สสส. ขยายผลงานอุบัติเหตุ สร้างความปลอดภัยทางถนนและภาคีเครือข่าย โดยให้การสนับสนุน จัดเวทีระดับภาค ซึ่งมีเป้าหมายในการหนุนเสริมศักยภาพนักเรียนนักศึกษาเพื่อเอาชนะภัยท้องถนน ด้วยการดึง 5 ภาคีหลักร่วมเวที เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ตรงในการทำงานด้านลดอุบัติเหตุและทำหน้าที่เป็นพ่อสื่อแม่ชัก ดึงผู้บริหารโรงเรียนและสถานศึกษาอาชีวะที่มีความพร้อม ร่วมสร้างความปลอดภัยทางถนน
นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และนายสัตวแพทย์ปกรณ์ สุวรรณประภา ผู้บุกเบิกการจัดเวทีระดมจิตใจ ประธานมูลนิธิคนเห็นคน จัดเวทีระดับภาคและทำสัญญา โครงการThailand Big Move : Road Safety เฟส 2 หนุนเสริมศักยภาพนักเรียนนักศึกษาเพื่อเอาชนะภัยท้องถนน ที่ จ.นครศรีธรรมราช โดยดึง 5 ภาคีหลัก ได้แก่ ภาคประชาสังคม รัฐ วิชาการ ท้องถิ่น และ เอกชน มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ หารือแนวทางร่วมสร้างกระบวนการความปลอดภัยทางถนน โดยการขยายผล ดึงผู้บริหารโรงเรียนและสถานศึกษาอาชีวะแต่ละแห่งเข้ามามีส่วนร่วมสร้างความปลอดภัยทางถนน และ หนุนเสริมศักยภาพนักเรียนนักศึกษา เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตและเอาชนะภัยท้องถนนอย่างยั่งยืน โดยนำร่อง พื้นที่ 8 จังหวัดภาคใต้
“ ในช่วงแรกของ สสส. เราพยายามที่จะให้หน่วยงาน ทุกหน่วยงานเห็นความสำคัญของเรื่องนี้และลุกขึ้นมาเป็นเจ้าภาพ ลุกขึ้นมาเป็นเจ้าของ และ ร่วมกันทำงาน ซึ่งหลังการดำเนินงานที่ผ่านมา ตอนนี้ในส่วนกลางเราค่อนข้างที่จะประสบความสำเร็จ หลายหน่วยงานถือว่าเป็นภารกิจหลักไปแล้ว ทีนี้สิ่งสำคัญที่เราต้องทำต่อ คือทำอย่างไรให้ลงไปในระดับอำเภอและตำบลให้ได้เป็นความพยายามที่เราจะต้องขยายเครือข่ายเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตอนนี้ ซึ่งเราจะขยายเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย โดยมุ่งมาที่กลุ่มสำคัญ คือ กลุ่มนักเรียนที่โรงเรียนและสถานศึกษาอาชีวะ ซึ่งเราพบว่ามีอัตราการใช้มอเตอร์ไซค์ค่อนข้างสูงและเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนมากที่สุด ” ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม กล่าว
นายสัตวแพทย์ ปกรณ์ กล่าวว่า กลุ่มสำคัญของอัตราการเสียชีวิต อยู่ที่ ผู้ใช้รถมอเตอร์ไซค์ ซึ่งส่วนใหญ่ คือกลุ่มของวัยรุ่น ดังนั้นการดึงสถาบันการศึกษาให้เข้ามามีส่วนร่วม ดำเนินการขับเคลื่อนงานอุบัติเหตุ จะช่วยขยายผลทำให้การแก้ไขด้านอุบัติเหตุมีประสิทธิภาพ เด็กวัยรุ่น ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง จะมีพฤติกรรม วินัย การขับขี่ที่ปลอดภัย ร่วมเฝ้าระวังในการขับขี่ปลอดภัย โดยตั้งเป้าการมีส่วนร่วมของแต่ละจังหวัดไม่ต่ำ กว่า 10 สถาบัน
“ ในเฟส 2 นี้ เราจะให้ทาง 5 ภาคี เปรียบเป็นเพศชาย แล้วทางโรงเรียนและสถานศึกษาอาชีวะเป็นเพศหญิง ภาคีเครือข่ายและแกนนำขับเคลื่อนงานอุบัติเหตุในพื้นที่จะทำเป็นพ่อสื่อแม่ชัก หมายความว่านอกเหนือจากดึงภาคีต่างๆมาเพิ่มเติมแล้ว ทางแกนนำ ก็ไปจับไม้จูงมือกับผู้อำนวยการโรงเรียนที่พร้อม ที่จะทำงานอุบัติเหตุ โดยเราจะใช้หลักบัว 4 เหล่าในการทำงาน นั่นคือ เอาคนที่พร้อมบัวที่พ้นน้ำมาทำ และเมื่อเราทำให้ศูนย์ถนนที่เป็น 5 ภาคี กับทางโรงเรียนและสถานศึกษาอาชีวะที่เป็นเพศหญิง ได้มาเจอกัน ได้มารักกัน แล้วจากนั้น
ทางโรงเรียนและสถานศึกษาอาชีวะ ก็จะออกมาร่วมทำกิจกรรมลดอุบัติเหตุ และ ไปปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเด็กให้มีพฤติกรรมที่เหมาะสมในการใช้รถใช้ถนนเพิ่มมากขึ้น ตามสไตล์ของเขา” ประธานมูลนิธิคนเห็นคน กล่าว
ความปลอดภัยในชีวิตเป็นพื้นฐานสำคัญที่หลายฝ่ายต่างพยายามรณรงค์ ให้ความรู้ และ สร้างความเข้าใจ เพื่อให้ทุกคนเกิดความตระหนักในเรื่องของอุบัติเหตุบนท้องถนนมากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับ สสส. และ ภาคีเครือข่าย ที่ให้ความสำคัญ พยายามเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาความปลอดภัยทางถนนอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ล่าสุด สสส. ได้การขับเคลื่อนงานอุบัติเหตุ ด้วยการดึงโรงเรียนและสถาบันศึกษาอาชีวะที่มีความพร้อม ให้เข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถช่วยขยายผลทำให้การแก้ไขงานด้านอุบัติเหตุมีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตามคาดว่า ภายในปีนี้ จะมีโรงเรียนและสถานศึกษาอาชีวะ ในแต่ละจังหวัดจำนวนมาก ลุกขึ้นมาแก้ไขจุดเสี่ยง ร่วมสร้างกระบวนการความปลอดภัย เพื่อเอาชนะภัยท้องถนนอย่างยั่งยืน