สสส. – Greenery จับมือแถลงข่าวหนังสือกินดี กรีนดี Eat Good, Live Green คู่มือเปลี่ยนแปลงตัวเองและโลกทั้งใบ เปิดหมดเปลือกเคล็ดลับกินดีตาม 5 ชนชาติ อาหารดีที่สุดในโลก พร้อมเรียนรู้โรคขาดธรรมชาติ ตอกย้ำความคิด ชีวิตดี…เริ่มที่เรา
สำนักพิมพ์ SOOK Publishing เปิดตัวหนังสือชุดกินดี กรีนดี Eat Good, Live Green ประกอบด้วยคู่มือ 2 เล่ม ได้แก่ คู่มือกินดี Eat Good Guide และ คู่มือกรีนดี Live Green Guide
นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สุขภาพดีเป็นพื้นฐานของคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนแสวงหา เราทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของโลก และทุกสิ่งบนโลกล้วนเชื่อมโยงกับตัวเรา ในยุคนี้การเลือกบริโภคอาหารกินที่ดีเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ควรทำควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อมรอบตัว สสส. เองได้สนับสนุนการผลักดันข้อเสนอและนโยบายในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ, เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 เพราะเราเห็นความสำคัญของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการสร้างปัจจัยทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะ และคุณภาพชีวิตที่ดี
“เนื้อหาในหนังสือชุดนี้ถูกรวบรวมขึ้นมาเพื่อช่วยเสริมสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) ให้กับผู้อ่าน ด้วยทางเลือกที่มีมากมาย เหมาะสำหรับผู้ที่กำลังมองหาวิธีดูแลสุขภาพ ผู้อ่านสามารถเลือกได้ว่าแนวทางใดที่เหมาะสมกับบริบทของตัวเอง แล้วนำมาปรับใช้ เพราะชีวิตดีไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ใคร แต่ชีวิตดี…เริ่มที่เรา” นางเบญจมาภรณ์ กล่าว
นายธนบูรณ์ สมบูรณ์ ผู้ก่อตั้งเครือข่าย Greenery กล่าวว่า คู่มือ Eat Good Guide รวบรวมและคัดสรรบทความจากเว็บไซต์ Greenery.org ที่จะชวนทุกคนเริ่มต้นการดูแลตัวเองง่ายๆ ด้วยการใส่ใจรายละเอียดของชีวิต ตั้งแต่การเลือก “กิน” อาหารที่ดี มีประโยชน์ ปลอดสารพิษ รู้จักเลือกแหล่งผลิตอาหารธรรมชาติจากเกษตรกรที่ใส่ใจ รู้วิธีปรุงอาหารอย่างตั้งใจด้วยสองมือของเรา เช่น ถอดรหัสเรื่องการกินจาก 5 ประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องอาหารดี แล้วดูว่ามีวิธีคิด วิธีเลือก และวิธีกินแบบใดที่สามารถนำมาปรับใช้กับโต๊ะอาหารบ้านเราได้บ้าง ส่วนคู่มือกรีนดี Live Green Guide เชิญชวนผู้อ่านมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเอง หันมาใช้วิถีชีวิตออร์แกนิก วิถีชีวิตเรียบง่าย รู้จักเลือกใช้ข้าวของในชีวิตประจำวันที่เป็นมิตรต่อโลกมากขึ้น พร้อมกลับไปเชื่อมโยงตัวเรากับธรรมชาติ เรียนรู้โรคขาดธรรมชาติที่มาพร้อมกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ฯลฯ