สพฉ.รับหน้าที่พี่เลี้ยง-ให้คำปรึกษา ข้อมูลทางการแพทย์ ผู้จัด นักเขียนบท

23

สพฉ. รับหน้าที่“พี่เลี้ยง”ข้อมูลทางการแพทย์ จัดเวทีอบรมความรู้ด้านการปฐมพยาบาลและการแพทย์ฉุกเฉิน“ผู้กำกับหนัง- ผู้จัดละคร- นักเขียนบท พร้อมเปิดเวทีฝึกปฏิบัติทำ CPR ใช้งานเครื่อง AED การช่วยคนถูกงูกัด และเรียนรู้ขั้นตอนก ารใช้งานสายฉุกเฉิน 1669 หวังภาพจำที่ถูกต้อง ให้กับประชาชน

สังคมไทยในปัจจุบันสื่อได้เข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในวิถีชีวิต โดยเฉพาะละคร ภาพยนตร์ หลายครั้งที่เนื้อหาสื่อแขนงนี้ ส่งผลต่อสังคมในวงกว้างและถูกนำมาลอกเลียนแบบ และสร้างภาพจำที่ผิดให้กับประชาชน เด็กเยาวชน โดยเฉพาะเนื้อหาสำคัญที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางแพทย์ การช่วยชีวิตฉุกเฉิน

สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ หรือ สพฉ. เล็งเห็นถึงประเด็นสำคัญในเรื่องดังกล่าวจัดเวทีอบรมความรู้ด้านการปฐมพยาบาลและการแพทย์ฉุกเฉินสำหรับผู้ผลิตสื่อโทรทัศน์ และภาพยนตร์ รวมทั้งการฝึกภาคปฎิบัติทำ CPR และการใช้งานเครื่อง AED หรือเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้า เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในการนำเสนอเรื่องราวการแพทย์ฉุกเฉิน

“สพฉ.” รับหน้าที่พี่เลี้ยง-ให้คำปรึกษา ข้อมูลทางการแพทย์ ผู้จัด นักเขียนบท ในขณะที่ นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ระบุว่า การจัดอบรมในครั้งนี้เรามุ่งหวังอยากให้ผู้ผลิตหนังหรือละครสอดแทรกแนวทางในการช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินที่ถูกต้อง เหมือนกับในต่างประเทศที่ที่มีการเสนอนำหมายเลขที่จะช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉิน หรือ 1669 เพื่อให้ประชาชนได้รับสื่อที่ถูกต้องและสามารถจดจำหมายเลขสายฉุกเฉิน 1669 เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินได้

โดยมีวิทยากรจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติได้ให้ความรู้กับผู้เข้าร่วมงานถึงการถ่ายทำฉากที่เกี่ยวกับการแพทย์ฉุกเฉินอย่างถูกต้องอาทิ การใช้เครื่องช็อตหัวใจ การใช้อุปกรณ์ในการผ่าตัด และผู้เข้าร่วมงานยังได้รับการอบรมการปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่ถูกต้องอาทิ การฝึกช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน cpr การใช้งานเครื่อง AED การช่วยคนจมน้ำ ช่วยคนเป็นโรคลมชัก งูกัด จมน้ำ และการใช้งานสายฉุกเฉิน 1669 อย่างถูกวิธีด้วย

นพ.ไพโรจน์ ระบุด้วยว่าการจัดกิจกรรมอบรมนับเป็นปีที่ 4 ที่ได้เชิญบุคคลากรทางด้านสื่อละครภาพยนต์มาร่วม ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างมาก และเป็นเรื่องที่น่ายินดี ที่ปัจจุบันเนื้อหาดีขึ้นมากว่าแต่ก่อน ซึ่งบทละครกรณีเจ็บป่วยอาจไม่มีที่ปรึกษาให้คำปรึกษา บางครั้งสิ่งที่เกิดขึ้นก็ไม่สมจริงแต่ในปัจจุบันผู้จัดละครให้ความสำคัญมากขึ้น สพฉ.เล็งเห็นความสำคัญของผู้จัดละคร เราได้มีการติดต่ออบรมอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อยที่สุดผู้จัดละครเองก็ได้เรียนรู้เรื่องทักษะการใช้ชีวิตด้วย ได้สอดแทรก วิธีการ ที่จะมีส่วนช่วยให้สังคมไทยได้ตระหนักถึงการช่วยเหลือผู้อื่นในกรณีฉุกเฉิน เพื่อช่วยเหลือคนข้างๆได้ในระหว่างที่ทีมกู้ชีพยังมาไม่ถึง หรือ ยังไม่ได้ไปถึงโรงพยาบาล

ในละครถึงจุดที่ต้องเรียกสายฉุกเฉินช่วยเรียก 1669 หรือการใช้เครื่องAED บทละครเหล่านั้นจะได้สอดแทรกข้อมูล ความรู้ หรือในฉากพูดคุยข้อมูล เช่น เรื่องหลอดเลือดสมองอุดตันเฉียบพลัน ควรให้ข้อมูลทางการแพทย์ใกล้เคียงกับทฤษฎีมากที่สุด ว่ามีเวลาเข้าถึงการรักษา 3 ถึง 4 ชั่วโมง หากยังไม่ถึงมือแพทย์จะเสียโอกาสในการรักษาทำให้คนไข้เป็นอัมพาตหรือเสียชีวิตได้ แต่ได้รับการรักษาทันท่วงทีก็มีโอกาสฟื้นคืนกลับมาได้ ซึ่งข้อมูลที่ถูกต้องทางการแพทย์ในลักษณะนี้เราคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะสอดแทรกลงไปในเนื้อหา อย่างน้อยที่สุดประชาชนได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง และเป็นการกระตุ้นให้คนเมื่อดูหนังแล้วได้สนใจ ที่จะช่วยชีวิตคนอื่น

“ สพฉ.ยินดีที่ให้คำช่วยเหลือแนะนำ ที่เป็นประโยชน์ ให้กับทางผู้จัดละคร คนเขียนบท เพราะในเรื่องทางการแพทย์คนทำงานอาจไม่มีพี่เลี้ยง ขณะเดียวกันก็เป็นการยกระดับเทียบหนังต่างประเทศ ที่มีลักษณะสมจริง มีเหตุมีผล เพื่อช่วยเหลือทางด้านข้อมูล ให้คำปรึกษา แนะนำข้อมูลทางการแพทย์ ในฉาก เนื้อหา ในการทำงาน หรือ เป็นผู้ประสานการพูดคุยเกี่ยวกับองค์กรแพทย์ต่างๆ เช่นแพทยสภา สพฉ.ยินดีที่จะเป็นพี่เลี้ยงตรงนี้ให้ เพื่อให้สามารถนำคำแนะนำ ความรู้ ข้อมูลที่ถูกต้องทางการแพทย์ สอดแทรกไปกับเนื้อหาหนังละคร สื่อที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ”
“ผู้กำกับ”ต้องล้างภาพจำผิด ป้อนความรู้ทางการแพทย์ที่ถูกต้องช่วยสังคม

อุ๋ย นนทรีย์ นิมิบุตร

อุ๋ย นนทรีย์ นิมิบุตร ผู้กำกับ และผู้อำนวยการสร้างภาพยนต์ชื่อดังของเมืองไทย หนึ่งในผู้เข้าร่วมอบรมครั้งนี้เล่าถึงการตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ว่า ตัวเองน่าจะมีสิ่งที่ผิดพลาด ที่ยังไม่ทราบอีกหลายๆอย่าง ในทางด้านการแพทย์ ซึ่งคิดว่าเราน่าจะทำสิ่งที่ถูกต้องเพื่อนำเสนอในมุมมองการแพทย์ ต่อประชาชน ต่อสังคมด้วย จะได้รับรู้ในสิ่งที่ถูกที่ควร โดยเฉพาะการช่วยเหลือคนที่ประสบอุบัติเหตุหรือมีโรคภัยในตัวแล้วเกิดเหตุขึ้น

“ผมคิดว่าในภาพยนตร์หรือในละครถ้าได้ทำสิ่งที่ถูกต้อง คิดว่าน่าจะประโยชน์พอสมควร และประโยชน์ตรงนี้เอาไปใช้ในวงกว้างได้ด้วย จะได้มีภาพจำที่ถูกต้อง ซึ่งในเวทีวิทยากรได้แนะนำหลายสิ่ง หลายอย่างเราไม่รู้และตัวเองก็ได้ทำอะไรผิดๆมาก่อน ได้ทราบว่าสิ่งที่ถูกต้องจะทำอย่างไรต้องขอขอบคุณเป็นอย่างมากและเชื่อว่าต่อจากนี้ไปจะทำในสิ่งที่ถูกต้องต่อไป ซึ่งมีหลายอย่างเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ มีภาพจำในใจของเรา หรือดูมากจากหนังเรื่องอื่นๆเช่น เรื่องคนจมน้ำ การช่วยคนจมน้ำที่ถูกต้องแท้จริงเป็นอย่างไร คนถูกงูกัด คนที่เป็นโรคหัวใจ ถ้าเราทำได้ถูกต้องทั้งหมด ภาพจำ คนดู คนเสพย์สื่อ เขาจะเปลี่ยน แม้กระทั่งเราเองก็ภาพในใจ ซึ่งอาจจะถูกในสมัยหนึ่งแต่วันนี้มันผิด วิวัฒนาการทางแพทย์มีความก้าวหน้าเป็นอย่างมากและเราควร ทำสิ่งที่ถูกต้องให้ข้อมูลให้กับ ความรู้ ในระดับหนึ่งในภาพยนตร์ของเรา พร้อมที่จะนำไปใช้ในชีวิตจริงได้”

ผู้กำกับชื่อดัง ยังได้ฝากไปยังผู้จัดที่อยู่ในแวดวงภาพยนตร์ละครด้วยว่า การให้ข้อมูลที่ถูกต้องเป็นเรื่องที่ดี ถ้าเราทำแบบความเข้าใจของเราในแบบเก่าอาจจะไม่ได้ผิดในยุคเดิม แต่ยุคสมัยนี้วิวัฒนาการทางการแพทย์มันเปลี่ยนไปแล้ว อยากให้ทุกคนได้ตระหนักถึงความสำคัญตรงนี้ ซึ่งวงการนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งในสังคมที่ให้ความรู้ที่ถูกต้องทางด้านแพทย์ได้ ถ้าร่วมมือมือร่วมใจ เพื่อให้ความเข้าใจหรือภาพเก่าๆที่ตนเองก็มี มันหายไป เราก็ควรต้องใส่ใจกับเรื่องนี้ให้มากขึ้น เพื่อให้คนดูได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง

“นักแสดง”ต้องแสวงหาความรู้ เล่นละครช่วยชีวิตคนเทคนิค วิธีการต้องแม่น
ขณะที่นักแสดงรุ่นใหม่อย่าง น้องเจ สุชาดา โตงาม นักแสดงจากสังกัดพีพีทีวี เอชดี 36 ที่กำลังจะมีละครพีเรียดเรื่องภริยา ออกอากาศในเร็วๆนี้ ระบุว่า เธอได้รับบทบาทเป็นพยาบาลในละครเรื่องดังกล่าว จึงต้องการมาเรียนรู้ในเรื่องเกี่ยวกับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่ถูกวิธี ทั้งนี้เพื่อที่จะได้รับความรู้เพิ่มมากขึ้น นำไปใช้ในการแสดงและในชีวิตประจำวัน

เธอยกตัวอย่างด้วยว่า เช่นความถูกต้องในเรื่องการปั๊มหัวใจ หรือ ในกรณีเคสจมน้ำ ที่ควรจะเป่าปากร่วมกับการปั๊มหัวใจ เรื่องดังกล่าวนี้เป็นประโยชน์ต่อการเป็นนักแสดงเป็นอย่างมาก และแม้ว่าเธอจะไม่ได้อยู่ในบทบาทนักแสดง แต่ก็ถือว่ายังเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น สมมติว่าเจอคนที่หมดสติไป หากเรามีพื้นฐานเราก็จะสามารถช่วยเหลือตรงนั้นได้ ช่วยยื้อเวลาชีวิตให้เขาได้ก่อนที่จะถึงแพทย์

น้องเจ ระบุด้วยว่า ในฐานะนักแสดงเธอคิดว่าการเรียนรู้เรื่องนี้ มีความจำเป็นมากๆ เพราะการแสดงของเราผ่านทางสื่อทำให้ประชาชน เด็กเยาวชนเห็นสิ่งที่เราแสดงเป็นจำนวนมาก เห็นทั้งวิธีการ เทคนิค แล้วจะจดจำ ถ้าเราทำผิด เขาก็จำวิธีที่ผิดไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตของคนอื่นได้

“อยากจะขอฝากไปยังเพื่อนๆนักแสดงด้วยกันว่า ถ้ามีโอกาสอยากจะแนะนำมาเรียนรู้ตรงนี้ไว้ นอกจากจะเป็นวิชาในการแสดงแล้วด้วย ก็ยังใช้ช่วยเหลือคนอื่น คนรัก หรือครอบครัวของเราเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินได้”

“ผู้จัดละคร” ถ่ายทอดเนื้อหา -เพิ่มบทเรียกรถฉุกเฉิน 1669
ด้านธนัญฌลี เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ผู้จัดการฝ่ายละครช่อง 8 ระบุว่า ที่ผ่านมาทางช่องทำละครหลายเรื่อง ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับพยาบาล หรือ เรื่องทางการแพทย์ ซึ่งยอมรับว่าเราทำมาผิดๆ เมื่อได้มาเรียนรู้ก็จะนำข้อมูลความรู้ตรงนี้ไปถ่ายทอดในสิ่งที่ถูกต้องต่อไป

เธอยกตัวอย่างฉากทางการแพทย์ในละครที่มีบ่อยๆ ในเรื่องการช็อตหัวใจ โดยในจอมอนิเตอร์คลื่นไฟฟ้าหัวใจในขณะช็อตจะไม่เป็นเส้นตรง ซึ่งเราเข้าใจผิดมาตลอดว่าเป็นเส้นตรงซึ่งไม่ถูกต้อง ขณะที่ในส่วนของข้อมูลเรื่องการช่วยเหลือฉุกเฉินในเบื้องต้น เช่น การเรียกรถพยาบาล สพฉ.1669 นั้น เพิ่งจะมีได้ไม่นาน เธอระบุว่าในเนื้อหาบทละคร ยังไม่ค่อยมีมากนัก แต่ต่อไปนี้จะนำไปใส่ในเนื้อหาบทละครเพิ่มมากขึ้น ในบทตัวละคร ในช่วงการช่วยชีวิตเรียกรถพยาบาลฉุกเฉิน เพื่อที่จะเป็นประโยชน์ให้ประชาชนทั่วไป เพราะส่วนใหญ่เขาจะจำจากละครที่ดู ซึ่งหลังจากนี้ถ้ามีฉากเกี่ยวกับ โรงพยาบาล การปฐมพยาบาล ก็จะไปดูในเนื้อหาบทและปรับให้เป็นจริงถูกต้องมากกว่าเดิม

“คิดว่าผู้จัดส่วนใหญ่ตระหนักถึงเรื่องสำคัญเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่เพราะเราเข้าถึงข้อมูลยาก ในความเป็นจริงแม้จะไปที่โรงพยาบาล บางครั้งอาจจะมีคนสอนคือไม่มีใครมาคอยบอก หรือมาสอนจริงๆ ซึ่งเวลาไปถ่ายเราจะขอเจ้าหน้าที่มาเพื่อช่วยดูแลซึ่งก็ไม่มีปัญหา แต่กรณีที่ถ่ายข้างนอกจะมีปัญหา ซึ่งเราต้องหาช่องทางเอง ว่าจะสามารถไปปรึกษาใครได้ ซึ่งหลังจากเข้าร่วมอบรมครั้งนี้กับ สพฉ.ก็ทำให้เรารู้ช่องทางแล้ว”