โซเดียมในไส้กรอกมาจากไหน เลือกบริโภคอย่างไร?ให้ปลอดภัย

40
ภาพโดย congerdesign จาก Pixabay

ไส้กรอกยี่ห้อนี้เค็มมาก ยี่ห้อนี้เค็มน้อย ยี่ห้อนี้ รสชาติกำลังอร่อย เรามักจะได้ยินผู้ที่รับประทานไส้กรอก พูดถึงความเค็มของไส้กรอกและอันตรายจากความเค็มหรืออันตรายจากโซเดียม ความเค็มในไส้กรอกมาจากไหน ทำไมต้องเค็ม ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภคหรือไม่

ผศ.ดร.อินทาวุธ สรรพวรสถิตย์

อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหาร คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรองคณบดี สำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะมาช่วยไขข้อสงสัยในประเด็นดังกล่าว

ความเค็มในไส้กรอก มักจะมาจากเกลือแกงหรือโซเดียมคลอไรด์ (Sodium Chloride, NaCl) ซึ่งต้องเติมตามความจำเป็นในสูตรการผลิตไส้กรอก คนส่วนใหญ่อาจจะเข้าใจว่าใส่เกลือแกงลงในไส้กรอก เพื่อเพิ่มรส
ชาติให้ไส้กรอกมีความเค็ม แต่จริง ๆ แล้ว นอกจากความเค็ม ยังมีความจำเป็นอย่างมากในเรื่องการขึ้นรูปของไส้กรอก

ถ้าสังเกตจากเนื้อของไส้กรอก จะเห็นว่าเนื้อมีความเรียบเนียน ไม่เหมือนกับเนื้อของหมูสับที่มีขายตามท้องตลาดหรือที่สับเองตามบ้าน เนื่องจากเกลือทำหน้าที่ช่วยสกัดโปรตีนที่ละลายได้ในเกลือ (salt-soluble protein)โปรตีนเหล่านี้เป็นโปรตีนสายยาว สามารถทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างเนื้อส่วนที่ถูกแยกออกจากกัน เนื่องจากการบดลดขนาดหรือการสับผสม นอกจากนี้ ยังทำหน้าที่ในการห่อหุ้มเม็ดไขมัน
ที่อยู่ในส่วนผสมของไส้กรอก หากสกัดโปรตีนกลุ่มนี้ออกมาได้ไม่มากพอ จะทำให้ไม่สามารถห่อหุ้มเม็ดไขมันได้ทั่วถึง ส่งผลให้เม็ดไขมันดังกล่าว เข้ามารวมตัวกัน เมื่อถูกความร้อนและเกิดเป็นกลุ่มก้อนของไขมันในไส้กรอก หรือ
อาจจะไม่รวมตัวเป็นเนื้อเดียวกัน และมีไขมันแยกตัวออกมาจากเนื้อไส้กรอก เห็นได้ว่าหากไม่มีเกลือแกงที่เติมลงไปให้มีปริมาณที่เพียงพอ ก็จะไม่สามารถผลิตออกมาเป็นไส้กรอกที่มีคุณภาพดีได้

จากที่กล่าวข้างต้น จะเห็นว่าไส้กรอกจะมีคุณภาพดี ปัจจัยหนึ่งที่มีผล คือ ปริมาณเกลือแกง หากใส่มากก็จะสกัดโปรตีนที่ละลายได้ในเกลือมากขึ้น แต่ผลกระทบที่เกิดกับผู้บริโภค ก็คือปริมาณโซเดียมที่ร่างกายได้รับ

อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลก (WHO)แนะนำว่าปริมาณโซเดียมที่เหมาะสมต่อร่างกาย คือ 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งเทียบเท่ากับเกลือ 1 ช้อนชา หากบริโภคมากเป็นระยะเวลานาน ๆ จะมีผลเสียต่อร่างกาย เมื่อพิจารณาปริมาณ
โซเดียมที่อยู่ในไส้กรอกซึ่งเกิดจากเกลือแกง ถือว่ามีปริมาณน้อยเมื่อเทียบกับน้ำหนักไส้กรอกที่รับประทานต่อมื้อ แต่หากบริโภคในปริมาณมากในมื้อเดียวหรือต่อเนื่อง ก็อาจจะมีโอกาสได้รับโซเดียมสูงเกินกว่าที่ร่างกายต้องการต่อวัน

นอกจากเกลือแกงแล้ว ในสูตรการผลิตไส้กรอกจะมีการเติมเกลือของไนไตรท์หรือไนเตรท เกลือของแอสคอร์เบทหรืออิริทธอเบท เพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆกัน แต่ปริมาณการใส่น้อยมาก เนื่องจากมีกฎหมายกำหนด เช่น จากประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องข้อกำหนดการใช้วัตถุเจือปนอาหาร กำหนดให้ใส่โซเดียมไนไตรท์ในไส้กรอกได้ไม่เกิน 125 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมผลิตภัณฑ์ ซึ่งถือว่ามีปริมาณโซเดียมน้อยกว่าที่เติมเกลือแกงลงไปค่อนข้างมาก จึงค่อนข้างจะมั่นใจได้ว่าสารกลุ่มนี้ไม่ใช่ตัวหลักที่จะเพิ่มปริมาณโซเดียมในไส้กรอก

จะเห็นได้ว่า การเลือกบริโภคไส้กรอกอย่างเหมาะสม นั่นคือ เลือกบริโภคในปริมาณไม่มากจนเกินไป และรับประทานอาหารชนิดต่างๆให้หลากหลาย เลือกรับประทานไส้กรอกจากบริษัทผู้ผลิตที่มีมาตรฐานและมีการควบคุมการผลิตที่ดี
เพื่อให้มั่นใจได้ว่าบริโภคไส้กรอกที่มีคุณภาพและปลอดภัย