วงการแพทย์ค้านโฆษณาเรื่องการตรวจพันธุกรรม

36

ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยและราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสมาคมเวชพันธุศาสตร์และจีโนมิกส์ทางการแพทย์ แถลงการณ์จุดยืนร่วมกัน เรื่อง “เท็จหรือแท้ : โฆษณาการตรวจยีน” ค้านการโฆษณาเรื่องการตรวจพันธุกรรมที่ดูเหมือนกับว่าจะทำได้อย่างกว้างขวาง จนสามารถตรวจหาศักยภาพหรือสมรรถภาพของเด็กได้แต่เริ่มแรก หรือใช้คัดเลือกอาหารที่เหมาะสมกับร่างกาย หรือสมรรถนะทางกีฬาและการออกกำลังกายที่เหมาะสม ตลอดไปจนการตรวจความเสี่ยงของโรคต่าง ๆ ซึ่งพบว่าการตรวจที่โฆษณากันมากมายเหล่านี้ ไม่มีหลักฐานรองรับทางวิทยาศาสตร์

ศ.นพ.สมชาย เอี่ยมอ่อง ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากสถานการณ์ปัจจุบันมีการเสนอการตรวจสารพันธุกรรมเพื่อทำนายความเสี่ยงในการเกิดโรคหรือปัญหาสุขภาพ ตลอดจนวิถีชีวิตและสุขภาพ โดยอ้างหลักการการเข้าถึงข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคล เพื่อการดูแลสุขภาพที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตามลักษณะของโรคหรือวิถีชีวิตและศักยภาพดังกล่าว เป็นลักษณะที่ซับซ้อน ไม่ได้ถูกกำหนดด้วยลักษณะทางพันธุกรรมเพียงอย่างเดียว ยังมีปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตอื่น ๆ ทำให้การใช้ประโยชน์จากการตรวจในลักษณะนี้ไม่มีประสิทธิภาพที่แท้จริง แตกต่างไปจากการตรวจโรคพันธุกรรมที่เกิดจากยีนเดี่ยวหรือปัจจัยทางพันธุกรรมที่ชัดเจน เช่น ความผิดปกติของโครโมโซม ที่มีประโยชน์ในการวินิจฉัย การพยากรณ์โรค และการถ่ายทอดลักษณะดังกล่าวในครอบครัวที่ชัดเจน

ดังนั้นเพื่อตระหนักถึงปัญหาที่อาจจะเกิดจากการที่ผู้รับบริการไม่ได้รับข้อมูลที่เพียงพอในการตัดสินใจเลือกการตรวจสารพันธุกรรม ตลอดจนอาจมีการชี้นำจากการกล่าวอ้างที่ไม่ได้รับการพิสูจน์ถึงความถูกต้อง และแม่นยำ ที่อาจเกิดการตัดสินใจที่ผิดพลาดทางการแพทย์ หรือเพิกเฉยละเลยต่อการตรวจคัดกรองหรือการดูแลที่จำเป็น ทางสมาคมเวชพันธุศาสตร์และจีโนมิกส์ทางการแพทย์ ซึ่งเป็นสมาคมผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมด้านพันธุศาสตร์การแพทย์และจีโนมิกส์ทางการแพทย์ได้ร่วมกับราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย, ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยและราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย จึงออกแถลงการณ์จุดยืน เพื่อเป็นการให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไป ตลอดจนใช้เป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาการตรวจสารพันธุกรรมเพื่อทำนายความเสี่ยงในการเกิดโรคในลักษณะบริการเชิงพาณิชย์ในครั้งนี้

ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันมีการประชาสัมพันธ์เรี่องการตรวจยีนหรือ ดีเอนเอ แพร่หลายในสื่อสังคมต่าง ๆ โดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์และโซเชียลมีเดียโดยไม่ต้องผ่านแพทย์ ซึ่งต้องระวังผลกระทบที่เกิดจากการตรวจยีนไว้ด้วย โดยการตรวจยีนโดยทั่วไปมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ 3 ประการ คือ 1. การตรวจเพื่อดูว่าเป็น พ่อ แม่ ลูก กันจริงหรือไม่ อาจรวมถึงการเป็นญาติพี่น้องสายตรงด้วย 2. การตรวจทางนิติวิทยาศาสตร์เพื่อดูว่าคนร้ายเป็นคนเดียวกับที่มีหลักฐานในที่เกิดเหตุหรือไม่ และ 3. การตรวจทางการแพทย์ที่จะหาโรคทางพันธุกรรม ซึ่งผลการตรวจยีน ต้องอาศัยการแปลผลและคำแนะนำที่ชัดเจน ต้องการเซ็นใบยินยอมก่อนตรวจบอกผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น การรักษาความลับของผู้ป่วย ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากข้อมูลการตรวจรวมทั้งความสัมพันธ์ในครอบครัว ความผิดพลาดที่อาจจะเกิดจากการตรวจ แนวทางรักษาหรือป้องกันโรคอาจเปลี่ยนไป เมื่อทราบข้อมูลของการตรวจพันธุกรรมแล้ว

อ.นพ.ประสิทธิ์ เผ่าทองคำ สมาคมเวชพันธุศาสตร์และจีโนมิกส์ทางการแพทย์ และอาจารย์ประจำสาขาเวชพันธุศาสตร์และจีโนมิกส์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัจจุบันมีการโฆษณาชวนเชื่อว่า การตรวจพันธุกรรมสามารถทำนาย พัฒนาการ บุคลิกภาพ สมรรถภาพทางร่างกาย ตลอดจนการเลือกสารอาหารเสริมที่เหมาะสมแก่ร่างกายได้ และการตรวจความเสี่ยงโรคที่พบบ่อยโดยทั่วไป เช่น ภาวะสมองเสื่อม เบาหวาน เป็นต้น ซึ่งจากหลักฐานในปัจจุบัน เชื่อว่าพันธุกรรมอาจมีบทบาทในเรื่องเหล่านี้ แต่เนื่องจากยังมีปัจจัยอื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องอย่างมากและไม่มีข้อมูลหรือหลักฐานวิทยาศาสตร์สนับสนุนการใช้การตรวจทางพันธุกรรมเพื่อทำนายลักษณะดังกล่าวได้อย่างได้ผล จึงไม่ควรสนับสนุนแพทย์ที่ทำเวชปฏิบัติโดยอิงวิทยาศาสตร์ทุกคน และไม่ควรให้คำแนะนำให้มีการตรวจในลักษณะนี้ในทางการแพทย์ การตรวจในลักษณะดังกล่าวเนื่องจากอาจนำไปสู่การแปลผลที่ผิดพลาดรุนแรง การเลี้ยงดูเด็กที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ขัดขวางพัฒนาการ การจำกัดอาหารหรือได้อาหารเสริมที่ราคาแพง แต่ไม่มีประโยชน์ที่เห็นได้และบางครั้งอาจจะเกิดโทษ ตลอดจนตราบาปหรือการจำแนกชั้นในสังคมจากผลการตรวจ