องค์การอนามัยโลกรายงานว่า ประชากรกว่า 360 ล้านคนทั่วโลกสูญเสียการได้ยิน โดยเกือบ 32 ล้านคนเป็นเด็ก และในจำนวนเด็กทั้งหมดที่พิการทางการได้ยิน อย่างน้อย 31 ล้านคนอยู่ในประเทศรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำ นอกจากนั้น 1 ใน 5 ของเด็กที่สูญเสียการได้ยิน เกิดขึ้นตั้งแต่คลอดออกมา ซึ่งการตรวจคัดกรองแต่เนิ่นๆ ว่าเด็กคนใดที่มีความพิการทางการได้ยิน จึงมีความสำคัญมาก เพื่อนำไปสู่มาตรการที่จำเป็น อาทิ การจัดหาเครื่องช่วยฟังและการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการได้ยินและฝึกการใช้ภาษา เป็นต้น
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ได้เห็นความสำคัญและสนับสนุนทุนวิจัยให้กับทีมวิจัยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ศึกษาวิจัยเรื่อง “การประเมินความพร้อมของระบบสุขภาพในการให้บริการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมและ การฟื้นฟูสมรรถภาพในประเทศไทย” เพื่อประเมินความพร้อมของระบบสุขภาพในการให้บริการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมและการฟื้นฟูสมรรถภาพในประเทศไทย และพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายในการปรับปรุงระบบบริการให้ครอบคลุมประชากรตามความจำเป็นด้านสุขภาพ
ปัจจุบันยังไม่มีนโยบายการคัดกรองภาวะความพิการทางการได้ยินที่ครอบคลุมในทารกแรกเกิดทุกคน มีเพียงการคัดกรองการได้ยินในทารกแรกเกิดกลุ่มเสี่ยง อีกทั้งไม่มีระบบส่งต่อการวินิจฉัยภาวะความพิการทางการได้ยินที่เป็นระบบอย่างชัดเจน การผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมก็ยังไม่อยู่ในรายการสิทธิประโยชน์สำหรับสำหรับคนพิการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและระบบประกันสังคม มีเพียงระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจเท่านั้นที่สามารถเบิกค่าผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมได้คนละ 1 ชุด โดยมีราคาไม่เกิน 850,000 บาท ตามข้อบ่งชี้ที่กำหนด พร้อมหลักฐานการตรวจการได้ยินจากแพทย์ ซึ่งประสาทหูเทียมเป็นเครื่องมือแพทย์ที่มีการควบคุมโดยพระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ. 2551 และพระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 รวมถึงยังถือเป็นเครื่องมือแพทย์ทั่วไปที่มีมาตรการกำกับควบคุมที่ไม่เข้มงวด แต่ในอนาคตจะมีการประกาศเป็นเครื่องมือแพทย์ประเภทที่ 4 ซึ่งผู้ประกอบการนำเข้าจะต้องขออนุญาตและได้รับ “ใบอนุญาต” แทน “หนังสือรับรองประกอบการนำเข้าเครื่องมือแพทย์”
ดร.ภญ.ปฤษฐพร กิ่งแก้ว นักวิจัยจากโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) กล่าวว่า แม้ว่ารัฐบาลจะสามารถจัดสรรงบประมาณสนับสนุนประสาทหูเทียมให้กับผู้พิการทางการได้ยินทุกราย แต่การให้บริการยังมีข้อจำกัดในด้านจำนวนบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เช่น นักเวชศาสตร์การฟื้นฟู (นักแก้ไขการได้ยิน นักแก้ไขการพูด) บุคลากรด้านการแพทย์เฉพาะทาง ฯลฯ ซึ่งปัจจุบันยังมีจำนวนน้อยและกระจุกตัวในโรงพยาบาลใหญ่ ขณะเดียวกัน สถาบันการศึกษามีกำลังการผลิตบุคลากรดังกล่าวได้น้อย แรงจูงใจด้านความก้าวหน้าในสายอาชีพก็น้อย ทำให้ไม่ค่อยมีใครอยากจะเรียน ผลสำรวจพบว่า สถานพยาบาลที่มีการให้บริการเครื่องช่วยฟัง ร้อยละ 44 มีนักเวชศาสตร์สื่อความหมายระดับปริญญาตรี และร้อยละ 32 มีนักเวชศาสตร์สื่อความหมายระดับปริญญาโท โดยบุคลากรที่ขาดแคลนและมีความสำคัญ คือ นักแก้ไขการได้ยินระดับปริญญาโท เพราะสามารถวินิจฉัยระดับการได้ยินในเด็กและฝึกการได้ยินแก่ผู้ที่ผ่าตัดประสาทหูเทียม ส่งผลให้เกิดปัญหาคอขวดของระบบบริการทั้งต้นทาง (การวินิจฉัยความพิการ) และปลายทาง (การฟื้นฟูสมรรถภาพทางการได้ยินและการพูด) นอกจากนั้น สถานพยาบาลที่มีโสต ศอ นาสิก แพทย์ที่สามารถผ่าตัดประสาทหูเทียมยังคงกระจุกตัวอยู่ในเขตกรุงเทพฯ หรือโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยในต่างจังหวัด
อย่างไรก็ดี มีเรื่องน่ายินดีที่ว่าสถานพยาบาลส่วนมาก (ร้อยละ 94) มีเครื่องมือตรวจคัดกรองการได้ยิน (Otoacoustic emissions: OAE) ซึ่งส่วนมากพยาบาลจะเป็นผู้ทำหน้าที่ตรวจคัดกรอง โดยสถานพยาบาลเหล่านั้นประมาณครึ่งนึง (54%) ระบุว่ามีเครื่องมือตรวจวินิจฉัยการได้ยิน (Auditory Brainstem Response: ABR) ซึ่งเป็นอีกเทคโนโลยีที่ใช้ในการวินิจฉัยในระบบบริการส่งต่อเพื่อวินิจฉัย
จากการสำรวจประสาทหูเทียมที่มีการจำหน่ายในประเทศไทยพบว่า มีบริษัทที่นำเข้าและจำหน่ายในประเทศไทยอยู่ 3 บริษัท โดยนำเข้าและจำหน่ายชุดประสาทหูเทียม (cochlear implant) ประมาณ 3-5 รุ่นต่อบริษัท ซึ่งทุกบริษัทมีบริการที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานประสาทหูเทียมและการฟื้นฟูสมรรถภาพ เช่น การประเมินศักยภาพการดูแลบำรุงรักษาเครื่องประสาทหูเทียม การตั้งโปรแกรมประสาทหูเทียม การทดสอบการได้ยิน การฟื้นฟูสมรรถภาพทางการพูด การบริการซ่อมและบำรุงรักษาอุปกรณ์ ฯลฯ โดยค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลจะเฉลี่ยอยู่ที่ 34,859 บาท ค่าประสาทหูเทียมเฉลี่ยอยู่ที่ 943,810 บาท นอกเหนือจากนั้น ยังมีค่าใช้จ่ายภายหลังการผ่าตัดที่สูงกว่าค่าประสาทหูเทียมถึง 1.5 เท่า ไม่ว่าจะเป็นค่าบำรุงรักษาเครื่อง ค่าแบตเตอรี่ค่าอะไหล่ต่างๆ ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางการได้ยิน และการใช้ภาษาพูด ซึ่งในบางรายอาจจะมีค่าใช้จ่ายภายหลังการผ่าตัดสูงถึงประมาณ 4 ล้านบาทต่อราย
จากการสำรวจพบว่า อายุเฉลี่ยที่รู้ว่ามีความพิการทางการได้ยิน มักพบตอนอายุประมาณ 1 ขวบ ซึ่งมีเพียง 57% ที่รู้สถานะความพิการทางการได้ยินก่อน 1 ขวบ ส่วนในผู้ใหญ่พบการสูญเสียการได้ยินแบบฉับพลัน ซึ่งอาจเกิดจากอุบัติเหตุ การติดเชื้อแบคทีเรียจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารดิบ เช่น โรคหูดับ แต่ผู้ใหญ่สามารถรับรู้และเช็คอาการเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง จึงไม่มีปัญหาเรื่องการเข้าถึงการวินิจฉัยและรักษา
สำหรับการประเมินความพร้อมของครอบครัว แต่ละพื้นที่มีรูปแบบการประเมินที่แตกต่างกัน รวมถึงการตัดสินใจจ่ายเงินเองจากผู้ป่วยหรือผู้ปกครองเพื่อไปรับบริการที่มีการรอคิวนานในสถานพยาบาลที่ใช้สิทธิ์ เช่น การใช้บริการ MRI/CT scan การประเมินพัฒนาการและสุขภาพจิต และหลังจากมีการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมแล้วจะมีขั้นตอนในการติดตามประเมินผลหลังผ่าตัดเป็นลำดับ ตั้งแต่ 1 สัปดาห์หลังผ่าตัด แพทย์จะนัดดูแผลและตัดไหม 2-4 สัปดาห์ จะมีการเปิดเครื่องและปรับหน่วยประมวลผล และมีการนัดเป็นระยะ 1, 3, 6, 12 เดือน เพื่อปรับระดับความดังให้เหมาะสมและเกิดการใช้งานได้อย่างประสิทธิภาพ
สำหรับผู้ที่ไม่เคยมีภาษาพูดมาก่อน เช่น เด็กเล็ก จะยังไม่เข้าใจเสียงและยังพูดไม่ได้ในช่วงแรก ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ต้องได้รับการฝึกฟังและฝึกพูด เพื่อให้เข้าใจภาษาและสามารถสื่อสารกับคนรอบข้างได้ ซึ่งคล้ายกับการเรียนภาษาใหม่ แต่สำหรับผู้ที่เคยได้ยินและเข้าใจภาษาไทยมาก่อน จะใช้เวลาในการฝึกฟังหรือฝึกพูดให้ชัดไม่นานเท่าเด็กเล็ก
แม้จะมีข้อจำกัดที่จะสร้างระบบที่เข้าถึงอย่างทั่วหน้าในทันที ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะรอทุกอย่างให้พร้อมถึงจะดำเนินการ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องใช้ข้อจำกัดนี้เป็นโอกาสที่จะร่วมมือกัน การพัฒนาระบบบริการฯ ผ่านโครงการนำร่องระบบการตรวจคัดกรอง การวินิจฉัย การผ่าตัดประสาทหูเทียม และการฟื้นฟู โดยเลือกพื้นที่ที่ทีมให้บริการอาสาจะเป็นผู้นำระบบด้วยการสร้างตัวอย่างให้เห็นว่า ภายใต้ข้อจำกัดมากมาย ก็สามารถผลักดันให้เกิดระบบขึ้นได้จริง โดยใช้งานวิจัยสนับสนุนการดำเนินงาน ขณะเดียวกัน ปัจจุบันมีโครงการทะเบียนประสาทหูเทียมในประเทศไทย (Cochlear Implant Registry of Thailand : CI registry) ที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นส่วนเสริมสำคัญที่ทำให้การตัดสินใจทางนโยบายที่จะเกิดขึ้นมีความพร้อมของข้อมูลในการสนับสนุนการตัดสินใจ
ที่ผ่านมา สวรส. ได้สนับสนุนทุนวิจัยเพื่อพัฒนาระบบฟื้นฟูสมรรถภาพการได้ยินมาเป็นระยะ ตั้งแต่ พ.ศ. 2558 จนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น โครงการพัฒนาเครือข่ายและรูปแบบค้นหา ฟื้นฟูการได้ยินในชุมชนต่อเนื่องระยะยาว โครงการศึกษาแผนการเพิ่มจำนวนนักเวชศาสตร์การสื่อความหมายและการกระจายตัวที่เหมาะสม โครงการทะเบียนประสาทหูเทียมในประเทศไทย โครงการประเมินความพร้อมของระบบสุขภาพในการให้บริการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมและการฟื้นฟูสมรรถภาพในประเทศไทย และกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาข้อเสนอโครงการศึกษาการขยายบริการคัดกรองการได้ยินในทารกแรกเกิดในประเทศไทย: ความเป็นไปได้ ต้นทุน และความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อนำข้อมูลจากงานวิจัยมาพัฒนาระบบการให้บริการฯ ที่ครอบคลุมทุกมิติมากยิ่งขึ้น
ดังนั้นคงถึงเวลาแล้วที่จะต้องนับหนึ่งของการสร้างระบบโดยใช้ความรู้ที่ได้จากการวิจัย และตัวอย่างการดำเนินการของหลายพื้นที่ มาออกแบบระบบที่ทำได้จริง ยั่งยืนกว่า เข้าถึงและเข้าใจได้ ไม่ใช่เฉพาะฝั่งผู้ให้บริการ แต่ประชาชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายและกำลังจะเป็นกลุ่มเป้าหมาย เช่น สามี-ภรรยา ที่กำลังจะมีบุตรหรือประชากรกลุ่มเสี่ยงสูญเสียการได้ยิน ต้องเข้าใจได้ไม่ยากและรู้ว่าจะต้องปฏิบัติตนอย่างไร
ที่มาข้อมูล
- งานวิจัยเรื่อง การประเมินความพร้อมของระบบสุขภาพในการให้บริการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมและ การฟื้นฟูสมรรถภาพในประเทศไทย, สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (ปี 2562)
- การประชุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อนำเสนอผลการศึกษาวิจัยเรื่องการประเมินความพร้อมของระบบสุขภาพในการให้บริการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมและการฟื้นฟูสมรรถภาพในประเทศไทย วันที่ 2 ต.ค. 2562
- https://www.voathai.com/a/world-hearing-day-tk/3290061.html