เนื่องในวันหัวใจโลก 2562 และโอกาสครบรอบ 14 ปี โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ จัดงาน World Heart Day : BE A HEART HERO พร้อมเปิดตัวโครงการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจแต่กำเนิดชนิดผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่วผ่านสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด (Transcatheter ASD Closure) ให้กับผู้ป่วย
ซึ่งทางมูลนิธิเวชดุสิต ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดยการกำกับดูแลของบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ ดำเนินโครงการรักษาให้ผู้ป่วยโรคหัวใจแต่กำเนิด ชนิดผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่ว ซึ่งมีกายวิภาค หรือมีลักษณะรอยโรคที่เหมาะสม ตามดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา จำนวน 14 ราย ซึ่งโรคนี้พบได้บ่อยตั้งแต่ยังเด็ก ส่วนใหญ่จะมีอาการและมาพบแพทย์เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว อาการใจสั่น เหนื่อยง่าย ยิ่งถ้าปล่อยไว้นานอาจทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ และหัวใจล้มเหลวได้
นพ. ประดับ สุขุม ที่ปรึกษา รพ.หัวใจกรุงเทพ กล่าวว่า รพ.หัวใจกรุงเทพ ก่อตั้งขึ้นจากศูนย์หัวใจ ซึ่งเดิมเป็นศูนย์รักษาโรคเฉพาะทางของโรงพยาบาลกรุงเทพมาก่อน แต่ด้วยอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยโรคหัวใจ ประกอบกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการตรวจรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจ จึงได้ก่อตั้ง “โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ” ในปีพ.ศ. 2548 เป็นโรงพยาบาลชั้นนำด้านโรคหัวใจของประเทศไทย ที่มีความพร้อมด้วยปัจจัยหลัก 3 ประการ
คือ บุคลากรทางการแพทย์ทุกสาขา เทคโนโลยีที่ทันสมัย และการให้บริการครบครันตั้งแต่ การป้องกันโรคหัวใจ การตรวจรักษา และ การฟื้นฟูส่งเสริมสมรรถภาพหัวใจของผู้ป่วยตามมาตรฐานสากล เพื่อความพึงพอใจของผู้รับบริการ ดำเนินการจวบจนถึงปัจจุบันรวมเป็นระยะเวลา 14 ปี ให้การรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจประมาณปีละ 100,000 ราย
ทีมแพทย์มีประสบการณ์ในการผ่าตัดหัวใจประมาณ 300 รายต่อปีและทำหัตถการสวนหัวใจผู้ป่วยประมาณปีละ 1,000 ราย ซึ่งในปีนี้ทางโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ ร่วมกับมูลนิธิเวชดุสิตฯ เปิดตัว โครงการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจแต่กำเนิดชนิดผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่วผ่านสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด
โดยการคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายของการรักษาในครั้งนี้ เป็นผู้ป่วยโรคหัวใจแต่กำเนิดชนิดผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่ว ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และไม่สามารถรับผิดชอบค่าใช้จ่ายได้เอง รวมถึงต้องรอคอยการรักษาที่โรงพยาบาลอื่นเป็นระยะเวลานาน จำนวน 14 ราย และมีกายวิภาคหรือลักษณะรอยโรคที่เหมาะสมสำหรับการรักษาด้วยเทคนิคสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด
โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาในการรักษา จุดมุ่งหมายที่รพ. อยากให้ผู้ป่วยโรคหัวใจได้รับการรักษาให้หายขาด พร้อมทั้งมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยไม่ต้องรับการผ่าตัด เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมเพื่อสังคมที่ทางโรงพยาบาลอยากมอบสุขภาพที่ดีให้กับผู้ป่วยโรคหัวใจ
นพ.เกรียงไกร เฮงรัศมี ผู้อำนวยการ รพ.หัวใจกรุงเทพ และในฐานะอายุรแพทย์โรคหัวใจ ชำนาญด้านหัตถการปฏิบัติรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด กล่าวว่า โรคหัวใจแต่กำเนิดชนิดผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่ว (ASD : Atrial Septal Defect Secundum trype) เกิดจากการที่มีรูรั่วบริเวณผนังกั้นหัวใจห้องบน ส่งผลให้เลือดแดงไหลจากหัวใจห้องบนซ้ายไปห้องบนขวาเพิ่มขึ้น ส่งผลให้หัวใจมีโอกาสโตเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
ในเด็กเล็กอาจจะไม่ปรากฏอาการ แต่เมื่ออายุเพิ่มขึ้น จะมีอาการหรือบางรายตรวจพบจากการตรวจเช็กสุขภาพด้านหัวใจ ซึ่งอายุรแพทย์หัวใจจะฟังได้ยินเสียงหัวใจที่ผิดปกติ ผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยอาการเหนื่อยง่าย ใจสั่น หรือบางรายมาด้วยอาการของโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) โรคหัวใจแต่กำเนิดชนิดผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่วชนิด Secundum type พบได้ประมาณ 75%ของผู้ป่วยโรคหัวใจแต่กำเนิดชนิดผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่วทั้งหมด
การตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจแต่กำเนิดชนิดผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่ว สามารถทำได้โดยการฟังเสียงหัวใจและการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจความถี่สูง(Echocardiogram) หลักการทำงานของเครื่องคือ ส่งคลื่นเสียงที่ปลอดภัยเข้าไปในทรวงอกแล้วรับเสียงที่สะท้อนออกมาไปแปลเป็นภาพให้เห็นบนจอ ซึ่งจะแสดงถึงรูปร่าง ขนาด การทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ และลิ้นหัวใจว่าปกติหรือไม่
การตรวจด้วยวิธีนี้ จะเป็นการตรวจเพื่อดูขนาดของห้องหัวใจตามแรงการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจผ่านผนังหน้าอก การทำงานของลิ้นหัวใจ ภาวะน้ำในเยื่อหุ้มหัวใจ ช่องหัวใจโต และสามารถตรวจหาภาวะหัวใจพิการแต่กำเนิด ที่อาจเป็นสาเหตุของอาการเหนื่อยง่าย หรือแน่นหน้าอก การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจความถี่สูง(Echocardiogram) ที่ได้รับความนิยมมี 2 แบบ
ได้แก่ 1)การทำผ่านทางผนังหน้าอก (Transthoracic Echocardiogram) ผู้ป่วยไม่ต้องเตรียมตัวมาก สะดวก ภาพให้รายละเอียดได้ดี แต่หากผู้ป่วยมีผนังหน้าอกหนา ผนังหน้าอกผิดรูป หรือช่องระหว่างซี่โครงแคบอาจได้ภาพที่ไม่ชัดเจนควรตรวจในลักษณะส่องกล้องจะแน่ชัดกว่า
2)การส่องกล้องผ่านทางหลอดอาหาร (Transesophageal Echocardiogram) เป็นการตรวจหัวใจจากด้านในทางเดินอาหารที่อยู่ด้านหลังหัวใจเพื่อให้ได้ภาพการเคลื่อนไหวของหัวใจที่ชัดเจน ช่วยให้การวินิจฉัยได้ชัดเจนและต้องทำในทุกรายก่อนส่งผู้ป่วยมาปรึกษา
ในส่วนของการรักษาโรคผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่วชนิด Secundum type(รอยรั่วตรงกลางผนัง) หากผู้ป่วยมีรูรั่วขนาดเล็กมาก มีโอกาสที่รูจะปิดได้เอง แต่ก็เป็นเพียงส่วนน้อย ซึ่งหากรูที่รั่วมีขนาดเล็กและไม่มีอาการหรือส่งผลกระทบกับชีวิตประจำวันอาจไม่ต้องทำการรักษาเพิ่มเติม
แต่หากรูที่รั่วนั้นมีขนาดปานกลางตั้งแต่ 1 เซนติเมตรจนถึง 3 เซนติเมตรขึ้นไป ซึ่งถือเป็นรูขนาดใหญ่ ต้องมาพบอายุรแพทย์โรคหัวใจเพื่อตรวจเช็กหัวใจโดยละเอียด ในรายที่มีลักษณะรูรั่วที่เหมาะสม แพทย์สามารถทำการรักษาด้วย เทคนิคสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด (Transcatheter ASD Closure) โดยนำอุปกรณ์ที่เป็นโลหะ เข้าไปปิดรูรั่วระหว่างผนังกั้นห้องหัวใจผ่านทางสายสวนหัวใจโดยนำเข้าทางหลอดเลือดดำที่ขาหนีบขา
เมื่อถึงบริเวณรูรั่วอุปกรณ์จะถูกปล่อยไปวางยังตำแหน่งรูรั่วเพื่อปิดรูที่รั่ว หลังจากนั้นร่างกายจะค่อยๆ สร้างเนื้อเยื่อขึ้นมาคลุมภายใน 3 – 6 เดือน โดยอุปกรณ์ที่เลือกใช้จะขึ้นอยู่กับลักษณะและขนาดของรูรั่วเป็นสำคัญ วิธีนี้มีข้อดีคือ ลดความเสี่ยงและลดความเจ็บปวดจากการผ่าตัด ช่วยให้แผลมีขนาดเล็ก ใช้เวลาพักฟื้นไม่นาน ประมาณ 48 ชั่วโมง ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็ว
หลังทำการรักษาผู้ป่วยต้องเข้ารับการตรวจติดตามผลด้วยการตรวจเอคโคหัวใจ หรือการตรวจหัวใจด้วยเครื่องสะท้อนเสียงความถี่สูง (Echocardiogram) เป็นระยะๆ ทุก 1 เดือน 3 เดือน 6 เดือน และ 1 ปี จากการติดตามผู้ป่วยหลังการรักษา แพทย์จะนัดติดตามอาการผู้ป่วยเป็นระยะๆ โดยการตรวจเครื่องสะท้อนเสียงความถี่สูง (Echocardiogram) เป็นระยะๆ
จากผลการรักษาพบว่าเทคนิคสายสวนนี้สามารถปิดรูรั่วได้ สำเร็จประมาณ 98% และพบภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่า 2% การดูแลตัวเองของคนไข้หลังผ่าตัดคือ งดการยกของหนักประมาณ 1 เดือน งดออกกำลังกายหนักๆ ในช่วงระยะ 3 เดือนแรก รับประทานยาต้านเกล็ดเลือดตามที่แพทย์สั่ง คุมกำเนิดเป็นเวลา 1 ปี สำหรับผู้หญิงวัยเจริญพันธ์ รวมถึงกินยาป้องกันการติดเชื้อ (Infective endocarditis prophylaxis) ในช่วง 6 เดือนแรก
อย่างไรก็ตาม การรักษาโรคหัวใจแต่กำเนิดชนิดผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่วด้วยเทคนิคสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด ไม่สามารถทำได้ทุกราย ขึ้นอยู่กับขนาด ลักษณะกายวิภาค และพยาธิสภาพของรูรั่วระหว่างผนังกั้นห้องหัวใจของผู้ป่วยแต่ละราย เช่น ถ้ารูที่รั่วมีขนาดมากกว่า 36 มิลลิเมตร หรือมีรูรั่วหลายรู ในรายที่มีโรคหัวใจอื่นๆ ร่วมด้วย ต้องพิจารณาร่วมกับศัลยแพทย์ทรวงอกเพื่อผ่าตัดรักษาต่อไป
การรักษาด้วยเทคนิคสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด (Transcatheter ASD Closure) เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพ ขึ้นอยู่กับความชำนาญ ประสบการณ์ของทีมแพทย์หัวใจ และความพร้อมของเครื่องมือ อุปกรณ์ และห้องปฏิบัติการณ์ตรวจสวนหัวใจเป็นสำคัญ เพื่อให้การผ่าตัดประสบผลสำเร็จและลดปัญหาแทรกซ้อนในการรักษา