อาจเป็นเพราะว่า นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ นิยมสวมรองเท้าแตะไปเดินเล่นชายหาด ด้วยความสะดวกของการสวมใส่ ความทนทานของรองเท้าแตะที่มักจะไม่มีปัญหาเมื่อโดนน้ำ อีกทั้งยังมีรองเท้าแตะราคาถูกให้เลือกเป็นจำนวนมาก หลากปัจจัยเป็นที่มาที่ทำให้เรามักจะเห็นขยะริมชายหาด ซึ่งนอกจากขวดน้ำหรือถุงขนม ที่มักจะพบเห็นได้บ่อยแล้ว รองเท้าแตะ เป็นอีกขยะที่มักจะพบได้บ่อย และที่สำคัญคือ ส่วนใหญ่จะพบเจอเพียงข้างเดียว
นายจักรพล จันทวิมล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท นันยางมาร์เก็ตติ้ง จำกัด เปิดเผยถึงที่มาของแนวคิดในการพัฒนารองเท้า KHYA (ขยะ) และเป้าหมายของโครงการในครั้งนี้ว่า เนื่องจากปัญหาขยะทะเลเป็นปัญหาสำคัญระดับโลกที่ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญอย่างมากในปัจจุบัน ซึ่งพบว่านอกจากพลาสติกแล้ว รองเท้าโดยเฉพาะรองเท้าแตะ มักถูกพบเป็นขยะทะเลจำนวนมาก “นันยาง” ในฐานะผู้ผลิตรองเท้าได้เห็นถึงปัญหาดังกล่าว และต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา จึงเกิดแนวคิดในการพัฒนาโปรเจคใหม่ “รองเท้า KHYA (ขยะ)” ที่เกิดจากการ Upcycled ขยะทะเลที่เป็นรองเท้าแตะให้กลายเป็นรองเท้าแตะคู่ใหม่ขึ้นในครั้งนี้
“โปรเจค “รองเท้า KHYA (ขยะ)” ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นโครงการตัวอย่างและแทนสัญลักษณ์ที่ใช้สื่อสารกับผู้คนในสังคมพร้อมเชิญชวนให้ตระหนักถึงปัญหาขยะทะเล การมองเห็นคุณค่าของขยะ การนำขยะมาเพิ่มมูลค่า และเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยวิธีการของตนเองได้ตามความถนัด โดยในครั้งนี้ ถือเป็นความร่วมมือกันระหว่าง “รองเท้าแตะช้างดาว” จากนันยาง และ “ทะเลจร” แบรนด์ Upcycling วัสดุจากทะเลซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรโดย ดร.ณัฐพงศ์ นิธิอุทัย และพันธมิตร โดยรายได้จากการจำหน่ายรองเท้า จะถูกนำกลับไปมอบให้แก่หน่วยงานและโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) ต่อไป” นายจักรพล จันทวิมล กล่าวถึงแนวคิดการพัฒนาโปรเจค “รองเท้า KHYA (ขยะ)” ในครั้งนี้
ด้านนายชัยพัชร์ ซอโสตถิกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท นันยางอุตสาหกรรม จำกัด เปิดเผยถึงขั้นตอนการผลิต “รองเท้า KHYA (ขยะ)” ว่า บริษัทฯ ได้รับขยะรองเท้าแตะมาจากกลุ่มอาสาสมัคร Trash Hero ที่รวมตัวกันเก็บขยะทะเลและคัดแยกประเภทขยะ และส่งต่อขยะรองเท้าจำนวนมากไปยัง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ที่ทำการชั่วคราวของกลุ่ม “ทะเลจร” เพื่อเตรียมวัตถุดิบขั้นแรกและส่งต่อมาที่ “นันยาง” เพื่อเข้าสู่กระบวนการผลิตแบบจำนวนมาก (Mass Production) โดยส่วนพื้นล่างของรองเท้า เป็นส่วนพื้นจริงรองเท้าแตะช้างดาว ที่มีความทนทานและเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป ทั้งนี้ รองเท้า KHYA (ขยะ) จะจำหน่ายในราคา 399 บาท (รวมค่าจัดส่งในประเทศไทย) วางจำหน่ายแบบสั่งจองล่วงหน้า (Pre order) เท่านั้น ระหว่างวันที่ 15-23 สิงหาคม 2562 ผ่านช่องทางการสั่งจอง 1. เวปไซต์ www.KHYA.net 2. LAZADA หรือ SHOPEE (ในประเทศไทย) Thailand Post Mart (ส่งทั่วโลก) 3. ที่ทำการไปรษณีย์ไทย 1,400 สาขาทั่วประเทศ และ 4. THP Contact Center 1545 โดยสินค้าจะจัดส่งให้แก่ผู้สั่งจองได้ประมาณเดือน พฤศจิกายน 2562
“รองเท้า KHYA (ขยะ)” 1 คู่ เกิดจากเก็บขยะทะเลประมาณ 5 กิโลกรัม ถ้า 200 คู่ เท่ากับการเก็บขยะ 1,000 กิโลกรัม (1 ตัน) ทั้งนี้โปรเจคดังกล่าวเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของสังคมที่ต้องการให้เกิดความตระหนักถึงปัญหาและคุณค่าของขยะ และหวังว่าจะเป็นสิ่งที่จุดประกายผู้ประกอบการ นักคิดรุ่นใหม่ ที่จะร่วมกันสร้างโลกให้น่าอยู่ต่อไปโดยรองเท้า KHYA (ขยะ) ที่เปิดตัวในครั้งนี้ จะเปิดจำหน่ายเพียง 9 วันและผลิตตามคำสั่งซื้อเท่านั้น จะไม่ผลิตเกินและไม่ผลิตซ้ำ” นายจักรพล จันทวิมล กล่าวสรุป