อว. ระดมพลัง พลิกโฉมมหาวิทยาลัยไทย ขึ้นแถวหน้าเวทีโลก

45

ทันทีที่ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีคนแรกในกระทรวงใหม่ถอดด้าม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ภารกิจสำคัญที่ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีเจ้ากระทรวง เร่งรัดให้เกิดขึ้นได้โดยเร็วที่สุด คือ การปรับลดข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปอุดมศึกษาและการพัฒนามหาวิทยาลัยตามกลุ่มยุทธศาสตร์ นโยบายด้านการพัฒนาระบบการศึกษาไทย

โดยในเดือนกันยายนที่ผ่านมา แผนงานนี้ได้เริ่มโดยการแบ่งคณะทำงานออกเป็น 3 ชุด 4 กลุ่มทำงาน ได้แก่ การแก้ปัญหาธรรมาธิบาล ด้านตำแหน่งทางวิชาการ ด้านกรอบมาตรฐานคุณวุฒิ หรือ มคอ. และด้านคุณภาพมหาวิทยาลัย พร้อมตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนและติดตามฯ โดยมี  รศ.ดร.พีระพงศ์ ทีฆสกุล อาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นประธานคณะทำงานขับเคลื่อนและติดตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและเทคโนโลยี พร้อมดูแลด้านธรรมาธิบาล และดูแลอีก 3 กลุ่มทำงาน  เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนประเทศตามแนวทางที่แต่ละมหาวิทยาลัยมีความเชี่ยวชาญ และภารกิจสำคัญคือการผลักดันมหาวิทยาลัยเข้าสู่ 100 อันดับแรกของโลกให้ได้ และวันนี้แผนงานก็ถูกขับเคลื่อนเดินหน้าอย่างแข็งขัน

รศ.ดร.พีระพงศ์ ทีฆสกุล กล่าวว่า ภาพรวมภารกิจที่คณะทำงานต้องมีบทบาทในการดูแล  2 ส่วนหลักๆ ส่วนแรก คือการปลดล็อคข้อจำกัดหรือกฎเกณฑ์ที่ครอบงำมหาวิทยาลัยอยู่มาก ทำให้อาจารย์และมหาวิทยาลัยทำงานไม่สะดวก  ประกอบไปด้วย

  1. ปลดล็อคระเบียบการตำแหน่งทางวิชาการเพื่อให้อาจารย์สามารถทำงานตอบโจทย์ประเทศ และนำมาใช้ขอตำแหน่งวิชาการ
  2. การปรับแก้มาตรฐานการสอนหลักสูตร เน้นเรื่องการสอน ทำให้การประเมินคุณภาพของหลักสูตร สั้นกระชับและเน้นคุณภาพที่แท้จริงมากกว่ากระบวนการ
  3. การแก้ไขปัญหาธรรมาธิบาล โดยวางแนวทางการได้มาของสภามหาวิทยาลัยที่ไม่เกิดการขัดผลประโยชน์ มีการดำเนินการไปแล้ว เช่น  การหารือกับหน่วยงานเอกชนที่ใช้หลักธรรมาธิบาลมาให้คำปรึกษา การนำวิธีการบริหารของมหาวิทยาลัยที่ทำดีแล้ว มาเป็นตัวอย่างและปรับใช้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน และอาจมีข้อกำหนดจากกระทรวงการอุดมศึกษาฯ

“แผนนโยบายใหม่นี้หากทำสำเร็จจะแก้ไขการเอื้อผลประโยชน์ หรือป้องกันให้มีผู้มาหาผลประโยชน์ภายในมหาวิทยาลัยอย่างไม่ชอบ เรื่องธรรมาภิบาลเป็นเรื่องที่ท้าทายและทำยากที่สุด แต่จะทำให้สำเร็จ” รศ.ดร.พีระพงศ์ กล่าว

ส่วนที่สอง คือการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย โดยเน้นให้มหาวิทยาลัยสามารถเปล่งศักยภาพตามความถนัดที่มีได้อย่างเต็มที่ จะมีการแบ่งกลุ่มมหาวิทยาลัยออกเป็น 3 กลุ่ม มีจุดเน้นที่แตกต่างกัน

ด้าน ศ.ดร.ศันสนีย์ ไชยโรจน์ อาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล ประธานทำหน้าที่แก้ไขปัญหาอุปสรรคของอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึงแผนงานที่ดำเนินการไปแล้วโดยเฉพาะเรื่องตำแหน่งวิชาการที่ระเบียบยังไม่ตอบโจทย์และไม่ทันสมัยว่า  มีการแต่งตั้งกรรมการให้ครบตามสาขาวิชาให้มากที่สุด และคณะทำงานต้องมีตำแหน่งทางวิชาการคือศาสตราจารย์ มีการแบ่งงานให้แต่ละสาขาไปดูว่า ควรมีการปรับปรุงอย่างไร ทั้งมหาวิทยาลัยภาครัฐและเอกชนที่ต้องแก้ไขกันทั้งระบบ  มีการทำประชาพิจารณ์ โดยเชิญคณะกรรมการ กพว. หรือคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเป็นผู้ทรงวุฒิซึ่งไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย มาเข้าร่วมประชุมหารือราว  500 คน และได้แสดงความคิดเห็นเต็มที่

“เราพบปัญหาอยู่ที่กระบวนการมากกว่าเกณฑ์ คือวิธีการขอ วิธีการตัดสิน เป็นหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัย อาจารย์ต้องกรอกแบบฟอร์มและข้อมูลผลงาน คณะกรรมการ กพว.จะแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ  การพิจารณาซึ่งอาจใช้เวลานาน  หรือการหาผู้ทรงคุณวุฒิไม่ตรงสาขา  อีกทั้งการพิจารณาโดยผู้ทรงคุณวุฒิบางครั้ง ใช้ความรู้สึกค่อนข้างมาก  ซึ่งสิ่งที่เรากำลังทำอยู่จะเปลี่ยนให้เป็นการตัดสินใจในหลักที่มีวิชาการจริง พิจารณาคุณภาพของผลงานทางวิชาการ  รวมทั้งระยะเวลาพิจารณาที่รวดเร็วขึ้น”   ศ.ดร.ศันสนีย์ กล่าว

ศ.ดร.สุรศักดิ์ วงศ์รัตนชีวิน อาจารย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประธานคณะทำงานย่อยด้านกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ (มคอ.) กล่าวถึงจุดมุ่งหมายของ มคอ.ว่า เป็นการประเมินการตรวจสอบหลักสูตรว่าได้มาตรฐานหรือไม่ อย่างไร เป็นหลักสูตรที่สามารถผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพจริงหรือไม่ ซึ่งหลักสูตรทั่วประเทศมีมากกว่า 6 พันหลักสูตร จึงจำเป็นต้องกรอกข้อมูลลงระบบอิเลคทรอนิกส์ทั้งหมด เพื่อการตรวจสอบง่ายขึ้น การประเมินหลักสูตรในปัจจุบันมีความยุ่งยาก ซับซ้อน  ไม่สามารถตรวจทีละหลักสูตรได้ สิ่งที่ รมต.อว.จะทำให้เกิดขึ้นคือ การปลดล็อค ยกเลิกแบบประเมิน  มคอ. บางข้อที่เป็นข้อมูลไม่จำเป็นหรือ ที่มีขั้นตอนมากมาย ซ้ำซ้อน ให้เหลือเพียง  มคอ. 2 ซึ่งเป็นภาพของหลักสูตร โดยมีเป้าหมายให้ได้ข้อมูลที่ใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง ตลอดจนเห็นภาพอัตรากำลังการผลิดบุคลากรด้านอุดมศึกษาของประเทศที่ชัดเจน คุณภาพของหลักสูตรต้องสามารถสะท้อนออกมาในรูปของผลการเรียนรู้ ของผู้เรียน เช่น ตลอดหลักสูตรมีนักศึกษาบรรลุผลการเรียนรู้ตามหลักสูตรเท่าไร  นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาเป็น แพทย์ หรือ วิศวกรมีศักยภาพและความสามารถเพียงใด ผลการเรียนรู้นั้นจะออกมาในรูปของ  Outcome Based Learning มากกว่าจำนวนนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษา นอกจากนี้ แบบ มคอ นั้นต้องไม่ทำให้หลักสูตรที่มีคุณภาพเป็นภาระ แต่ในทางตรงข้ามหลักสูตรที่ไม่มีคุณภาพต้องสามารถถูกตรวจสอบได้ง่ายขึ้น

“สิ่งที่เราอยากปรับคือเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตร ปรับให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมกับหลักสูตรได้ เช่น คนที่เก่งในภาคอุตสาหกรรม เข้ามาเป็นผู้สอนในมหาวิทยาลัย ด้วยการนำความรู้จากภาคอุตสาหกรรมมาบูรณาการ ก็จะทำให้เด็กมีความรู้ที่กว้างขึ้น  เราต้องปลดล็อคตรงนี้ ซึ่งการทำงานกลุ่มนี้ก้าวหน้าไปมากแล้ว คาดว่าพฤศจิกายน หรือธันวาคมปีนี้ การแก้ไขต่าง ๆ น่าจะแล้วเสร็จ อีกทั้งมีการปรับระบบการส่งข้อมูลของมหาวิทยาลัยในระบบ CHECO Online ให้ง่ายและสะดวกมากขึ้นด้วย ศ.ดร.สุรศักดิ์ กล่าว

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รัฐชาติ มงคลนาวิน อาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประธานคณะทำงานด้านคุณภาพของมหาวิทยาลัย เผยความคืบหน้าว่า คณะทำงานได้มีการเสนอจัดตั้งคณะที่ปรึกษา เพื่อพลิกโฉมมหาวิทยาลัย หรือ University Transformation Advisory Committee (UTAC) เพื่อสนับสนุน ส่งเสริมและติดตามการพลิกโฉมของมหาวิทยาลัยโดยผ่านการเห็นชอบของ กกอ.แล้ว การทำงานขั้นตอนต่อไป จะจัดทำคู่มือเพื่อช่วยมหาวิทยาลัยให้เริ่มต้นการประเมินศักยภาพและผลการดำเนินงานตามกลุ่มยุทธศาสตร์ของตนเองได้ โดย 3 กลุ่มตามยุทธศาสตร์ได้แก่ กลุ่มเน้นความเป็นเลิศระดับแนวหน้าของโลก กลุ่มเน้นตอบโจทย์การพัฒนาท้องถิ่นเชิงพื้นที่ และกลุ่มที่เน้นการสร้างเทคโนโลยี นวัตกรรมและผู้ประกอบการ เพื่อให้เกิดการพัฒนาไปในทิศทางเดียวกันในหลักการของการจัดกลุ่มยุทธศาสตร์  UTAC จะส่งเสริมให้แต่ละมหาวิทยาลัยจัดทำแผนการพลิกโฉม  (repositioning  plan) ของตัวเองเพื่อให้มหาวิทยาลัยได้มีพัฒนาการเชิงคุณภาพ สามารถแข่งขันได้และทันสมัยในยุคของการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว  ในระยะสั้นคณะทำงานเสนอให้มหาวิทยาลัยเข้าร่วมระบบประเมินตนเองที่เป็นที่ยอมรับระดับนานาชาติ เช่น U-Multirank , THE Impact ranking หรือ QS Star Rating แต่ละมหาวิทยาลัยสามารถประเมินได้ว่าตนเองอยู่ในระดับใด และมีความโดดเด่นด้านใด อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์มหาวิทยาลัยไทยในเวทีระดับโลกอีกด้วย

“คาดว่าปีหน้าจะได้เห็นผลว่ามีมหาวิทยาลัยไทยเก่งด้านไหน หรือต้องปรับเปลี่ยนตัวเองอย่างไร โดยเรากำลังตั้งหน่วยงานสนับสนุนและส่งเสริมการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยในกระทรวงขึ้นมา เป็นหน่วยงานที่ช่วยแนะนำและทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยให้พัฒนาตนเองต่อไปได้อย่างมีคุณภาพ ” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รัฐชาติ กล่าว

แผนงานทั้งหมดนี้ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ต้องใช้เวลาในการบูรณาการเพื่อวางพื้นฐานให้แข็งแรง เพื่อการศึกษาไทยจะได้ทะยานไปข้างหน้า แต่เชื่อว่า ทีมอเวนเจอร์ปลดล็อคมหาวิทยาลัยนี้ จะสามารถพลิกโฉมมหาวิทยาลัยไทยให้ก้าวขึ้นสู่แถวหน้าของเวทีโลกได้ได้ภายในปีงบประมาณ 2563