กรมควบคุมโรคเผยสติเด็กจมน้ำ เตือนภัยลอยกระทง

233

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนในช่วงเทศกาลวันลอยกระทงปีนี้ให้ระมัดระวังอุบัติภัย 3 เรื่อง คือ 1.การจมน้ำ 2.การบาดเจ็บจากการจราจร และ 3.การบาดเจ็บจากพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ เผย 10 ปีที่ผ่านมา เฉพาะวันลอยกระทงวันเดียวเด็กจมน้ำเสียชีวิตเฉลี่ยวันละเกือบ 5 ราย มากกว่าในช่วงวันปกติเกือบ 2 เท่า แนะไม่ปล่อยให้เด็กลงเก็บกระทง เพราะอาจเป็นตะคริวทำให้จมน้ำเสียชีวิตได้  และเตือนให้ระมัดระวังการใช้รถใช้ถนน หลีกเลี่ยงการดื่มสุราขณะขับขี่  รวมถึงการจุดพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ ที่อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บรุนแรง พิการหรือเสียชีวิตได้

นายแพทย์สุวรรณชัย  วัฒนายิ่งเจริญชัย  อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า วันลอยกระทงในปี 2560 นี้ ตรงกับวันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายน  ซึ่งในแต่ละพื้นที่จะมีการจัดกิจกรรมตามประเพณีและมีประชาชนจำนวนมากร่วมงานดังกล่าว ความเสี่ยงจากการจมน้ำของเด็กก็จะมากขึ้น เนื่องจากเด็กมักจะอยู่ใกล้แหล่งน้ำเพื่อลอยกระทงทำให้มีโอกาสเสี่ยงที่จะพลัดตกลื่นลงไปได้ และเหตุการณ์ที่มักพบเห็นกันบ่อยๆ คือ การมักลงไปเก็บเศษเงินในกระทง ในขณะที่กลุ่มผู้ใหญ่ความเสี่ยงจะเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากมีการดื่มสุราเข้ามาเกี่ยวข้อง

จากข้อมูลช่วง 10 ปีที่ผ่านมา(ปี 2550-2559) ช่วงเทศกาลลอยกระทง 3 วันคือ ก่อนวันลอยกระทง วันลอยกระทง และหลังวันลอยกระทง พบว่ามีคนจมน้ำเสียชีวิตมากถึง 401 ราย โดยเป็นเด็ก (อายุต่ำกว่า 15 ปี) ถึง 111 รายหรือร้อยละ 27.7 เฉพาะในวันลอยกระทงวันเดียวมีคนจมน้ำเสียชีวิตสูงถึง 154 ราย โดยเป็นเด็ก 49 ราย (ร้อยละ 31.8) เฉลี่ยวันละเกือบ 5 ราย  ซึ่งมากกว่าในช่วงวันปกติเกือบ 2 เท่า นอกจากนี้ ยังพบว่าเป็นชายมากกว่าหญิงประมาณ 2 เท่า และเกือบครึ่งหนึ่งของเด็กที่จมน้ำในวันลอยกระทงพบว่าเป็นกลุ่มเด็กอายุ 5-9 ปี (ร้อยละ 47.1)

ในช่วงเทศกาลลอยกระทงของปี 2559 ที่ผ่านมา มีข้อสังเกตสำคัญ คือก่อนวันลอยกระทง 1 วัน มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตถึง 7 ราย มากที่สุดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อาจเป็นเพราะในวันลอยกระทงปีที่ผ่านมาตรงกับวันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายน ทำให้ในวันอาทิตย์ซึ่งตรงกับวันหยุดผู้ปกครองจะพาเด็กไปลอยกระทงกันจำนวนมากกว่าในวันลอยกระทง (เช่นเดียวกับทุกๆปี ที่จะพบว่าหากวันลอยกระทงตรงกับวันหยุดจะมีเด็กจมน้ำมากกว่าวันธรรมดา) และในปีนี้วันลอยกระทงตรงกับวันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายน      ซึ่งวันรุ่งขึ้นตรงกับวันหยุดอาจมีโอกาสเสี่ยงทำให้เด็กจมน้ำเพิ่มมากขึ้นได้

ข้อแนะนำเพื่อป้องกันเด็กจมน้ำในช่วงลอยกระทงตามมาตรการ “3 ห้าม” ดังนี้ ห้าม: ปล่อยเด็กไว้ตามลำพัง ห้าม: ห้ามเด็กอยู่ใกล้ขอบบ่อห้าม: ห้ามไปเก็บเงินในกระทง โดยมีข้อปฎิบัติ คือ 1.ผู้ปกครองควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิดไม่ให้คลาดสายตา และเพิ่มความระมัดระวังเมื่อนำเด็กเข้าใกล้แหล่งน้ำ 2.ไม่ปล่อยให้เด็กไปลอยกระทงกันเองตามลำพังและเก็บกระทงแม้จะอยู่บนฝั่งเพราะอาจพลัดตกได้ 3.เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ต้องอยู่ในระยะที่มองเห็นและเข้าถึง 4.สอนให้เด็กใช้นกหวีดเพื่อขอความช่วยเหลือ และ 5.ในกลุ่มผู้ใหญ่ควรหลีกเลี่ยงการดื่มสุราและลงน้ำ หากโดยสารเรือให้สวมเสื้อชูชีพทุกครั้งทั้งผู้ใหญ่และเด็ก

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า อีกปัญหาที่สำคัญในช่วงลอยกระทง คือ การบาดเจ็บจากการจราจร จากข้อมูลในช่วงวันลอยกระทง 3 วัน (ก่อนวันลอยกระทง วันลอยกระทง หลังวันลอยกระทง) ใน 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2557-2559) มีผู้เสียชีวิตจากการจราจร 421 ราย เฉลี่ยวันละเกือบ 50 ราย เพศชายเสียชีวิตมากกว่าพศหญิงประมาณ 4 เท่า กลุ่มอายุที่พบสูงสุดคืออายุ 15-24 ปี เสียชีวิต 103 ราย (ร้อยละ 25) จะเห็นได้ว่ากลุ่มที่เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นและเยาวชน ที่คาดว่าจะออกไปเที่ยวงานลอยกระทงจำนวนมาก ประกอบกับการจราจรที่หนาแน่นและเป็นช่วงเวลากลางคืนทัศนวิสัยไม่ดี จึงเป็นสาเหตุของการบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก  ดังนั้น ผู้ปกครองควรดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด หลีกเลี่ยงการสัญจรบริเวณสถานที่จัดงาน สวมหมวกนิรภัยทุกครั้งที่ขับรถจักรยานยนต์ และคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งเมื่อขับรถยนต์  ที่สำคัญหลีกเลี่ยงการดื่มสุราขณะขับขี่ ไม่ขับรถเร็ว และปฏิบัติตามกฎจราจร

ส่วนการจุดพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ ก็อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บรุนแรง พิการหรือเสียชีวิตได้  กรมควบคุมโรค จึงขอแนะนำประชาชน ดังนี้ 1.ไม่ควรเล่นผาดโผน ใกล้วัตถุไวไฟหรือบ้านเรือน  2.ไม่เก็บพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ ไว้ในกระเป๋าเสื้อ กางเกง หรือที่มีอากาศร้อน แสงแดดส่องเพราะทำให้เกิดการเสียดสีและระเบิดได้  3.ห้ามให้เด็กเล่นพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ  หากประชาชนพบเห็นผู้ได้รับบาดเจ็บ ขอให้รีบโทรแจ้งขอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์กู้ชีพ โทร 1669 และสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422