นักกีฬาผู้เปลี่ยนอวัยวะ Health Check Up โรงพยาบาลพระรามเก้า

156

โรงพยาบาลพระรามเก้าร่วมกับสมาคมกีฬาผู้เปลี่ยนอวัยวะแห่งประเทศไทยให้การสนับสนุนการตรวจสุขภาพให้กับนักกีฬาผู้เปลี่ยนอวัยวะที่ได้ร่วมเข้าแข่งขันกีฬาผู้เปลี่ยนอวัยวะโลกครั้งที่ 22 (2019 World Transplant Games)

โดยทางโรงพยาบาลพระรามเก้าและสมาคมกีฬาผู้เปลี่ยนอวัยวะแห่งประเทศไทยที่อยู่ภายใต้การสนับสนุนของการกีฬาแห่งประเทศไทย ตระหนักถึงการส่งเสริมเผยแพร่การกีฬาให้ผู้เปลี่ยนอวัยวะได้รู้จักออกกำลังกายด้วยการเล่นกีฬาเพื่อที่จะนำไปสู่การพัฒนาสมรรถภาพทางกายมุ่งสู่ความเป็นเลิศทางการกีฬาผู้เปลี่ยนอวัยวะ และจะต้องให้การสนับสนุนและผลักดันนักกีฬาผู้เปลี่ยนอวัยวะให้มีศักยภาพทางด้านกีฬาในการแข่งกีฬาผู้เปลี่ยนอวัยวะโลก

ทางโรงพยาบาลพระรามเก้าเป็นตัวแทนแชร์ประสบการณ์ของผู้ป่วย เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนทั่วไปบริจาคไตที่ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทยเพื่อต่อชีวิตผู้ป่วยโรคไตและเห็นความสำคัญเรื่องนี้ หรือในกรณีที่ผู้เสียชีวิตไม่เคยยื่นความจำนงมาก่อน ครอบครัวผู้เสียชีวิตสามารถ ยื่นความประสงค์ให้กับสภากาชาดไทย

นพ.พงศ์ชัย อนุกูลสวัสดิ์ อายุรศาสตร์โรคหัวใจ โรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวว่า ในการฝึกซ้อมการแข่งของนักกีฬาโดยเฉพาะถ้ามีการแข่งขัน ร่างกายต้องพร้อมต้องมีการฟิตร่างกายต้องใช้เวลาดูแลตัวเองอย่างต่ำ 6 เดือนหรือ 1 ปีขึ้นไป เพราะว่าถ้าได้รับการฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอกล้ามเนื้อหัวใจกล้ามเนื้อต่างๆ ของร่างกายจะมีการปรับตัวเพื่อเตรียมพร้อม

หากไม่มีการฝึกซ้อมแล้วไปแข่งทันทีจะเกิดการล้มเหลวของอวัยวะได้ การดูแลภายหลังจากการเปลี่ยนอวัยวะแพทย์จะนัดมาตรวจเช็คสุขภาพ ได้แก่ การคุมอาหารการพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายและทานยาที่คุมโรคร่วมที่มักจะพบในโรคเบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ ซึ่งมีร่วมอยู่แล้วไม่มากก็น้อย ต้องคุมร่วมไปด้วยเพื่อไม่ให้อวัยวะที่เปลี่ยนเกิดความบกพร่องรอบใหม่ ส่วนใหญ่จะนัดเช็คร่างกายทุกๆ 3 เดือน การดูแลตัวเอง คือการรักษาสุขภาพให้ดีมีการฝึกซ้อมที่สม่ำเสมอและในระหว่างการวิเคราะห์หากพบความผิดปกติควรปรึกษาแพทย์ทันทีเมื่อหัวใจแข็งแรงร่างกายก็จะแข็งแรงไปด้วย

พญ.ผ่องพรรณ ทานาค อายุรกรรมโรคไต โรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวว่า การดูแลตัวเองของคนไข้ที่เปลี่ยนไตคือการทานยากดภูมิให้สม่ำเสมอตรงต่อเวลา การใช้ชีวิตหลังเปลี่ยนไตคนไข้สามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงกับคนปกติทั่วไปไม่มีขีดจำกัดของการเล่นกีฬา การออกกำลังกายหรือการทำงาน โดยเฉพาะคนที่ออกกำลังกายโดยใช้เวลานานเช่นวิ่งมาราธอน การดื่มน้ำต้องทานให้เพียงพอ นอกจากเรื่องของการออกกำลังกายเพื่อส่งเสริมสุขภาพแล้วคนไข้ที่เปลี่ยนไตต้องระวังในเรื่องของการรับประทานยาให้ตรงต่อเวลาการดื่มน้ำ

และการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ ในส่วนของการรับประทานอาหารคนไข้ที่เปลี่ยนไตสามารถรับประทานอาหารได้เหมือนคนปกติทั่วไปได้เลยแต่ควรเลี่ยงอาหารที่มีรสชาติหวานมันเค็ม  ภายหลังจากการเปลี่ยนอวัยวะ การตรวจสุขภาพมีความสำคัญอย่างมากต้องมาตรวจเช็คสุขภาพตามนัดอย่างสม่ำเสมอเพื่อเช็คสภาพว่าอวัยวะที่รับการเปลี่ยนยังแข็งแรงดีหรือไม่ สิ่งที่สำคัญนอกจากการตรวจเช็คในเรื่องไตแล้วก็คือการตรวจเช็คหัวใจเพราะหัวใจต้องพร้อมด้วยว่าไม่มีปัญหาเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายในการออกกำลังกายตามมา

นางสาวศิวาพร บุญยะ วัย 41 ปี นักกีฬาแบดมินตันและปิงปองสมาคมกีฬาผู้เปลี่ยนอวัยวะแห่งประเทศไทยจากการแข่งขันกีฬาผู้เปลี่ยนอวัยวะโลกครั้งที่ 22 (2019 World Transplant Games) ผู้คว้ารางวัลได้ถึง 6 เหรียญรางวัล กล่าวว่า หลังจากเปลี่ยนไต สุขภาพและคุณภาพชีวิตกลับมาใกล้เคียงกับความปกติ ต้องขอขอบคุณผู้บริจาคไต ที่ทำให้ได้กลับมาใช้ชีวิตอย่างมีความสุข และพัฒนาตัวเองจนสามารถคว้าเหรียญรางวัลในระดับนานาชาติ ถือเป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่าและน่าภาคภูมิใจยิ่ง

นายสุวรรณ บำรุง นักกีฬาวิ่งสมาคมกีฬาผู้เปลี่ยนอวัยวะแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หลังจากเปลี่ยนหัวใจก็กลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติการหายใจไม่เหนื่อยเหมือนก่อนผ่าตัด การดูแลตัวเองหลังการผ่าตัดสำคัญมากเพราะเชื่อว่าหลังเปลี่ยนหัวใจมาก็เหมือนได้ชีวิตใหม่ เราต้องดูแลตัวเองโดยการออกกำลังกาย การรับประทานอาหารเรายิ่งต้องระวังให้มาก นี่คือจุดสำคัญ ทุกวันนี้ผมคุมอาหารโดยการลดการกินอาหารรสเค็ม รสหวานลง และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

สมาคมกีฬาผู้เปลี่ยนอวัยวะแห่งประเทศไทย เป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การสนับสนุนของการกีฬาแห่งประเทศไทย ด้วยการส่งเสริมเผยแพร่การกีฬาให้ผู้เปลี่ยนอวัยวะได้รู้จักออกกำลังกายด้วยการเล่นกัฬาเพื่อที่จะนำไปสู่การพัฒนาสมรรถภาพทางกายมุ่งสู่ความเป็นเลิศทางการกีฬาผู้เปลี่ยนอวัยวะ และจะต้องให้การสนับสนุนและผลักดันนักกีฬาผู้เปลี่ยนอวัยวะให้มีศักยภาพทางด้านกีฬาในการชิงชัยในการแข่งกีฬาผู้เปลี่ยนอวัยวะโลก

สมาคมฯได้มีการผลักดันนักกีฬาผู้เปลี่ยนอวัยวะ เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาผู้เปลี่ยนอวัยวะโลกมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2532 ณ ประเทศสิงคโปร์ เรื่อยมา โดยทางสมพันธ์กีฬาผู้เปลี่ยนอวัยวะโลกจะมีการกำหนดและจัดการแข่งขันขึ้นทุก 2 ปี โดยในการแข่งขันกีฬาผู้เปลี่ยนอวัยวะโลกครั้งที่ 22 (2019 World Transplant Games) สมาคมฯได้ส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขัน 55 คน เพื่อสร้างชื่อเสียงให้ประเทศชาติ และเพื่อสนับสนุนการกีฬาในกลุ่มของผู้เปลี่ยนอวัยวะ ให้เป็นที่แพร่หลาย จนสามารถสร้างการตระหนักถึงประโยชน์ของการบริจาคอวัยวะเพื่อผู้ป่วยให้มากขึ้น