ภาคีเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง ทำโครงการ First Pin “ปักหมุดจุดเผือก”

51

ภาคีเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิงเปิดตัวโครงการ First Pin “ปักหมุดจุดเผือก” ร่วมค้นหาเส้นทางเสี่ยงต่อการถูกคุกคามทางเพศที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่สาธารณะ หรือในชุมชน พร้อมเรียนรู้การปักหมุด จุดเผือก ผ่าน โปรแกรมแจ้งเหตุ Chat bot ทีมเผือกในแอพพลิเคชั่นไลน์เพื่อใช้รวบรวมเป็นฐานข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

คุณคิดว่ากรุงเทพปลอดภัยดีสำหรับคุณแล้วหรือไม่ ???? หรือคุณเดินในตรอกซอกซอยเปลี่ยวๆ แล้วต้องระวังหลังตลอดเวลาหรือเปล่า ????? หากคุณกำลังรู้สึกแบบนั้นเราขอชวนคุณมางานนี้กับเรา กิจกรรม First Pin ‘ปักหมุด จุดเผือก’ พบกับการกลับมาอีกครั้งของ “ทีมเผือก” กับภารกิจครั้งสำคัญเพื่อค้นหาพื้นที่เสี่ยงต่อการถูกคุกคามทางเพศในเมืองใหญ่และร่วมกันสร้างเมืองปลอดภัย ผ่านโปรแกรมแจ้งเหตุ Chat bot ทีมเผือกในแอพพลิเคชั่นไลน์ กับกิจกรรม First Pin ‘ปักหมุด จุดเผือก’

ครั้งแรกของกรุงเทพมหานครที่ทีมเผือกกว่า 50 ชีวิตจะจับมือกับตัวแทนชุมชนที่มีพื้นที่เสี่ยงในกทม.ร่วมกันสะท้อนประสบการณ์การเสี่ยงต่อการถูกคุกคามทางเพศและความรู้สึกไม่ปลอดภัยในตรอกซอกซอยของเมืองใหญ่ พร้อมทั้งร่วมกันออกแบบและค้นหาเส้นทางเสี่ยงต่อการถูกคุกคามทางเพศที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่สาธารณะ หรือในชุมชน และเรียนรู้การปักหมุด จุดเผือก ผ่านโปรแกรมแจ้งเหตุ Chat bot ทีมเผือก ในแอพพลิเคชั่นไลน์ เพื่อใช้รวบรวมเป็นฐานข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

ตลอดระยะเวลา กว่า 1 ปีที่เครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง (Safe Cities for Women) ได้รณรงค์เพื่อสร้างความปลอดภัยจากการคุกคามทางเพศบนระบบขนส่งสาธารณะภายใต้ชื่อโครงการ “ถึงเวลาเผือก” ที่มีผู้เข้าร่วมเป็นสมาชิก “ทีมเผือก” แล้วกว่า 800 คน และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาขานรับและปรับเปลี่ยนความปลอดภัยบนระบบขนส่งสาธารณะเพื่อป้องกันการคุกคามทางเพศที่จะเกิดขึ้นกันอย่างหลากหลาย

อย่างไรก็ตามนิยามเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิงขององค์การแอ็คชั่นเอด (Action Aid) นอกจากการให้ความสำคัญกับการคุกคามทางเพศบนระบบขนส่งสาธารณะแล้วยังได้ให้ความสำคัญกับการคุกคามทางเพศผู้หญิงในพื้นที่สาธารณะโดยเฉพาะพื้นที่บนท้องถนนและตรอกซอกซอย หรือที่เรียกว่า “Street Harrasment” โดยการคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงบนท้องถนนและตรอกซอกซอยนอกจากจะสร้างความไม่ปลอดภัยในการดำเนินชีวิตของผู้หญิงแล้ว ยังเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่จะฉุดรั้งความก้าวหน้า การปิดโอกาสในการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพของผู้หญิงในหลากหลายมิติอีกด้วย

ทั้งนี้จากสถิติที่องค์การแอ็คชั่นเอด (Action Aid) ได้ทำการสำรวจเหตุคุกคามทางเพศของผู้หญิงในวัยนักศึกษาและวัยทำงาน 20 เมืองทั่วโลกพบว่าทุก ๆ 15 วินาทีผู้หญิงในเมืองเซาเปาโลประเทศบราซิลเจอกับการคุกคามทางเพศในพื้นที่สาธารณะ ในส่วนของกรุงนิวเดลีประเทศอินเดียผู้หญิงมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์เคยเจอกับเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่สาธารณะและในส่วนของประเทศอังกฤษมีผู้หญิงเคยเจอกับเหตุการณ์คุกคามทางเพศในพื้นที่สาธารณะมากถึง 40 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ในส่วนของประเทศไทยเองนั้นมีสถิติที่น่าสนใจจากกองบัญชาการตำรวจนครบาลที่ระบุว่ากรุงเทพมหานครมีจุดเสี่ยงมากถึง 217 จุด

จากสถิติทั้งหมดดังกล่าวนี้เครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิงซึ่งประกอบด้วย องค์การ แอ็คชั่นเอด (Action Aid) แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เครือข่ายสลัมสี่ภาค สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้ร่วมมือกับเครือข่ายสถาปนิก นักผังเมือง เครือข่ายคนเมือง Shma SoEn, Urban Creature, Big Trees, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และศูนย์เทคโนโลยีอีเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) เตรียมเปิดตัวโครงการ “ปักหมุดจุดเผือก” เพื่อชวนประชาชนร่วมกันออกเดินทางสำรวจค้นหาจุดเสี่ยงในพื้นที่สาธารณะและสถานศึกษาทั่วกรุงเทพมหานคร และพัฒนาต้นแบบแผนที่ “จุดเผือก Map” จากเสียงของประชาชน เพื่อให้ผู้หญิงได้ใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นในการระแวดระวังภัยการคุกคามทางเพศที่จะเกิดขึ้นกับตนเอง และให้ประชาชนได้ร่วมเป็นทีมเผือกในการเฝ้าระวังเพื่อช่วยสอดส่องในพื้นที่จุดเสี่ยงเหล่านั้น

นอกจากนี้ ทางโครงการฯ ยังจะนำฐานข้อมูล “จุดเผือก Map” เสนอต่อผู้ว่ากรุงเทพมหานคร อธิการบดีมหาวิทยาลัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศในพื้นที่จุดเสี่ยงเหล่านี้อย่างเป็นรูปธรรมอีกด้วย ซึ่งงานจะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2562 นี้ที่ โรงแรมเอทัส ซอยร่วมฤดี เวลา 12.30 – 18.00 น.

โดยกิจกรรมที่น่าสนใจภายในงานดังนี้ อาทิ ร่วมรับฟังการสะท้อนประสบการณ์การเสี่ยงต่อการถูกคุกคามทางเพศและความรู้สึกไม่ปลอดภัยในตรอกซอกซอยของเมืองใหญ่ของทีมเผือกกว่า 50 ชีวิตและตัวแทนชุมชนที่มีพื้นที่เสี่ยงในกทม. และร่วม เวิร์คช็อปออกแบบและวางแผน ‘ปักหมุด จุดเผือก’ จากพื้นที่เสี่ยงและจากประสบการณ์การเสี่ยงต่อการถูกคุกคามทางเพศในพื้นที่สาธารณะของทีมเผือกและตัวแทนชุมชนพื้นที่เสี่ยงในกทม. พร้อมทั้งทำความรู้จักโครงการ “เมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง” และรับฟังความสำเร็จและความก้าวหน้าและที่มาที่ไปของโครงการปักหมุดจุดเผือก

ร่วมเรียนรู้แนวคิดวิถีชีวิตของคนเมืองที่ทุกวันต้องเผชิญกับความเสี่ยงต่อการถูกคุกคามทางเพศ พร้อมวิธีสังเกตจุดเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่สาธารณะ โดยทีมงานสถาปนิก นักผังเมือง และนักขับเคลื่อนเรื่องเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง ออกเดินทางไปยังทางจักรยานลอยฟ้าสวนลุม-สวนเบญจกิตติ (สะพานเขียว) เพื่อทดลองค้นหาพื้นที่จุดเสี่ยงพร้อม ‘ปักหมุด จุดเผือก’ โดยใช้ โปรแกรมแจ้งเหตุ Chat bot ทีมเผือก ในแอพพลิเคชั่นไลน์ บริเวณทางจักรยานลอยฟ้าสวนลุม-สวนเบญจกิตติ (สะพานเขียว) ร่วมกับชาวบ้านจากชุมชนซอยพระเจน ผู้อาศัยและใช้พื้นที่บริเวณทางจักรยาน

สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและยืนยันการเข้าร่วมงานได้ที่โทร 080-970-7492 , 088-453-9114