Digital Health อยากสุขภาพดี โหลดได้

25

สำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดประชุมวิชาการ ThaiHealth Academy Forum 2019 เป็นครั้งแรก ภายใต้หัวข้อเรื่อง Digital Health (สุขภาพดิจิทัล) เพื่อให้ภาคีเครือข่ายด้านการสร้างเสริมสุขภาพ หน่วยงานด้านสุขภาพทั้งภาครัฐและเอกชน นักศึกษา และผู้สนใจ มีความเข้าใจเรื่องสุขภาพดิจิทัล ตลอดจนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนระบบสุขภาพด้วย Digital Health ในอนาคต

ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา รักษาการผู้อำนวยการสำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ สสส. กล่าวว่า สสส. มุ่งนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ โดยสนับสนุนพัฒนาระบบข้อมูลพฤติกรรมสุขภาพของประชาชน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีความละเอียดในระดับพื้นที่/จังหวัด รวดเร็วและเป็นปัจจุบัน และนำข้อมูลมาวิเคราะห์ร่วมกับเทคโนโลยีอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) แสดงผลข้อมูลเชิงประจักษ์การเปลี่ยนแปลงทางพิกัดภูมิศาสตร์ แหล่งพื้นที่/ปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหา พิกัดระบบบริการสุขภาพ รวมถึงข้อมูลจากเทคโนโลยี Internet of things (IoT) จากอุปกรณ์ดิจิทัลต่างๆ ที่อยู่ในชีวิตประจำวัน ส่วนการยกระดับระบบบริการสุขภาพให้ทันสมัย ได้นำเทคโนโลยีระบบ AI, Machine Learning และ Big Data เข้ามาเสริมประสิทธิภาพการทำงาน เช่น การรับคำปรึกษาทางด้านสุขภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ เป็นต้น

“เราเชื่อว่าคนไทยทุกคนต้องการมีสุขภาพดี สสส. จึงมีภารกิจสร้างสิ่งแวดล้อมรอบตัวประชาชนให้เอื้อต่อการเข้าถึงสุขภาพดิจิทัลมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่นการสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ คู่มือภายใต้โครงการชีวิตดีเริ่มที่เรา ซึ่งมีทั้งคู่มือ 108 วิธีสร้างเสริมสุขภาพดี และคู่มือประจำวัยรับมือยังไงกับวัย 18 เพื่อให้ผู้สนใจดาวน์โหลดอ่านได้ฟรีทางเว็บไซต์ thaihealth.or.th/livehealthier ผ่านมือถือหรือแล็ปท็อป ซึ่งนี่คือประโยชน์การเลือกนำเข้าข้อมูลสู่ระบบดิจิทัลเพื่อสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพดี” ดร.ณัฐพันธุ์ กล่าว

ดร.ณัฐพันธุ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ มีภารกิจพัฒนาศักยภาพคนทำงานสร้างเสริมสุขภาพ หรือนักสร้างเสริมสุขภาพ (Health Promoter) ให้มีความรู้และทักษะตามสมรรถนะหลักที่จำเป็นในการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งที่ผ่านมา ThaiHealth Academy ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นแหล่งฝึกอบรมพัฒนาสมรรถนะหลักให้แก่ภาคีเครือข่ายตลอดทั้งปี แต่สำหรับปีนี้มีความพิเศษตรงที่เรื่องสุขภาพดิจิทัลกำลังเป็นกระแส สังเกตได้จากคนส่วนใหญ่สามารถใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รอบตัว เพื่อศึกษาค้นหาข้อมูลการดูแลสุขภาพให้ดี อันเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ทลายข้อจำกัดด้านสถานที่และเวลา ทั้งหมดจึงเป็นที่มาของการจัดเวทีวิชาการในหัวข้อพิเศษ “Digital Health” โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปที่สนใจเข้าร่วมรับฟังด้วย