เปิดข้อมูลพื้นที่เสี่ยงต่อการคุกคามทางเพศ 600 จุดกทม.และปริมณฑล

25

ประชาชนและองค์กรภาคีเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิงประสานความร่วมมือปักหมุดจุดเผือกพื้นที่เสี่ยงต่อการคุกทามทางเพศมากกว่า 600 หมุด พร้อมเปิดข้อมูลพื้นที่ที่มีความร่วมมือปักหมุดจุดเสี่ยงต่อการคุกคามทางเพศ

ภาคีเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิงจัดงานแถลงข่าวเปิดข้อมูลพื้นที่เสี่ยงต่อการคุกคามทางเพศ 600 จุดในเขตกรุงเทพและปริมณฑลจากโครงการ First Pin “ปักหมุดจุดเผือก” พร้อมการประกาศความร่วมมือครั้งสำคัญของเจ้าหน้าที่ตำรวจและภาคีเครือข่ายในการสร้างเมืองที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน โดยภายในงานได้มีการจัดเสวนาในหัวข้อ เปิดดาต้าปักหมุดจุดเสี่ยงต่อการคุกคามทางเพศ 600 จุด รอบกทม.และปริมณฑล สู่การแก้ไขปัญหาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นรูปธรรม

ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้แทนเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิงกล่าวว่า โครงการปักหมุดจุดเผือกเราทำงานรณรงค์เพื่อกระตุ้นให้ผู้คนในสังคมตระหนักถึงปัญหาความไม่ปลอดภัยทางเพศที่เกิดขึ้นในพื้นที่สาธารณะ และมาร่วมกันสอดส่องดูแลเพื่อสร้างพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน ซึ่งในการทำงานรอบนี้ นอกเหนือจากองค์กรด้านผู้หญิงและการพัฒนาสังคมซึ่งร่วมงานกันมาแต่แรก อย่างองค์การแอ็คชั่นเอด แผนงานสุขภาวะผู้หญิงฯ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และเครือข่ายสลัมสี่ภาค แล้ว

ยังขยายความร่วมมือกับภาคีใหม่ ๆ ที่ทำงานหลากหลายด้าน อย่าง Big Trees ที่ทำเรื่องสิ่งแวดล้อม บริษัท ฉมา โซเอ็น ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องภูมิสถาปัตย์และการพัฒนาพื้นที่สาธารณะ และ Urban Creatures ที่ทำงานสื่อสารประเด็นคุณภาพชีวิตในเมือง มาร่วมออกแบบและดำเนินงานด้วยกัน ทำให้โครงการรณรงค์นี้เข้าถึงกลุ่มประชากรที่หลากหลายมากขึ้น

ผู้แทนเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิงกล่าวว่า เมื่อเราเริ่มดำเนินการไปได้ระยะหนึ่ง เราก็ได้รับการติดต่อจาก NECTEC ที่เสนอให้เราลองใช้แอพพลิเคชั่น Traffy Fondue ที่ NECTEC ได้พัฒนาขึ้นสำหรับใช้แจ้งเหตุต่าง ๆ นำมาประยุกต์ใช้ในกิจกรรมที่เราเชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปร่วมกันสำรวจพื้นที่สาธารณะและแจ้งจุดเสี่ยงภัยคุกคามทางเพศ ซึ่งแอพพลิเคชั่นดังกล่าวก็ตอบโจทย์ของเราที่ต้องการช่องทางการสื่อสารแจ้งจุดเสี่ยงที่สะดวกรวดเร็ว

สำหรับทั้งผู้แจ้งและผู้รับข้อมูล เมื่อได้แอพพลิเคชั่นช่องทางแจ้งข้อมูลที่เหมาะสมแล้ว เราจึงเริ่มรณรงค์เต็มรูปแบบให้ประชาชนทั่วไป ไม่ว่าจะอยู่พื้นที่ไหน ถ้าพบเห็นพื้นที่สาธารณะหรือเส้นทางสัญจรไปมาจุดใดที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดการคุกคามทางเพศ เช่น เป็นเส้นทางสัญจรที่ไม่มีไฟส่องสว่างเวลากลางคืน หรือเป็นพื้นที่เปลี่ยว เป็นมุมอับ ขาดการดูแล ทำให้ผู้ผ่านไปมารู้สึกไม่ปลอดภัย ก็ให้แจ้งข้อมูลผ่านแอพพลิเคชั่นเข้ามา และทีมของเราจะรวบรวมและประมวลผลข้อมูลเพื่อสรุปลักษณะปัญหาความเสี่ยงต่าง ๆ แล้วนำเสนอต่อหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ อาทิ ตำรวจท้องที่ และกรุงเทพมหานคร ให้หาทางปรับปรุงหรือดูแลความปลอดภัยให้เข้มข้นยิ่งขึ้น

ดร.วราภรณ์ยังกล่าวอีกว่า ภายหลังจากที่เราเริ่มโครงการปักหมุดจุดเผือกตั้งแต่วันแรกจนถึงปัจจุบันนี้เป็นระยะเวลา 2 เดือน จากเป้าที่เราตั้งไว้ 600 หมุดตอนนี้มีประชาชนปักหมุดเข้ามากมากกว่า 600 หมุดทั่วกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยเราได้รวบรวมและประมวลผลข้อมูลพื้นที่ที่ภาคีเครือข่ายและประชาชนได้ร่วมกันปักหมุดจุดเผือกเข้ามาอาทิ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต  สะพานเขียว ซอยร่วมฤดี ซอยโปโล  เป็นต้น

ทั้งนี้ลักษณะพื้นที่ที่มีคนปักหมุดจุดเสี่ยงต่อการคุกคามทางเพศมากที่สุดคือทางเดินและซอย 39 เปอร์เซ็นต์ สะพาน 16 เปอร์เซ็นต์ ริมถนน 15 เปอร์เซ็นต์ ใต้ตึก 13 เปอร์เซ็นต์ อาคารร้าง 7 เปอร์เซ็นต์ ทางเดินริมคลอง 7 เปอร์เซ็นต์ สะพานลอย 3 เปอร์เซ็นต์ สวนสาธารณะ 1 เปอร์เซ็นต์ ทางจักรยาน 1 เปอร์เซ็นต์ และนอกจากนี้แล้วเราได้ประมวลผลพบ 7 อันดับจุดเสี่ยงต่อการคุกคามทางเพศมากที่สุดดังนี้ 1. จุดที่ขาดการบำรุงรักษา 23 เปอร์เซ็นต์ ไฟสว่างไม่เพียงพอ 23 เปอร์เซ็นต์ จุดอับสายตา 15 เปอร์เซ็นต์ ทางเปลี่ยว 14 เปอร์เซ็นต์ ทางแคบทางตัน 13 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีป้ายบอกทาง 9 เปอร์เซ็นต์ ไกลจากป้ายรถเมล์ วิน สถานี 3 เปอร์เซ็นต์

ผู้แทนเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิงกล่าวว่า จากการรณรงค์ที่สะพานเขียว เราได้รับความร่วมมือจากผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลลุมพินีรับข้อมูลจุดเสี่ยงไปพิจารณา โดยทาง สน. รับปากจะเพิ่มความถี่ในการออกตรวจตราพื้นที่เสี่ยง และจะเพิ่มการทำงานเสริมศักยภาพของอาสาสมัครตำรวจบ้านในชุมชนรอบ ๆ ให้สามารถตรวจตราเฝ้าระวังดูแลพื้นที่ และประสานงานแจ้งเหตุกับตำรวจท้องที่ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งในระยะยาว เราคาดหวังว่าหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลพื้นที่สาธารณะต่าง ๆ จะใส่ใจกับปัญหาความไม่ปลอดภัยทางเพศ และมีมาตรการป้องกันและเฝ้าระวังปัญหาอย่างจริงจังมากขึ้น และควรมีช่องทางการสื่อสารแบบถาวรที่ประชาชนจะสามารถช่วยกันแจ้งข้อมูลจุดที่มีความเสี่ยงหรือมีอันตรายต่าง ๆ เพื่อให้หน่วยงานเข้ามาดูแลป้องกันโดยไม่ต้องรอให้เกิดเหตุร้ายขึ้นเสียก่อน

“สำหรับเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง เราประเมินว่าแม้ขณะนี้สังคมจะมีความตระหนักถึงปัญหาการคุกคามทางเพศในพื้นที่สาธารณะมากขึ้น แต่การรับรู้เรื่องนี้ก็ยังไม่ทั่วถึง และเรายังได้ยินว่ามีเหตุการณ์การคุกคามทางเพศเกิดขึ้นที่นั่นที่นี่อยู่เรื่อย ๆ ดังนั้น หลังจากกิจกรรมในวันนี้แล้ว สมาชิกเครือข่ายฯ จะร่วมกันประเมินสถานการณ์และผลการทำงานที่ผ่านมา แล้วจะวางแผนการทำงานเพื่อลดปัญหาการคุกคามทางเพศให้ได้ผลเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น”ดร.วราภรณ์ระบุ

ด้านนายยศพล บุญสม ผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้ง Shma Company Limited กล่าวว่า การที่ภายในระยะเวลา 2 เดือน ทีมเผือกมีการปักหมุดจุดเสี่ยงไปกว่า 600 จุดนั้น เริ่มเห็นถึงการขยับของภาคประชาชน ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาพื้นที่เสี่ยง ผ่านแอปพลิเคชั่น ซึ่งถือเป็นจุดสำคัญเพราะประชาชนเกิดความรู้สึกว่าไม่อยากให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐเพียงอย่างเดียว เพราะหากอาศัยเพียงหน่วยงานรัฐการแก้ไขปัญหาก็จะต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร ดังนั้นการมีส่วนร่วมครั้งนี้จึงเป็นพลังที่ดีในการแก้ไขปัญหา

กระบวนการในการแก้ไขปัญหาพื้นที่เสี่ยงมีด้วยกัน 2 มิติ คือ ทางกายภาพ และ ทางสังคม ที่จะคู่ขนานกันไป โดยทางกายภาพ คือลดความเสี่ยง เช่น ติดไฟส่อง ติดกล้องวงจรปิด หรือ เพิ่มการตรวจตรา แต่ในมิติของสังคมจะทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาในระยะยาว ซึ่งมิติทางสังคมคือกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนโดยรอบ ในการร่วมกันออกแบบกับชุมชน ว่าต้องการอะไร มีความเห็นอย่างไร เพื่อสร้างความรู้สึกการเป็นเจ้าของร่วม

โดยต้นแบบการปรับปรุงพื้นที่บริเวณสะพานเขียว ที่ก่อนหน้านี้ทีมเผือกได้ลงพื้นที่ไปปักหมุดจุดเสี่ยง ว่า การแก้ไขปัญหาสะพานเขียว ซึ่งเป็นทางลอยฟ้าที่มีระยะทางยาว พื้นที่จัดกิจกรรมมีจำกัด ไม่กระตุ้นให้คนมาใช้ทาง ซึ่งเมื่อไม่มีคนใช้เส้นทางนี้กลายเป็นเส้นทางที่อันตราย ไม่น่าไว้วางใจ ดังนั้นจะต้องดึงดูดให้คนมาใช้พื้นที่ตรงนี้มากขึ้น เช่น การเพิ่มทางขึ้นลงจากชุมชนให้มากกว่าเดิม เพิ่มกิจกรรมระหว่างเส้นทาง เช่น ลานกีฬา สนามเด็กเล่น หรือ สวนสมุนไพร เพื่อเชิญชวนให้คนหลากหลายกลุ่มมาใช้งาน

“สร้างความเป็นเจ้าของด้วยการยึดโยงกับความต้องการของชุมชน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญเพราะแม้จะสร้างอย่างสวยงาม แต่ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของชุมชน ก็จะกลายเป็นเส้นทางที่ไม่มีคนใช้เหมือนเดิม ทั้งนี้ภาครัฐอาจให้ความสำคัญเชิงกายภาพ ว่าต้องติดกล้องวงจรปิด เพิ่มไฟ เพื่อแก้ปัญหา ทำให้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ที่ไม่มีความเสี่ยง แต่มิติทางสังคมจะเป็นกลไกในการป้องกันระยะยาว นอกจากความปลอดภัยแล้ว สามารถมองในเรื่องของการส่งเสริมคุณภาพชีวิต เพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจให้ชุมชนเพื่อเพิ่มให้การมีส่วนร่วมตรงนี้ขับเคลื่อนได้มากขึ้น” นายยศพล กล่าว