ภาคีเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิงเปิดตัวโครงการ “ปักหมุดจุดเผือก”

48

เครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง เปิดตัวโครงการ “ปักหมุดจุดเผือก” เพื่อชวนประชาชนร่วมกันออกสำรวจค้นหาจุดเสี่ยงต่อการถูกคุกคามทางเพศในเมืองใหญ่ และร่วมกันสร้างเมืองปลอดภัยผ่าน Chat bot #ทีมเผือก ในแอพพลิเคชั่นไลน์ เพื่อรวบรวมเป็นฐานข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

โดยโครงการนี้ เกิดจากความร่วมมือจากอาจองค์กร ประกอบด้วย องค์การ แอ็คชั่นเอด ประเทศไทย (Action Aid) ,แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ, มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ,เครือข่ายสลัมสี่ภาค, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), Shma SoEn , Urban Creature และ Big Trees ร่วมกับเครือข่ายสถาปนิก นักผังเมือง เครือข่ายคนเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC)

ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท

ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ กล่าวถึงการจัดกิจกรรม ‘First Pin ปักหมุด จุดเผือก’ ว่า ปัญหาการคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงในประเทศไทย ว่าไม่ได้เกิดขึ้นบนระบบขนส่งสาธารณะเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะระหว่างการเดินทางเพื่อไปยังจุดหมายต่าง ๆ ผ่านพื้นที่บนท้องถนนและตรอกซอกซอยในชีวิตประจำวันของผู้หญิงก็เสี่ยงต่อการถูกคุกคามทางเพศที่เรียกว่า street harassment มากขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งการการคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้นนอกจากจะสร้างความไม่ปลอดภัยในการดำเนินชีวิตของผู้หญิงแล้ว ยังเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่จะฉุดรั้งความก้าวหน้า ปิดโอกาสการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพของผู้หญิงในหลากหลายมิติด้วย

ดร.วราภรณ์ กล่าวว่าสำหรับพื้นที่ที่มีความเสี่ยงนั้น ส่วนใหญ่จะมีลักษณะ 1.เป็นซอยตัน ไม่มีเส้นทางอื่นให้เลือก 2.เป็นทางผ่านไปในจุดที่อับหรือเปลี่ยว 3.มีสิ่งบดบังสายตาซึ่งมีโอกาสเป็นจุดซุ่มซ่อนตัวของคนร้าย 4. เป็นพื้นที่ปิดคนที่สัญจรไปมาหรือชุมชนรอบข้างมองไม่เห็น 5. ไม่มีแสงไฟส่องสว่าง หรือ แสงสว่างไม่เพียงพอ 6. ไม่มีป้ายบอกชื่อสถานที่หรือป้ายบอกทางทำให้คนนอกพื้นที่ไม่สามารถระบุจุดหรือตำแหน่งที่ตัวเองอยู่ได้ชัดเจน 7. อยู่ห่างไกลจากจุดบริการขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัย ไม่มีคนเดินทางสัญจรไปมา 8.ไม่มียามรักษาความปลอดภัยในจุดที่สมควร และ ไม่มีแหล่งขอความช่วยเหลือที่เข้าถึงได้ง่าย

“ความปลอดภัยในพื้นที่สาธารณะเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและโอกาสทางสังคมของคนที่ต้องสัญจรไปมาในพื้นที่สาธารณะ ถ้าเราต้องใช้ชีวิตแต่ละวันอยู่กับความเสี่ยง ความรู้สึกหวาดระแวง ไม่ปลอดภัย หรือแย่กว่านั้น ถ้าเราเคยถูกคุกคามทางเพศ เราก็มีแนวโน้มที่จะจำกัดตัวเอง เช่น หลีกเลี่ยงสถานที่ที่เรารู้สึกไม่ปลอดภัย แต่มีคนจำนวนมากที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เช่น คนที่ต้องออกจากบ้านไปทำมาหากินตั้งแต่เช้ามืด หรือเลิกงานดึก หรือบ้านอยู่ซอยลึก ก็ต้องทนอยู่แบบหวาดระแวง เครียด กังวล กลายเป็นว่าเขาเสียโอกาสที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีไปด้วย”ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงฯ กล่าว

สำหรับกิจกรรม แบ่งเป็น 3 ช่วงหลักๆ โดยช่วงแรกเป็น workshop ที่อาสาสมัครทีมเผือกที่สมัครเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 50 คนและตัวแทนชุมชนที่มีพื้นที่เสี่ยงใน กทม. ได้ร่วมเรียนรู้แนวคิดวิถีชีวิตคนเมืองกับความเสี่ยงต่อการถูกคุกคามทางเพศ และวิธีสังเกตจุดเสี่ยงในพื้นที่สาธารณะจากมุมมองของทีมสถาปนิก นักผังเมือง และขับเคลื่อนเรื่องสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยในเมือง จากนั้นจะได้ร่วมออกแบบและวางแผนการ “ปักหมุด จุดเผือก” เพื่อระบุพื้นที่เสี่ยง และแบ่งกลุ่มเรียนรู้ปฏิบัติการทีมเผือกเพื่อสร้างเมืองปลอดภัยผ่าน Chat bot ทีมเผือกในแอพพลิเคชั่นไลน์ เพื่อเป็นเครื่องมือในการปักหมุดจุดเผือกค้นหาจุดเสี่ยง

ช่วงต่อมาเป็นการนำสมาชิกทีมเผือกออกไปทดลองปักหมุดจุดเสี่ยงในพื้นที่จริงบนทางจักรยานลอยฟ้าสวนลุม-สวนเบญจกิตติ (สะพานเขียว) ร่วมกับชาวบ้านจากชุมชนซอยพระเจน ผู้อาศัยและใช้พื้นที่บริเวณทางจักรยาน และในช่วงสุดท้าย ผู้เข้าร่วมได้ช่วยกันปักหมุดจุดเผือกบนแผนที่ต้นแบบยักษ์ เพื่อแสดงเจตจำนงในการเป็นทีมร่วมค้นหาจุดเสี่ยงในพื้นที่ กทม. เพื่อให้ผู้หญิงได้ใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นในการระแวดระวังภัยการคุกคามทางเพศที่จะเกิดขึ้นกับตนเอง และให้ประชาชนได้ร่วมเป็นทีมเผือกในการเฝ้าระวังเพื่อช่วยสอดส่องในพื้นที่จุดเสี่ยงเหล่านั้น เพื่อนำข้อมูล “จุดเผือก Map” เสนอต่อผู้ว่ากรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

“แม้หน้าที่การดูแลความปลอดภัยในพื้นที่สาธารณะควรต้องเป็นความรับผิดชอบหลักของหน่วยงานรัฐ แต่ในความเป็นจริง เจ้าหน้าที่ของรัฐยังไม่มีกำลังและศักยภาพมากพอที่จะดูแลให้เกิดความปลอดภัยในทุกพื้นที่ได้จริง เราเลยต้องระดมความร่วมมือจากภาคประชาชนให้ช่วยกันสอดส่องดูแล ช่วยกันทำให้พื้นที่สาธารณะมีความปลอดภัยมากขึ้น”ดร.วราภรณ์ระบุ