อว. – กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ สาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ใน 11 สาขา 5 รูปแบบ ทั้งเกษตร การแพทย์ พลังงาน การบินและอวกาศ “ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์” เผยต้องนำความรู้ระดับสูงจากต่างประเทศมาต่อยอดประยุกต์ให้เหมาะสมกับ ประเทศไทย
เมื่อวันที่ 5 พ.ย. ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ วิชาการ และนวัตกรรม ระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งราชอาณาจักรไทย และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมี นายหลู่ย์ เจี้ยน เอกอัครราชทูตจีนประเทศประเทศไทยเป็นผู้ลงนามฝ่ายจีน มีพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายหลี เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นสักขีพยาน ที่ตึกสันติไมตรีหลังใน ทำเนียบรัฐบาล
ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า บันทึกความเข้าใจฯ ครั้งนี้ จะช่วยส่งเสริมและต่อยอดกิจกรรมความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมระหว่างประเทศไทยและประเทศจีนที่มีอยู่เดิม รวมทั้งพัฒนากลไกความร่วมมือใหม่ ๆ ให้เกิดผลประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมกับทั้งสองประเทศอย่างยั่งยืน โดยสาขาความร่วมมือที่ระบุในบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ ครอบคลุมความร่วมมือ 11 สาขา ได้แก่ 1. เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 2. เทคโนโลยีการเกษตร 3. เทคโนโลยีชีวภาพและวิทยาศาสตร์การแพทย์ 4. เทคโนโลยีพลังงาน 5. เทคโนโลยีวัสดุและการผลิต 6.เทคโนโลยียานยนต์และรถไฟความเร็วสูง 7.เทคโนโลยีการบินและอวกาศ 8. นโยบายด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) 9. การถ่ายทอดเทคโนโลยี 10. การแลกเปลี่ยนนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัย และ 11. สาขาอื่น ๆ ด้าน วทน. ที่ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องร่วมกัน ขอบเขตความร่วมมือ ครอบคลุม 5 รูปแบบ ได้แก่ 1. การร่วมกันดำเนินการวิจัยและพัฒนา 2. การแลกเปลี่ยนนักวิทยาศาสตร์ ผู้ชำนาญการ และนักวิจัยระหว่างกัน 3. การแลกเปลี่ยนนโยบายด้าน วทน. และประสบการณ์ความเป็นผู้ประกอบการ 4. การประชุมทางวิชาการ การพัฒนาหลักสูตร การประชุมเชิงปฏิบัติการ การสัมมนา การฝึกอบรม การฝึกงานวิจัยและการศึกษาดูงานของกลุ่มเป้าหมายร่วมกัน และ 5. รูปแบบอื่น ๆ ของความร่วมมือที่ทั้งสองฝ่ายตัดสินใจร่วมกัน
“บันทึกความเข้าใจฉบับนี้ เป็นหนึ่งในการดำเนินงานตามนโยบายด้านความร่วมมือระหว่างประเทศของ อว. เพื่อพัฒนากำลังคน พัฒนาองค์ความรู้ และพัฒนานวัตกรรมของประเทศ โดยอาศัยความร่วมมือกับหน่วยงานระดับนานาชาติ ในต่างประเทศ เชื่อมโยงให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและการใช้นวัตกรรมที่เหมาะสมกับประเทศไทย ซึ่งเป็นไปได้ด้วยการนำองค์ความรู้ระดับสูงจากต่างประเทศมาพัฒนาต่อยอดและประยุกต์ให้เหมาะสมกับพื้นที่และบริบทของประเทศไทย ผ่านการผลักดันความความร่วมมือในรูปแบบต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม ดังตัวอย่างการทำงานร่วมกันระหว่างไทยและจีนที่มีความสัมพันธ์ด้าน วทน. ที่ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย” ดร.สุวิทย์ กล่าว
สำหรับ บันทึกความเข้าใจดังกล่าว เป็นการต่ออายุจากบันทึกความเข้าใจระหว่าง 2 กระทรวง ที่หมดอายุเมื่อปี 2561 ตามกรอบความร่วมมือในการเป็นหุ้นส่วนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างประเทศไทยและประเทศจีน มีรูปแบบที่หลากหลาย เช่น การแลกเปลี่ยนบุคลากรเพื่อดำเนินการวิจัยร่วมกัน การจัดตั้งห้องปฏิบัติการวิจัยร่วม การถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมไปถึงการอำนวยความสะดวกในการจับคู่เพื่อเจรจาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในสาขาต่าง ๆ เป็นต้น ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีผลของความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม เช่น การจัดตั้งห้องปฏิบัติการร่วมชีวภาพจุลินทรีย์ไทย-จีน การแลกเปลี่ยนข้อมูลและการร่วมวิจัยด้านการสำรวจระยะไกลผ่านดาวเทียมเพื่อ การเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยพิบัติทางธรรมชาติล่วงหน้า ความร่วมมือด้านการทดสอบเมล็ดพันธุ์พืชไทยในพื้นที่แปลงทดลองปลูกในมณฑล กว่างตง (กวางตุ้ง) ประเทศจีนพร้อมทั้งการจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการเมล็ดพันธุ์ไทยกับจีน เป็นต้น