โรค NCDs (Non-communicable diseases) คือโรคที่ไม่ติดต่อเรื้อรังที่จะค่อยๆ แสดงอาการและทวีความรุนแรงขึ้น และเกิดเป็นอาการเรื้อรัง เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคเบาหวาน และโรคจิตเวช ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องจะทำให้เกิดความทุพพลภาพและการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ซึ่งล่าสุด บริษัท อัพจอห์น (ประเทศไทย) จำกัด ได้จัดงาน “Upjohn Day” เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการรักษาโรค NCDs ของบุคลากรทางการแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ
ศ.เกียรติคุณ นพ.อภิชาต สุคนธสรรพ์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาล ผู้อำนวยการแผนกอายุรกรรม และหัวหน้าศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่ กล่าวว่า โรค NCDs เกิดจากการมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ผิดปกติ การทานอาหารไม่ถูกวิธี การเพิ่มน้ำหนักตัว ความเครียด รวมทั้งการเปลี่ยนวิถีชีวิตจากคนชนบทเป็นคนเมือง ซึ่งมีการศึกษาว่า การย้ายถิ่นฐานเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของการเป็นโรค NCDs ในไทย ภาวะที่น้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้นนำไปสู่การเกิดเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันเลือดผิดปกติ จากปัจจัยเหล่านี้ ทำให้เกิดภาวะที่หลอดเลือดแข็งตัวและนำไปสู่โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคที่เกี่ยวข้องกับเลือดที่ไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายโดยเฉพาะแขนขา ทำให้เป็นอัมพาตและเสียชีวิต
“ในอนาคตอันใกล้ โรค NCDs จะเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน ถ้าเราไม่ได้แก้ที่ปัจจัยต้นเหตุ ที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่สามารถหยุดยั้งความชุกของโรคได้ แม้ว่าจะมีการรณรงค์ต่างๆ ของภาครัฐและเอกชน เช่น รณรงค์ไม่ให้อ้วนเกินไป การลดรอบพุง การทานเกลือให้น้อยลงเพื่อควบคุมความดันโลหิต การรับประทานอาหารให้ถูกวิธี การรณรงค์งดสูบบุหรี่เพราะการสูบบุหรี่เป็นสิ่งเสริมทำให้หลอดเลือดแข็งตัวเร็วขึ้น การรณรงค์หลายอย่างประสบความสำเร็จ แต่ยากที่จะให้คนทั่วไปปฏิบัติตาม เพราะเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล โรค NCDs จึงนับเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย”
ศ.เกียรติคุณ นพ.อภิชาต กล่าวต่อไปว่า โรค NCDs อย่างเช่น โรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองจะใช้เวลาในการแสดงอาการช้าๆ ช่วง 5-10 ปี แต่เป็นโรคที่มีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง อีกทั้งผู้คนที่เคยมีชีวิตปกติเมื่อป่วยเป็นโรคนี้ทำให้เกิดเป็นอัมพาตจนไม่สามารถกลับไปทำงานได้ ทำให้เกิดการสูญเสียในรายบุคคลและมีผลต่อการสร้างรายได้สู่ครอบครัวและสังคม ส่งผลกระทบต่อภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนเป็นภาระของภาครัฐในอนาคต ซึ่งภาครัฐต้องจัดหางบประมาณรองรับเพราะการป้องกันและการรักษาเป็นเรื่องจำเป็น
“สำหรับแนวทางการรักษาโรคที่ถูกต้อง คือ การใช้ยาและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเราเอง ซึ่งจะต้องได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญหรือสมาคมวิชาชีพ กระทรวงสาธารณสุข หรือข้อมูลด้านสุขภาพจากองค์กรที่น่าเชื่อถือ ไม่ควรรับประทานยารักษาเอง เพราะหลายคนได้รับข้อมูลที่ผิดและใช้ยารักษาโรคบางอย่างที่ไม่ตรงตามที่แพทย์แนะนำ ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้ป่วย” ศ.เกียรติคุณ นพ.อภิชาต กล่าว
สำหรับโรคจิตเวชซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มโรคหลักของโรค NCDs นพ. ธรณินทร์ กองสุข ผู้อำนวยการสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา กล่าวว่า ปัญหาสุขภาพจิตเป็นปัญหาที่แทรกอยู่กับโรคทางกายแทบทุกโรค และมีจำนวนหนึ่งที่เกิดเองโดยไม่เกี่ยวกับโรคทางกาย ซึ่งความเจ็บป่วยทางจิตเวชหรือปัญหาสุขภาพจิตส่งผลต่อสุขภาพของคนไทยอย่างมาก โดยโรคซึมเศร้าเป็นโรคก่อให้เกิดการสูญเสียเป็นลำดับ 3 รองจากโรคเบาหวานและโรคหลอดเลือดที่เกิดกับคนไทย จึงเป็นโรคที่ต้องให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหา เนื่องจากผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มีอาการรุนแรงจะเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย โดยจากการศึกษาพบว่า คนไทยตั้งแต่อายุ 15 ปีขึ้นไปป่วยเป็นโรคซึมเศร้าประมาณ 1.5 ล้านคนและมีผู้ป่วยจำนวนประมาณ 10-15% ที่เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย
“ช่วงแรกคนไม่เข้าใจว่าโรคซึมเศร้าเป็นโรค เข้าใจว่าการสูญเสียคนรัก ทำให้มีอารมณ์เศร้าเป็นธรรมดา อารมณ์เศร้าเป็นอารมณ์ปกติของคน จึงไม่ใส่ใจ แต่กว่าจะรู้ตัว คนนั้นก็เสียชีวิตเพราะฆ่าตัวตายจากโรคซึมเศร้าแล้ว อีกทั้งเมื่อ 10 ปีก่อน การรักษาโรคซึมเศร้ายังไม่ขยายไปถึงโรงพยาบาลชุมชน ปัจจุบันสถานการณ์ดีขึ้น วิวัฒนาการการรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น อัตราการเข้าถึงบริการเพิ่มขึ้น จึงป้องกันการเป็นโรคซ้ำและป้องกันกันฆ่าตัวตาย โดยผู้ป่วยในระบบการรักษาจะมีอัตราการฆ่าตัวตายน้อยลงประมาณ 0.1% หรือทั้งปีมีการฆ่าตัวตาย 1 คนหรือไม่มีเลย ขณะที่ผู้ป่วยที่ไม่อยู่ในระบบการรักษาจะมีอัตราการฆ่าตัวตายประมาณ 10-15%”
“การรักษาโรคซึมเศร้าที่ดีที่สุด ณ ขณะนี้ คือ การใช้ยาต้านเศร้าร่วมกับจิตบำบัด เพื่อแก้ไขปรับความคิดและพฤติกรรมของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ซึ่งโรคซึมเศร้าสามารถหายได้ โดย 35% ที่ทานยาแล้วหาย แต่มีประมาณ 50% ที่เป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าหนึ่งครั้งในชีวิต เพราะโรคนี้ต้องได้รับการรักษาต่อเนื่อง ผู้ป่วยจะต้องกินยาติดต่อกันประมาณ 6-9 เดือน แต่ปัญหาคือ การทานยาไม่ครบทำให้กลับเป็นซ้ำได้ ประชาชนที่มีปัญหาสุขภาพจิต เครียด ไม่สบายใจ อย่าลังเลที่จะมารักษา สามารถโทรสายด่วนได้ตลอด 24 ชั่วโมงหรือไปโรงพยาบาลชุมชนหรือโรงพยาบาลจิตเวชเพื่อปรึกษาได้” ผู้อำนวยการสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยากล่าวทิ้งท้าย
โรค NCDs เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของคนไทยประมาณ 350,000 คนต่อปี หรือ หรือเทียบเท่าคนไทย 1,000 คนเสียชีวิตด้วยโรค NCDs ในแต่ละวัน ทั้งที่โรค NCDs สามารถป้องกันได้ จึงถึงเวลาที่เราควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการดำเนินชีวิตให้ถูกต้อง เช่น การกินอาหารให้ถูกสุขลักษณะ ไม่สูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบอันตราย ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะช่วยลดอัตราผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตที่ต้นเหตุ และแก้ไขปัญหาโรค NCDs ที่เป็นภัยเงียบคร่าชีวิตคนไทยได้อย่างยั่งยืน