“เบื่อจัง” “เหงามากเลย” “อยู่บ้านไม่มีอะไรให้ทำเลย” “อยู่ลำพังตามประสาคนแก่” … อย่าปล่อยให้เสียงเหล่านี้ต้องถูกบอกเล่าออกมาจากปากของผู้สูงวัยแบบซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทุกวันนี้โลกกำลังขับเคลื่อนไปสู่สังคมผู้สูงอายุ นี่อาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงความผิดปกติของสภาวะร่างกายและจิตใจที่จะนำไปสู่ทั้งความรู้สึกโดดเดี่ยว ภาวะซึมเศร้า ความเครียด ฯลฯ
ในความเป็นจริงแล้วผู้คนในวัยนี้ยังคงเป็นช่วงอายุที่ยังคงมีไฟ มีกิจกรรมหรือสิ่งที่อยากทำไม่แพ้วัยรุ่นและวัยทำงาน และการอยู่เฉยๆหรือนอนพักผ่อนอยู่บ้านก็ไม่ใช่สิ่งที่ตอบโจทย์ความต้องการชีวิตวัยเกษียณได้เหมือนเดิมอีกต่อไป สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA ) ขอแนะนำ 5 กิจกรรมสำหรับวัยเก๋า ที่อาจสร้างรายได้เป็นอาชีพเสริมได้อีกทางหนึ่งด้วย
1. เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์และห้องสมุด เพราะการเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด และไม่ถูกจำกัดด้วยอายุ สถานที่ที่ผู้สูงอายุสามารถเข้าไปเรียนรู้ได้นั้นมีหลากหลาย อาทิ พิพิธภัณฑ์ศิลปะ โบราณคดี มรดกโลก พิพิธภัณฑ์มีชีวิต หรือแม้แต่การไปห้องสมุดอ่านหนังสือก็ถือว่าเป็นกิจกรรมที่เหมาะสม ที่ผ่านมาพบว่าผู้สูงอายุส่วนมากมักจะเกิดภาวะ “ความจำเสื่อม หรือ อัลไซเมอร์” ดังนั้นการกระตุ้นสิ่งใหม่ๆ หรือการกระตุ้นการคิด การอ่าน เพียงวันละ 30 นาที 4-5 ครั้งต่อสัปดาห์จะเป็นการกระตุ้นให้สมองได้ทำงานมากยิ่งขึ้น ช่วยลดภาวะการเกิดอัลไซเมอร์ได้เป็นอย่างดี
2. เป็นอาสาสมัคร ปัจจุบันมีผู้สูงอายุที่เกษียณและมีความรู้ติดตัวมาในด้านต่างๆที่หลากหลาย โดยการเป็นอาสาสมัครจะช่วยให้ผู้สูงอายุได้ใช้ความรู้ความสามารถที่ถนัดและเชี่ยวชาญ อีกทั้งยังถือว่าเป็นอีกกิจกรรมที่จะสร้างประโยชน์แก่ตนเองและคนอื่นๆ ได้อีก ไม่ว่าจะเป็นวิทยากรด้านวิชาการ อบรม การสอนทำอาหาร เย็บปักถักร้อย งานฝีมือต่างๆ ข้อดีของการเป็นอาสาสมัครนั้นจะทำให้ผู้สูงอายุเห็นคุณค่าในตัวเองมากขึ้นและนำความรู้ที่มีอยู่ไปต่อยอดให้คนรุ่นหลังได้
3. ฝึกเล่นโซเชียลและอินเตอร์เน็ต เป็นช่องทางที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุได้ใช้เวลาให้เกิดประโยชน์และรู้ช่องทางการติดต่อสื่อสารใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นการฝึกใช้แอปพลิเคชั่นไลน์(LINE) เฟซบุ๊ก(FACEBOOK) หรือยูทูบ(YOUTUBE) นอกจากนี้ การเรียนรู้วิธีใช้โซเชียลและอินเตอร์เน็ตยังเป็นอีกกิจกรรมที่สามารถเรียนรู้กันได้ง่ายๆ โดยการสอนของลูกหลาน หรือโรงเรียนสอนผู้สูงอายุที่มีระยะเวลาการเรียนสั้นๆ นอกจากจะทำให้ผู้สูงอายุรู้เท่าทันโลกโซเชียลแล้ว การใช้อินเตอร์เน็ตยังเป็นกิจกรรมคลายเหงา และเป็นการหาความสุขได้ง่ายๆ ด้วยตนเองโดยที่ไม่รบกวนผู้อื่น
4. การทำอาชีพเสริม แม้หลายคนจะมองว่าผู้สูงวัยเมื่อถึงวัยเกษียณจะต้องหยุดทำงานและพักผ่อนอยู่บ้าน แต่ในความเป็นจริงแล้วผู้ที่เข้าวัย 60+ ยังคงมีประสิทธิภาพในการทำงานที่หลากหลาย รวมทั้งยังคงมีศักยภาพทางด้านร่างกาย จิตใจ และสติปัญญาที่ดีเยี่ยม สำหรับการทำอาชีพเสริมในกลุ่มผู้สูงวัยนั้นสามารถทำได้ทั้งงานที่แต่ละบุคคลถนัดอยู่เป็นทุนเดิม เช่น การเป็นติวเตอร์ การดูแลเด็ก การเป็นที่ปรึกษา การอาศัยความสนใจส่วนตัวหรือความสามารถพิเศษ เช่น การค้าขายอาหาร การทำเบเกอรี่ การเลี้ยงสัตว์ หรือเป็นไกด์นำเที่ยวท้องถิ่น
5. การเข้าร่วมอบรมเวิร์คช็อป การเข้าโครงการอบรม หรือเรียนฝึกอาชีพในระยะสั้น ๆ ถือเป็นข้อดีที่จะทำให้ผู้สูงอายุได้เปิดโลกการปฏิบัติตนหรือแนวทางการทำอาชีพใหม่ๆ โดยใช้ระยะเวลาที่ไม่นานมากนัก ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวมีให้เลือกอย่างหลากหลายทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน เช่น “โครงการ 60+ ค้าออนไลน์ ขายทั่วโลก” ที่จัดขึ้นโดยสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) นับเป็นโครงการแรกที่ช่วยให้ผู้ประกอบการวัย 60+ ได้เรียนรู้เรื่องการค้าขายออนไลน์ครบวงจร
นายนันทพงษ์ จิระเลิศพงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่(NEA) กล่าวว่า จากโครงสร้างประชากรโลกที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ส่งผลให้กลุ่มดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งในส่วนของประเทศไทยพบว่าในปัจจุบันมีประชากรผู้สูงอายุมากถึงร้อยละ 10.5 ในปี 2564 คาดว่าจะมีประชากรผู้สูงอายุมากถึงร้อยละ 20 ของประเทศ ด้วยเหตุนี้ สถาบันผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ จึงได้เล็งเห็นถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิต และการสร้างมูลค่าเศรษฐกิจด้วยการทำการค้าออนไลน์ให้กับกลุ่มสูงวัยด้วยโครงการ “60+ ค้าออนไลน์ ขายทั่วโลก”
สำหรับหลักสูตรนี้ถือว่าเป็นหลักสูตรแรกที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการทีมีอายุตั้งแต่ 60 ขึ้นไปที่มีความสนใจด้านการค้าออนไลน์ มีสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่พร้อมส่งออก เข้ามาร่วมพัฒนาแนวคิดทั้งด้านการตลาด เทคนิคการทำธุรกิจใหม่ๆ การใช้โซเชียลมีเดีย การรู้จักรูปแบบธุรกิจคอมเมิร์ซ ซึ่งจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัย เพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจ ช่วยเพิ่มมูลค่าการส่งออกและการจ้างงานให้มีทิศทางที่ดีขึ้น
สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียดสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สายด่วน1169 หรือ nea.ditp.go.th และ facebook.com/nea.ditp