SACICT  ชวนคนไทยท่องเที่ยวกระจายรายได้ให้ชุมชน

22

เอกลักษณ์เฉพาะถิ่นของชุมชนในประเทศไทย เป็นเสน่ห์ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยเรื่องราวที่น่าสนใจ ชวนให้เข้าไปค้นหา การท่องเที่ยวในชุมชนต่างๆ ยังสร้างโอกาสในการพัฒนาอาชีพและส่งเสริมรายได้ให้กับคนในแต่ละชุมชน โดยเฉพาะชุมชนที่มีผลงานหัตถกรรมอันโดดเด่น

นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ เป็นประธานเปิด ชุมชนหัตถกรรมปี 2562 ร่วมกับ นายภาษเดช หงส์ลดารมภ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ณ วัดท่าข้ามศรีดอนชัย บ้านศรีดอนชัย อ.เชียงของ จ.เชียงราย สำหรับชุมชนหัตถกรรมเป็นโครงการของศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT ที่มุ่งการส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาจากชุมชนที่มีครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตกรรม ให้เป็นแหล่งเรียนรู้งานหัตถกรรมที่มีคุณภาพ ขยายให้เกิดการรวมกลุ่มของคนในชุมชนที่มีองค์ความรู้ภูมิปัญญางานหัตถกรรมได้ร่วมมือร่วมใจอนุรักษ์ สืบสานทักษะ และฝีมือเชิงช่างอันเป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่น

ชุมชนหัตถกรรมยังเป็นแหล่งเรียนรู้งานหัตถกรรม ผนวกกับการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ โดยใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือดึงดูดผู้สนใจ ผู้ประกอบการ จนถึงกลุ่มผู้บริโภคที่รักและหลงใหลในงานศิลปหัตถกรรมเข้ามาสู่ชุมชน พร้อมกันนี้ยังเป็นส่วนสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับองค์ประกอบต่างๆ ของชุมชน ตั้งแต่ ผลิตภัณฑ์ วัตถุดิบ การบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว อาทิ ที่พัก ร้านอาหาร แหล่งเรียนรู้ชุมชน รวมถึงศิลปวัฒนธรรม ชีวิตความเป็นอยู่อันเป็นอัตลักษณ์ที่งดงามของชุมชน

ในส่วนของชุมชนหัตถกรรมปี 2562 นี้ SACICT ได้ขยายชุมชนหัตถกรรมเพิ่มขึ้น 13 ชุมชน ทำให้ขณะนี้มีชุมชนหัตถกรรมภายใต้การส่งเสริมสนับสนุนของ SACICT รวมทั้งสิ้น 37 ชุมชนทั่วประเทศ ซึ่งแต่ละแห่งมีความโดดเด่นแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ทางวัฒนธรรม วิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่มีความหลากหลาย รวมถึงการท่องเที่ยวเชิงเกษตร แต่จุดเด่นของชุมชนหัตถกรรมทุกแห่งที่นักท่องเที่ยวพลาดไม่ได้คือการสัมผัสและได้เรียนรู้ ทดลองทำงานศิลปหัตถกรรมอย่างใกล้ชิด  เป็นแหล่งเรียนรู้งานหัตถศิลป์ผ่านการท่องเที่ยววิถีชุมชนและอัตลักษณ์ของชุมชนโดยรอบ เพื่อให้งานหัตถศิลป์เป็นเครื่องมือสร้างรายได้ผนวกกับการท่องเที่ยวนอกเหนือจากอาชีพหลัก เกิดการกระจายรายได้สามารถพึ่งพาตนเองได้ สร้างงานสร้างอาชีพ ลดความเหลื่อมล้ำยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างความอยู่ดีกินดี เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้เศรษฐกิจฐานรากเกิดการพัฒนางานศิลปหัตถกรรมที่ยั่งยืน