“คางทูม” มีวัคซันป้องกันได้ แต่เมืองไทยยังพบผู้ป่วย  

46
ภาพโดย Angelo Esslinger จาก Pixabay

โรคคางทูมเกิดจากเชื้อไวรัส เป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจและการสัมผัสน้ำลายของผู้ป่วย อาการของโรคเริ่มจากมีไข้ต่ำๆ ปวดเมื่อยตามตัว หลังจากนั้น จะมีอาการเจ็บบริเวณหน้าหูและขากรรไกร และมีต่อมน้ำลายข้างกกหูโตขึ้น แม้ว่าจะเป็นโรคที่แทบจะไม่ค่อยได้ยินสักเท่าไหร่แล้ว เนื่องจากมีวัคซีนป้องกัน แต่ในประเทศไทยยังมีผู้ป่วยโรคคางทูมอยู่ไม่น้อย โดยพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพรายสัปดาห์ (วันที่ 4 – 10 ส.ค. 62) ได้มีรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์โรคคางทูมในประเทศไทย ออกมาเผยแพร่

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคคางทูมในประเทศไทย ปี 2562 (ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-27 ก.ค. 62) พบผู้ป่วยคางทูมแล้ว 1,466 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากสุดคือกลุ่มอายุ 15-24 ปี และพบมากในกลุ่มนักเรียนร้อยละ 39.6 จังหวัดที่พบผู้ป่วยสูงสุด 5 ลำดับแรก คือ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ภูเก็ต และแม่ฮ่องสอน ในสัปดาห์ที่ผ่านมา จากการตรวจสอบข่าวการระบาดจากฐานข้อมูลเฝ้าระวังเหตุการณ์ พบรายงานการระบาดของโรคคางทูมเป็นกลุ่มก้อน จำนวน 2 เหตุการณ์ คือ ในค่ายทหาร และในโรงเรียน”

การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์ คาดว่าในช่วงนี้อาจพบผู้ป่วยโรคคางทูมเป็นกลุ่มก้อนได้ โดยเฉพาะในสถานที่มีคนอยู่อาศัยรวมกันหนาแน่น และพื้นที่ที่มีความครอบคลุมของการฉีดวัคซีนป้องกันโรคที่ต่ำ โรคคางทูมเกิดจากเชื้อไวรัส เป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจและการสัมผัสน้ำลายของผู้ป่วย อาการของโรคเริ่มจากมีไข้ต่ำๆ ปวดเมื่อยตามตัว หลังจากนั้น จะมีอาการเจ็บบริเวณหน้าหูและขากรรไกร และมีต่อมน้ำลายข้างกกหูโตขึ้น มีอาการเจ็บบริเวณแก้มและหู การรักษาเป็นการรักษาตามอาการ ควรมีการแยกผู้ป่วยประมาณ 10 วันหลังจากเริ่มมีต่อมน้ำลายโต และควรหยุดไปโรงเรียนหรือหยุดงานเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น  กรมควบคุมโรค ขอแนะนำประชาชนว่า วิธีป้องกันโรคคางทูมที่มีประสิทธิภาพ คือการฉีดวัคซีนป้องกันโรค โดยเป็นรูปแบบวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน (MMR) ในเด็กเล็กควรรับวัคซีนป้องกันโรค 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อเด็กอายุ 9-12 เดือน และให้ซ้ำอีกครั้งเมื่ออายุ 2 ปี 6 เดือน สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422