ม.มหิดล จัดเสวนาดนตรีในมุมมองวัฒนธรรมศึกษา

81

การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับดนตรี เพื่อทำความเข้าใจดนตรีในวัฒนธรรมต่างๆ ทั่วโลก มีวิธีวิทยาการวิจัยที่หลากหลาย โดยในมุมมองของวัฒนธรรมศึกษา หรือ Cultural Studies ดนตรีเป็นวัฒนธรรมและเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม

อาจารย์ ดร.นันธิดา จันทรางศุ ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมดนตรี จาก สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เรามองดนตรีเป็นปรากฏการณ์ เป็นผลผลิตที่มีกระบวนการสร้าง เป็นปฏิบัติการทางวัฒนธรรม (cultural practices) อย่างหนึ่ง และมีความสัมพันธ์ต่อสถาบันวัฒนธรรม และสถาบันต่างๆ เชิงโครงสร้าง การศึกษาดนตรีจึงแยกไม่ออกจากบริบททางสังคม และมิติของอำนาจที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตดนตรีนั้นๆ

อาจารย์ ดร.นันธิดา จันทรางศุ

ในการวิจัยดนตรีมีแนวโน้มใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมายทั่วโลก หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวัฒนธรรมศึกษา สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล จึงเปิดรายวิชาวัฒนธรรมศึกษาของดนตรี เพื่อเน้นการศึกษาดนตรีตามแนวคิดทฤษฎีของดนตรี และวัฒนธรรม ในความหมายใหม่จากมุมมองที่หลากหลาย ประเด็นซับซ้อนของความสัมพันธ์ระหว่างดนตรีและวัฒนธรรมประเด็นปัจจุบัน และข้อโต้เถียงเชิงวิพากษ์เกี่ยวกับการเมืองของดนตรี และวัฒนธรรมในโลกศตวรรษที่ 21 และกรณีศึกษาดนตรีโลกในบางประเด็น

ตลอดช่วงเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน 2562 รายวิชาวัฒนธรรมศึกษาของดนตรีฯ ได้จัดกิจกรรม Public, Seminar & Workshop Series “Music and Cultural Studies” ที่เรือนไทยมหิดล มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับดนตรีในมิติต่างๆ ขยับขยายความรู้ และการตั้งโจทย์การวิจัยดนตรีร่วมสมัย โดยได้รับการสนับสนุนการจัดกิจกรรมจาก INTERMUSICTHAILAND, KING INTELLIGENT TECHNOLOGY CO.,LTD. และ A Famous Shop Bangkok ผู้จัดจำหน่ายเครื่องดนตรีทุกชนิด

“การเสวนาดนตรีที่จัดขึ้นนี้ เพื่อเปิดพื้นที่ทางการเรียนรู้ให้กับนักศึกษา และนักวิชาการดนตรี ได้แสดงมุมมองทางดนตรีวิเคราะห์ วิพากษ์ ได้เรียนรู้ปรากฏการณ์ดนตรีที่เกิดขึ้นในแง่มุมต่างๆ ในสังคมไทย รวมถึงอาเซียนในบางประเด็น ซึ่งเป้าหมายหลักจริงๆ อยากให้เป็นชุมชมเล็กๆ ที่ให้ผู้สนใจได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับดนตรีร่วมกัน รวมทั้งสร้างเครือข่ายการทำวิจัยดนตรีต่อไปด้วย” อาจารย์ ดร.นันธิดา จันทรางศุ กล่าว

การจัดเสวนาที่ผ่านมาในแต่ละสัปดาห์มีประเด็นน่าสนใจ อาทิ “Music and Culture : A Study in Inter-Asia Popular Music” โดย อาจารย์วิริยะ สว่างโชติ นักวิชาการอิสระ นักเขียนเจ้าของผลงานอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์, ร็อกศึกษา สุนทรียะ – การเมือง – พื้นที่ Nationalism and Patriotic Sound in Southeast Asia’s Post-Colonial Hymns: Rethinking Southeast Asian National Anthems โดย อาจารย์อานันท์ นาคคง ศิลปินร่วมสมัยดีเด่นศิลปาธร ปี 62 Audio Engineer in 21st Century โดย คุณทศพร รุ่งวิทยา Director, Technical & Productions SEA Disney Character Voices International

รวมถึงประเด็นน่าสนใจในมุมมองของนักวิชาการกับวัฒนธรรมดนตรีของประเทศเพื่อนบ้าน ยุคจารีตถึงหลังอาณานิยม กระแสวัฒนธรรมดนตรีอาเซียน กรณีศึกษาอินโดนีเซีย และเมียนมาร์ โดย ดร.สุรศักดิ์ จำนงค์สาร คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ร่วมด้วย อาจารย์สิทธิพร เนตรนิยม สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล

ก่อนสัปดาห์สุดท้ายของการจัดกิจกรรม ได้รับเกียรติจาก อาจารย์ ดร.คม วงษ์สวัสดิ์ สาขาวิชาดนตรีแจ๊ซ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล มาร่วมพูดคุยเกี่ยวกับเรื่อง “Musical Materials, Perception, and Listening” เพื่อร่วมเรียนรู้ความหมายและองค์ประกอบของดนตรี เพื่อนำไปสู่วัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์ ด้วยแนวคิดที่ว่า “เราไม่ได้ฟังดนตรีเพียงเพื่อสุนทรียศาสตร์ แต่ควรจะมีความรู้เกี่ยวกับดนตรีที่ฟังด้วย”

โดย อาจารย์ ดร.คม วงษ์สวัสดิ์ ได้กล่าวถึงความมุ่งหมายในการร่วมเสวนาว่า ต้องการจะสร้างแรงบันดาลใจให้คนฟังดนตรีมากขึ้น และเห็นความสำคัญของดนตรี “เป็นเรื่องที่มหัศจรรย์มาก ถ้าเราสามารถได้ยินดนตรี แล้วเข้าใจมัน รวมทั้งรับรู้ว่ามันมี process อะไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการได้ฟังดนตรีดีๆ จากนักดนตรีที่เล่นเก่งๆ ในสถานที่ที่มีคุณภาพเสียงดี” ซึ่งถ้าพูดถึงในประเทศไทยจริงๆ มีสถานที่ที่มีคุณภาพเสียงดีน้อยมาก โดย หอประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เป็นหอแสดงที่ดีที่สุดในประเทศไทย ด้วยทุนก่อสร้าง และทุนสร้างระบบเสียงทั้งหมด 1,500 ล้านบาท

ในพื้นที่ที่กว้างขวาง จุคนได้ถึง 2,006 ที่นั่ง ระบบพิเศษของอาคารใช้ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบโรงละครจากประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมัน เป็นที่ปรึกษา จึงมีระบบแสง เสียง และวิศวกรรมเวทีที่ทันสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีระบบเสียงที่สมบูรณ์แบบ และทันสมัยที่สุด มีการใช้วัสดุพิเศษเพื่อป้องกันเสียงรบกวนจากภายนอกทั้งผนังและฝ้าเพดาน เพื่อให้การได้ยินไม่ผิดเพี้ยนจากการแสดง ทุกเก้าอี้ได้ยิน 80 เดซิเบลเหมือนกัน

สำหรับกิจกรรมเสวนาดนตรีสัปดาห์สุดท้าย กำหนดจัดในช่วงบ่ายของวันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2562 ณ เรือนไทยมหิดล มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา โดยจะเป็นเรื่องของวัฒนธรรมการผลิตเสียง “Music as Performance The Cultural Study of Musical Instruments: A case study of Trumpet” วิทยากรโดย อาจารย์ ดร.สุรสีห์ ชานกสกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านการแสดงและการสอนทรัมเป็ต คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

จะใช้ทรัมเป็ตเป็น case study ตลอดจนเรื่องราวในการผลิตเสียงเพลงในวัฒนธรรมต่างๆ ในฐานะคนใน และคนนอกวัฒนธรม ความสามารถ และขีดจำกัดของเครื่องดนตรี และนักดนตรีในการผลิตเสียง ตลอดจนประเด็นอื่นๆ ที่น่าสนใจ ซึ่งจะทำให้เกิดกระบวนทัศน์ในการตั้งโจทย์วิจัยทางดนตรีที่หลากหลายขึ้น

ผู้สนใจติดตามรายละเอียดได้ที่ FB: RILCA, Mahidol University