพัฒน์สุขกุล เชฟชุมชนอ่าวน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้เปิดโฮมสเตย์ชุมชน แต่ไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากนัก หลังจากเข้าโครงการเชฟชุมชน พัฒนาเมนูอาหารจากวัตถุดิบในท้องถิ่น ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจโฮมสเตย์ในหมู่บ้าน เริ่มจากมีรายได้ 2,000 บาทในวันแรกที่เปิดให้บริการ ปัจจุบันมีรายได้หลักหมื่นบาทต่อวัน และยังสามารถจัดสรรเมนูเป็นอาหารชุดเพื่อให้บริการแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมทั้งยังเปิดสอนการทำอาหารพื้นฐาน สร้างประสบการณ์ใหม่ให้นักท่องเที่ยวได้ด้วย
เชฟสมยศ ปาทาน เชฟชุมชนเมืองเก่าภูเก็ต กล่าวว่า ภูเก็ตเป็นเมืองที่มีแหล่งท่องเที่ยวหลากหลาย ตั้งแต่ระดับบน จนถึงระดับล่าง ซึ่งการนำวัฒนธรรมอาหารเข้ามาช่วยสร้างเรื่องราวของเมืองภูเก็ตได้ในแง่มุมที่น่าสนใจมากขึ้น เชื่อมระหว่างวัฒนธรรมเมืองเก่ากับอาหารการกิน อาทิ บะหมี่ผัดฮกเกี้ยน ให้นักท่องเที่ยวได้ทดลองทำ เป็นการลดความเหลื่อมล้ำในเมืองภูเก็ต และเปิดรับนักท่องเที่ยวได้หลากหลายกลุ่มมากขึ้น
เชฟชุมพล กล่าวว่า นี่เป็นเพียงตัวอย่างความสำเร็จของเชฟชุมชน ซึ่งในปีงบประมาณ 2563 จะดำเนินการต่อยอดโครงการไปสู่ 60 ชุมชนทั่วประเทศ พัฒนาเป็นเครือข่ายเชฟชุมชน พัฒนาการท่องเที่ยวในเชิงสร้างองค์ความรู้ ทั้งวัฒนธรรมการทำอาหาร การทอผ้า ถือเป็นการขับเคลื่อนชุมชน สร้างมูลค่าเพิ่มผ่านอาหาร ใช้อาหารเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงทุกชนชั้น
“ไม่ว่ายากดีมีจนทุกคนก็ต้องกิน เราใช้อาหารเป็นตัวศูนย์กลางในการเชื่อมโยงทุกอย่าง เป็นโมเดลธุรกิจที่ผสานเรื่องแหล่งท่องเที่ยว การเกษตร เพราะการทำอาหารต้องใช้วัตถุดิบทางการเกษตร ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจทั้งระบบ และช่วยให้ชุมชนเติบโตอย่างยั่งยืน” เชฟชุมพลกล่าวทิ้งท้าย
ติดตามรายละเอียดทาง www.localchefthailand.com / www.facebook.com/localchefthailand