มโนราห์เหยียบเสน ภูมิปัญญาอาเซียน
การแพทย์เหนือธรรมชาติ ศาสตร์มนต์รักษา
ในการประชุมมหกรรมสุขภาพอาเซียน โดยโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-19 พ,ค60 โดยได้เชิญเครือข่ายหมอยาพื้นบ้านอาเซียน 9 ประเทศ ประกอบด้วย กัมพูชา อินเดีย อินโดนีเซีย สปป.ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา ไทย มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และถ่ายทอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาดั้งเดิม ซึ่งหนึ่งในไฮไลท์ของงานคือ การรักษาของกลุ่มหมอเหนือธรรมชาติของไทย คือการใช้การรักษาที่เรียกว่า “มโนราห์เหยีบเสน”
เสน คือ ปานแดงหรือดำ ที่มีลักษณะนูนใหญ่และปรากฏบนใบหน้าทำให้เด็กดูไม่สวยงามและอาจเกิดการเสียความมั่นใจในอนาคต การแพทย์พื้นบ้านภาคใต้ (ระนอง สุราษฏร์ธานี) จึงได้มีการรำมโนราห์เหยียบเสนเพื่อรักษาอาการดังกล่าว ทั้งนี้การรำมโนราห์เหยียบเสนต้องมีพิธีกรรมของมโนราห์ร่วมด้วยและไม่ใช่ใครจะสามารถรำเหยียบก็ได้ โดยหมอพื้นบ้านทางใต้จะมีทั้งการใช้พืช สัตว์ คุณธรรม พิธีกรรม และไสยศาสตร์ผสมผสานกัน
ในพิธีกรรม การเหยียบเสนต้องใช้ทั้งหมอพื้นบ้าน และหมอมโนราห์ จะเตรียมอุปกรณ์ที่ใช้ในพิธี ดังนี้ มีดหมอที่ผ่านพิธีการสวดและลงอักขระมาแล้ว(ทางใต้ใช้ กริช) ดินสอที่ผ่านพิธีการสวดยัดมาแล้ว ไม้ปังยายา เหรียญครุฑ 3 เหรียญ หินผ่านฟ้า (หินที่ถูกฟ้าผ่า) หรือ หินพรายดำซึ่งใช้สำหรับเหยียบเสนดำ หน้ากากมโนราห์ (ในที่นี้ใช้หน้ากากพรานบุญ) และน้ำมนต์
แม่ของเด็กที่มาเข้าพิธีเหยียบเสน จะต้องเตรียมอุปกรณ์เข้าร่วมพิธี คือ หิน ทราย ข้าวสามรวง ดอกไม้สามดอก เหรียญบาท ๓ เหรียญ ทองคำแท้(เช่น สร้อยทอง)
จากนั้นก็จะเริ่มทำพิธี โดยเริ่มจากหมอพื้นบ้าน ทำการภาวนาตั้งนะโมสามจบ สวดบทชุมนุมเทวดา บนบานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จากนั้น หมอมโนราห์ ทำการลงยันต์ที่นิ้วโป้งเท้าขวาด้วยดินสอที่ผ่านการสวดยัด ทำการไหว้ครู ร่ายรำในท่วงท่าของมโนราห์ ย่ำสามขุม เอานิ้วที่ลงยันต์แล้วแตะของในพานที่แม่เด็กเตรียม แล้วไปแตะที่เสน(หรือปาน)ที่ตัวเด็ก ทำเช่นนี้สามรอบ
หลังจากเหยียบเสนครบแล้ว หมอครูจะทำการเอากริชตัดเสน(เอามาทาบบนปาน) โดย ครูก็จะจับมือมโนราห์ทำด้วยกัน ทั้งนี้เพราะเชื่อว่าครูเป็นผู้มีศีลสูงกว่า และเอาไม้ปังยายา (คาถาไล่ปาน) มาวางแปะ เหรียญตราครุฑวางบนเสน และ หน้ากากมโนราห์ (หน้ากากพรานบุญ) วางแปะบนเสน แล้วท่องมนต์ว่า “พุทธังรักษา ธรรมมังรักษา สังฆังรักษา” ครูหมอพรมน้ำมนต์ กรวดน้ำอุทิศบุญกุศล เป็นอันจบ