เปิดที่ยินคนพิการ สสส.-ภาคีเครือข่าย หนุนสร้างงานเพื่อความเท่าเทียม

27

สสส. – ภาคีเครือข่าย พัฒนาศักยภาพคนพิการ สร้างงานแล้วกว่า 4,000 อัตรา หนุนสังคมเปิดที่ยืนคนพิการ ย้ำประเทศกำลังพัฒนา สิทธิมนุษยชนสำคัญไม่แพ้โครงสร้างพื้นฐาน คนพิการต้องเท่าเทียมคนทั่วไป

นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในการประชุมสมัชชาเครือข่ายคนพิการระดับชาติ ประจำปี 2562 ว่า เป็นเวลา 3 ปีแล้วที่สสส. ทำงานส่งเสริมศักยภาพคนพิการ ส่งผลให้มีการจ้างงานแล้วกว่า 4,000 อัตรา บทบาทหน้าที่ของ สสส.กับคนพิการคือ การทำงานที่มีคุณค่า (Decent Work) ครอบคลุม 4 มิติคือ ด้านการส่งเสริมสุขภาพ, ด้านเศรษฐกิจ, ด้านสังคมและการเรียนรู้ และด้านสภาพแวดล้อม  โดยสสส. มีทีมงานพี่เลี้ยงคอยติดตามดูแลคนพิการที่มีงานทำ เพื่อคอยช่วยเหลือให้คำปรึกษา สร้างความมั่นใจ เสริมทักษะการดูแลสุขภาพ และการเก็บออมเงิน เพื่อให้คนพิการไม่เป็นภาระของคนอื่น สามารถพึ่งพาดูแลตนเองและครอบครัวได้

“ประเทศที่เจริญมากขึ้น จะมีคนพิการมากขึ้นตามไปด้วย สิ่งที่ สสส.ทำในวันนี้จะเป็นโมเดลให้สังคมได้รับรู้ว่า คนพิการทุกคนมีศักยภาพและสามารถทำงานหรืออยู่ร่วมกันกับคนปกติได้อย่างเท่าเทียมและเสมอภาคกัน” นางภรณี กล่าว

นายมณเฑียร บุญตัน สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า ข้อมูลขององค์การอนามัยโลก พบว่าปี 2554 ทั่วโลกมีคนพิการมากกว่าพันล้านคน หรือประมาณ 15% ของประชากรโลก เป็นกลุ่มที่มีความหลากหลายและมีรายได้น้อยที่สุด แต่เมื่อโลกเปลี่ยนไป การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานควรต้องทำควบคู่ไปกับการพัฒนาสิทธิมนุษยชน จึงจะเกิดการพัฒนาได้ในที่สุด ดังนั้นคนพิการจะต้องเข้าถึงบริการและทรัพยากรต่างๆ ได้อย่างเท่าเทียมและทั่วถึงเช่นเดียวกับคนปกติ ในประเทศพัฒนาแล้วอย่างนิวซีแลนด์ มีคนพิการจำนวน 25% ของประชาชนในประเทศ ขณะที่สหรัฐอเมริกามีคนพิการอยู่ 1 ใน 4 ของประชาชน ด้านประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาว กลับมีคนพิการไม่ถึง 2% นั่นแสดงว่าในประเทศที่พัฒนาแล้วยิ่งมีคนพิการมากขึ้น เราจึงควรป้องกันความพิการด้วยการส่งเสริมความเสมอภาค ขจัดสิ่งที่ขัดขวางการเข้าถึงสิทธิต่างๆ ที่คนพิการพึงได้รับ เพื่อลดความพิการให้กับคนพิการ

นายนภ พรชำนิ ผู้ก่อตั้งบริษัทไลฟ์อีส กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า ในฐานะประชาชน และศิลปินที่คลุกคลีกับคนพิการมาเป็นเวลา 15 ปี สิ่งที่ตนและครอบครัวทำในวันนี้คือการดูแลคนพิการตั้งแต่อยู่ในครรภ์ กระทั่งคลอดออกมา ด้วยความเชื่อว่าหากคนกลุ่มนี้ได้รับการคัดกรองพัฒนาศักยภาพตั้งแต่ต้นแล้ว จะสามารถใช้ชีวิตทำงานร่วมกับคนปกติได้อย่างไม่เป็นภาระของคนอื่น ปัจจุบันหลายบริษัทเปิดกว้างรับคนพิการเข้าทำงานมากขึ้น และเป็นเรื่องดีที่หลายบริษัทมองว่าคนพิการไม่ใช่ภาระอีกต่อไป ตนจึงอยากร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเรื่องนี้จนเกิดเป็นระบบที่ปฏิบัติร่วมกันในสังคม โดยมั่นใจว่าอีกไม่กี่ปีข้างหน้าคนพิการจะมีความสุข และยืนอยู่ในสังคมร่วมกับคนปกติได้อย่างภาคภูมิ