สพฉ.จัดทำคลิป ลำดับภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉินทางการแพทย์

30

สพฉ.จัดทำคลิปวีดีโอรณรงค์สร้างความเข้าใจให้กับประชาชนถึงภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉินทางการแพทย์ ที่ต้องได้รับรักษาอย่างเร่งด่วน หลังพบข้อมูลผู้ป่วยกว่า 60 เปอร์เซ็นต์มาพบแพทย์ที่ห้องฉุกเฉินด้วยอาการไม่ฉุกเฉิน พร้อมระบุตัวอย่างการแบ่งสีกลุ่มผู้ป่วย แดง ชมพู เขียว เหลือง ขาว ให้ประชาชนแยกอาการเจ็บป่วยของตนเองได้ง่ายๆ ก่อนเข้ารับการรักษา พร้อมวอนเข้าใจทีมแพทย์ที่ต้องเร่งรักษาผู้ป่วยสีแดงซึ่งเป็นคนไข้ฉุกเฉินที่ได้รับอันตรายถึงชีวิตก่อนเพราะทุกนาทีหมายถึงชีวิตของผู้ป่วย

นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย

นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้ออกมาเปิดเผยว่า ขณะนี้สพฉ.ได้จัดทำคลิปรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมีความเข้าใจถึงระบบการทำงานและการตรวจรักษาคนไข้ของทีมแพทย์จากห้องฉุกเฉิน ซึ่งในห้องฉุกเฉินนั้นผู้ป่วยที่ควรได้รับการดูแลรักษาเป็นอันดับแรกคือ ผู้ป่วยฉุกเฉินทางการแพทย์ที่มีความรุนแรงถึงแก่ชีวิต แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นในข้อเท็จจริงกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยในห้องฉุกเฉินนั้น ไม่ใช่ผู้ป่วยฉุกเฉินทางการแพทย์ ทำให้ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องรับการรักษาในห้องฉุกเฉินจริงๆ ได้รับผลกระทบจากการรักษาพยาบาลที่ล่าช้า จนอาจส่งผลถึงอันตรายต่อชีวิตของผู้ป่วยฉุกเฉินด้วย ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ สพฉ.จึงได้จัดทำคลิปวีดีโอออกมา 2 ชุดเพื่อรณรงค์ให้ประชาชนได้เข้าใจถึงอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินขึ้น โดยประชาชนทั่วไปสามารถคลิกเข้ารับชมคลิปวิดีโอได้ที่ยูทูบของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ หรือคลิกเข้ารับชมคลิปวีดโอทั้ง 2 ชุดได้ที่ลิงค์

ซึ่งเราหวังว่าหลังจากคลิปวีดีโอ 2 ชุดนี้เผยแพร่ออกไปแล้วจะทำให้ประชาชนเข้าใจในอาการเจ็บป่วยของตนเองและประเมินตนเองก่อนเข้ามาพบแพทย์ได้

รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า คลิปวีดีโอที่เราจัดทำขึ้นนี้จะบอกอาการของผู้ป่วยฉุกเฉินทางการแพทย์ทั้ง 5 ระดับตามหมวดสีต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน ดังนี้
1. กลุ่มสีแดงคือกลุ่มคนไข้ฉุกเฉินที่ได้รับอันตรายถึงชีวิตจะต้องได้รับการรักษาที่เร่งด่วนทันทีโดยผู้ป่วยในกลุ่มนี้จะมีอาการเบื้องต้นคือมีภาวะหัวใจหยุดเต้น ความดันโลหิตและสัญญาณชีพไม่ปรกติ
2.กลุ่มคนไข้สีชมพู คือผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บป่วยรุนแรงมีภาวะเสี่ยงต่อการเสียชีวิตต้องได้รับการตรวจภายใน 10 นาที โดยอาการเบื้องต้นของผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีภาวะซึม สับสน เจ็บหน้าอกและหัวใจเต้นผิดจังหวัด
3.กลุ่มสีเหลืองคือผู้ป่วยที่ภาวะฉุกเฉินระดับปานกลาง ต้องได้รับการตรวจรักษาภายใน 30 นาที โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้จะเป็นผู้ป่วยที่มีอาการปวดท้อง ตัวเกร็ง ตัวงอ มีไข้มากกว่า 40 องศาเซลเซียส และสูญเสียการมองเห็นฉับพลัน
4. กลุ่มผู้ป่วยสีเขียวคือผู้ป่วยเจ็บเล็กน้อย ต้องได้รับการตรวจรักษาภายใน 1ชั่วโมง เช่นผู้ป่วยที่มีอาการปวดศีรษะ อาเจียน มีไข้ต่ำกว่า 40 องศาเซลเซียส
5. กลุ่มสีขาวคือผู้ป่วยนอกหรือผู้ป่วยทั่วไปที่มีไข้ปวดศีรษะเล็กน้อย หรือผู้ป่วยที่มารับยากลับบ้านซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้ ควรได้รับการตรวจภายใน 2 ชั่วโมง

“ปัจจุบันนี้มีผู้ป่วยจำนวนมากที่มาใช้บริการห้องฉุกเฉิน ทำให้เกิดความไม่เข้าใจระหว่างประชาชนผู้ใช้บริการกับเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการ ซึ่งประชาชนบางส่วนยังไม่ทราบว่าทีมแพทย์ห้องฉุกเฉิน จะต้องให้การช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินทางการแพทย์หรือผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตก่อนเพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับผู้ป่วยฉุกเฉินหรือคนที่เจ็บป่วยหนักให้มากที่สุด เราจึงหวังว่าการทำคลิปวีดีโอรณรงค์ 2 คลิปนี้ออกมาจะช่วยสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนที่จะเข้ามาใช้บริการในโรงพยาบาลได้

อย่างไรตามหากประชาชนทั่วไปที่เริ่มรู้สึกว่าตนเองมีอาการเจ็บป่วย ควรรีบไปพบแพทย์ในช่วงเวลาทำการปกติ (เวลา 08.00 – 16.00 น.) เพื่อให้แพทย์ที่ออกตรวจในเวลาปรกติสามารถตรวจรักษาและวินิจฉัยอาการได้ ไม่ควรรอจนรู้สึกว่าตนเองมีอาการป่วยจนทนไม่ไหว และที่สำคัญหากเป็นกรณีของการเจ็บป่วยฉุกเฉินหรือหากเราพบผู้ป่วยฉุกเฉินที่ต้องได้รับการรักษาทางการแพทย์ทันทีให้รีบโทรแจ้งสายฉุกเฉิน 1669 ซึ่งทีมแพทย์จะรีบเข้าให้การช่วยเหลือและนำผู้ป่วยส่งไปรักษายังโรงพยาบาลได้อย่างทันท่วงทีในอีกช่องทางหนึ่งด้วย” นพ.ไพโรจน์ระบุ