สถานการณ์ผู้สูงอายุในประเทศไทย นับตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา ประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 16.5 หรือประมาณ 10.8 ล้านคนจากประชากรทั้งหมด 66 ล้านคนทั่วประเทศ มีผู้สูงอายุติดสังคม ร้อยละ 78 หรือ 8 ล้านคน ผู้สูงอายุติดบ้าน 2 ล้านคน กลุ่มเสี่ยงที่อาจเป็นโรคซึมเศร้าและตัดสินใจฆ่าตัวตาย
ปัญหาดังกล่าวเกิดจากการที่ครอบครัวคนไทยกลายเป็นสังคมเดี่ยวหรือครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น ซึ่งหมายถึงคนไทยเลือกที่จะครองชีวิตโสดหรืออยู่คนเดียวมากขึ้น ส่วนคนในครอบครัวเดี่ยวที่มีลูกน้อย ก็ไม่มีเวลาดูแลพ่อแม่ที่อยู่ในวัยชราเพราะต้องทำงานหาเลี้ยงชีพ เมื่อยุคสมัยที่เปลี่ยนไปกับกระแสไอทีและยุคโซเชียลมีเดีย 4.0 ส่งผลทำให้ธุรกิจศูนย์ดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยพักฟื้นหรือเนิร์สซิ่งโฮมมีการเติบโตเพิ่มมากขึ้น
ศิรสิทธิ์ ตั้งจิตกมล ผู้จัดการ เพชรเกษมเนอร์สซิ่งโฮม ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยพักฟื้น กล่าวว่า เนอร์สซิ่งโฮม เป็นทางเลือกสำหรับผู้สูงอายุ ที่ต้องการมีคนดูแลเอาใจใส่และปฏิบัติตนกับผู้สูงอายุอย่างสุภาพ เป็นเสมือนญาติพี่น้องของเราจึงเกิดขึ้นมากมายในยุคปัจจุบันที่มีให้เลือกมากมายหลายรูปแบบ แต่เราจะเลือกให้เหมาะสม
การเข้าใช้บริการของ เนอร์สซิ่งโฮม ของผู้สูงอายุนั้น ส่วนใหญ่เป็นไปตามความสมัครใจของผู้สูงอายุเอง ญาติไม่มีเวลา และขาดความรู้และประสบการณ์ในการดูแลผู้สูงอายุที่ไม่สามารถช่วยตัวเองได้ก็ดี จึงจำเป็นต้องพาผู้สูงอายุมาพักอาศัยที่เนิร์สซิ่งโฮม ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็นการต่อเติมจากบ้านหรืออพาร์ทเมนท์ ทำให้ผังที่พักอาศัยไม่เหมาะสมกับสภาพความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุ รวมถึงยังขาดความพร้อมในหลาย ๆ ด้าน เช่น ระบบการดูแลสุขภาพใกล้ชิดโดยแพทย์ ระบบรักษาความปลอดภัย ระบบปฏิบัติการในกรณีฉุกเฉิน
ลักษณะการดูแลผู้สูงอายุของเพชรเกษมเนอร์สซิ่งโฮมจะแยกเป็น 3 รูปแบบ คือ 1. ผู้ที่ช่วยตนเองได้แต่ต้องการเพื่อนผู้ดูแล คือ เดินได้ รับประทานอาหารเองได้ตามปกติ ญาติผู้ป่วย ยังสามารถพาผู้สูงอายุไปรับประทานอาหารหรือไปทำธุระข้างนอกได้ โดยแจ้งให้ผู้ดูแลให้ได้ทราบก่อน 2. ผู้ที่ต้องได้รับการช่วยเหลือบ้าง อาจจะเป็นโรคอัมพาตครึ่งซีกหรือเดินไม่สะดวก ซึ่งมีประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ และ 3. ผู้สูงอายุติดเตียง หมายถึง ถ้าไม่ได้ทำกายภาพ ก็มีสิทธิ์ที่จะกลับมาเดินไม่ได้อีกสูง ผู้สูงอายุกลุ่มนี้จึงต้องได้รับการดูแลเต็มรูปแบบ
เนิร์สซิ่งโฮมที่ดี ควรมีการออกแบบสถานที่ร่วมกันระหว่างแพทย์และสถาปนิก ซึ่งจะตอบโจทย์สร้างความลงตัวให้ได้ว่าผู้สูงอายุ ที่ควรจะมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไรเพื่อให้ปลอดภัย โดยเน้นความโปร่ง โล่ง สะอาดและอากาศบริสุทธ์ มีสวนและศาลาพักผ่อน ประตูห้องจะเป็นบานเลื่อน มีหน้าต่างจำนวนมาก มีห้องน้ำในทุกห้อง ส่วนห้องรวม 4 เตียง จะมีระยะห่างอย่างต่ำ 90 เซ็นติเมตร แยกเพศชายและหญิงพร้อมห้องน้ำแยก มีการบริการจัดการอย่างมีระบบ และนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างเหมาะสมเพื่อความปลอดภัย
มีกลุ่มกิจกรรมทางสังคมผู้สูงอายุอยู่ร่วมกัน โดยจะมีการประเมินความสามารถในการเคลื่อนไหว สังเกตพฤติกรรม อารมณ์และจิตใจ ตรวจวัดความดันโลหิต จังหวะการเต้นของหัวใจ มีกิจกรรมเพื่อพัฒนาหรือชะลอความสูงวัยของผู้สูงอายุทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ มีนักกายภาพบำบัดมาดูแล ฟื้นฟูสมรรถภาพทางกาย มีเกมที่ฝึกการเคลื่อนไหวของร่างกายให้เหมาะสมกับวัยและสุขภาพ เช่น การวาดภาพหรือระบายสี มี เกมฝึกสมองและความคิด
สำหรับเนิร์สซิ่งโฮมถูกออกแบบให้มีลักษณะเป็น 2 ชั้นขึ้นไป ควรนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาทดแทน เช่น การติดตั้งลิฟท์ขึ้น-ลง สำหรับการเคลื่อนย้ายผู้สูงอายุ จากชั้น 1 ไปยังชั้น 2 เพื่อลดอัตราการเสี่ยงในการขึ้นลงบันไดของผู้สูงอายุ นอกจากนี้ควรจะมีห้องทำกายภาพบำบัด เพื่อให้ผู้สูงอายุได้ออกกำลังกาย โดยมีนักกายภาพบำบัดดูแลอย่างใกล้ชิด และในช่วงวันเสาร์- อาทิตย์ควรจะมีกิจกรรมสนุก ๆ ร่วมกันระหว่างผู้สูงอายุ ญาติผู้ป่วยและผู้ดูแล ด้วย
“เนิร์สซิ่งโฮม ของผมไม่เหมือนกับสถานที่กักขังผู้สูงอายุ เรามีกล้องวงจรปิดคอยระแวดระวังภัยตลอด 24 ชั่วโมง มีรถฉุกเฉินเตรียมพร้อมสำหรับการให้บริการและถึงที่หมายภายใน 5-7 นาที หากเกิดเหตุไม่คาดฝันหรือกรณีเร่งด่วน มีแพทย์คอยตรวจสุขภาพเป็นประจำและมีกิจกรรมพาผู้สูงอายุไปทัศนาในกรณีที่ผู้สูงอายุที่เดินได้ เที่ยวพักผ่อนนอกสถานที่ เช่น ไปไหว้พระ ทำบุญพร้อมกับญาติ ๆ ด้วย ผมพยายามให้ญาติมาเยี่ยมผู้สูงอายุที่นี่บ่อย ๆ ไม่ใช่ พาผู้สูงอายุมาฝากไว้ที่เนิร์สซิ่งโฮม แล้วก็จากไป อย่างน้อยญาติควรมาเยี่ยมอาทิตย์ละ 1 ครั้ง แต่หากผู้สูงอายุ ท่านใดที่มาอยู่กับเราแล้ว ไม่มีญาติมาเยี่ยมเลย ผมจะติดต่อกลับไปเพื่อสอบถาม และชักชวนให้มาเยี่ยม” ศิรสิทธิ์ กล่าว