6 มาตรการลดสิ่งแปลกปลอมตกค้างในร่างกายผู้ป่วยหลังผ่าตัด

442

ประธานอนุกรรมการควบคุมคุณภาพบริการสาธารณสุขเขต ขอนแก่น แนะ มาตรการลดอุบัติการณ์การมีสิ่งแปลกปลอมตกค้างในร่างกายผู้ป่วยหลังทำหัตถการ

รศ.นพ.วัชรพงศ์ พุทธิสวัสดิ์ เปิดเผยว่า ปัญหาการตกค้างของสิ่งแปลกปลอมหลังการผ่าตัด ยังคงเป็นปัญหาที่ไม่มีวิธีแก้ไขที่สมบูรณ์ เป็นปัญหาความผิดพลาดทางการแพทย์ที่สำคัญ โดยมีอัตราการเกิดระหว่าง 0.3 ถึง 1.0 ต่อการผ่าตัดช่องท้อง 1,000 ครั้ง ปัญหาการตกค้างของสิ่งแปลกปลอมหลังการผ่าตัดเป็นปัญหาที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่ถ้าเกิดปัญหาขึ้นจะเป็นข้อผิดพลาดที่ไม่สามารถแก้ตัวทางกฎหมายได้เลย  

มาตราการป้องกันการเกิดปัญหาสิ่งแปลกปลอมหลังการผ่าตัด จึงต้องมีการดำเนินการ ดังนี้

 1.การตรวจนับผ้าก๊อซซับเลือด เข็มเย็บผ่าตัด และเครื่องมือผ่าตัด เป็นกลยุทธ์สำคัญในการป้องกันการเกิดปัญหาสิ่งแปลกปลอมหลังการผ่าตัด ซึ่งการศึกษาส่วนใหญ่จะสนับสนุนการพัฒนาคู่มือแนวทางการปฏิบัติในแต่ละโรงพยาบาล โดยใช้การตรวจนับผ้าก๊อซซับเลือด เข็มเย็บผ่าตัด และเครื่องมือผ่าตัด ก่อน ระหว่าง และหลังการผ่าตัด เช่นเดียวกับการตรวจนับหลายครั้

2. ในระหว่างการผ่าตัด คู่มือแนวทางการปฏิบัติเหล่านี้ต้องถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด แต่จะทำให้เวลาการทำงานมากขึ้นถึง 14% ของเวลาทำงานปกติ

3. การตรวจสอบอย่างละเอียดโดยศัลยแพทย์ในบริเวณที่ทำผ่าตัด ก่อนที่จะปิดแผลผ่าตัดรวมทั้งการบันทึกขั้นตอนการผ่าตัดอย่างละเอียดรวมทั้งจำนวนสายท่อระบายและจำนวนผ้าก๊อซซับเลือดที่อาจใช้ห้ามเลือดหลังผ่าตัดในกรณีที่จำเป็น (เพื่อให้ศัลยแพทย์เมื่อเข้าไปเอาผ้าก๊อซซับเลือดรู้ว่ามีผ้าก๊อซซับเลือดที่ต้องเอาออกกี่ผืน)

4. ความแตกต่างของการตรวจนับควรทำให้เกิดการแจ้งเตือนอย่างอัตโนมัติถึงโอกาสการเกิดปัญหาสิ่งแปลกปลอมหลังการผ่าตัด เมื่อมีความแตกต่างในการตรวจนับต้องตรวจนับซ้ำ และศัลยแพทย์ต้องตรวจตราดูบริเวณที่ทำผ่าตัดใหม่ทั้งหมด

5. แต่หากความแตกต่างยังคงอยู่ควรทำการถ่ายภาพรังสีที่เหมาะสม (การถ่ายภาพรังสี/เอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์) เพื่อค้นหาสิ่งแปลกปลอมหลังการผ่าตัดที่ตกค้างอยู่

6. การสื่อสารที่ดีระว่างทีมแพทย์ผ่าตัดและทีมพยาบาลห้องผ่าตัด เป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันปัญหาการตกค้างของสิ่งแปลกปลอมหลังการผ่าตัด

ทั้งนี้สิ่งของที่ตกค้างหลังการผ่าตัดที่พบมากที่สุดตามลำดับ คือ 1) ผ้าก๊อซซับเลือด 2) เข็มเย็บผ่าตัด และ 3) เครื่องมือผ่าตัด ส่วนการผ่าตัดที่มีปัญหาการตกค้างของสิ่งแปลกปลอมหลังการผ่าตัดที่พบได้บ่อย อันดับแรก คือ 1) การผ่าตัดทางช่องท้อง (52%) 2) การผ่าตัดทางนรีเวช (22%) และ 3) การผ่าตัดระบบทางเดินปัสสาวะและหลอดเลือด (10%) โดยการผ่าตัดช่องท้องที่มีปัญหาการตกค้างของสิ่งแปลกปลอมหลังการผ่าตัดที่พบบ่อยที่สุด คือ การผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง และการผ่าตัดมดลูกผ่านทางหน้าท้อง

“ปัญหาการตกค้างของสิ่งแปลกปลอมหลังการผ่าตัด ทำให้ผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บ บางรายอาจจะเสียชีวิต และยังส่งผลกระทบต่อชื่อเสียง และความเป็นมืออาชีพของแพทย์ ทั้งยังสร้างความเสียหายของชื่อเสียงของโรงพยาบาลและระบบสุขภาพ และอาจจะมีผลกระทบร้ายแรงจากการถูกฟ้องร้องทางกฎหมาย ดังนั้นบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในในห้องผ่าตัดจะต้องมีมาตรฐานป้องกันปัญหานี้อย่างเคร่งครัด” รศ.นพ.วัชรพงศ์ กล่าว