แบคทีเรียหรือไวรัส เช็กให้ชัดก่อนกินยาปฏิชีวนะ

55

กพย. สสส. จับมือ สธ. องค์การอนามัยโลก และภาคีเครือข่าย รณรงค์ใช้ยาปฏิชีวนะถูกวิธี “แบคทีเรียหรือไวรัส เช็กให้ชัดก่อนกินยาปฏิชีวนะ” เร่งสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ บรรลุยุทธศาสตร์ลดปัญหาเชื้อดื้อยา ด้าน WHO ชื่นชมไทยแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาได้ดีและต่อเนื่อง

นพ.มล.สมชาย จักรพันธุ์ ประธานคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่ารัฐบาลไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับปัญหาเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถ้อยแถลง ในฐานะกลุ่ม 77 และจีน ในการประชุม UN High-Level Meeting on Anti-Microbial Resistance (AMR) นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ. 2559 ซึ่งสอดคล้องกับแผนปฏิบัติการระดับโลกขององค์การอนามัยโลก ที่สนับสนุนการทำงานของภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคการสาธารณสุข และภาคสังคม เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพบนพื้นฐานของแนวทางสุขภาพหนึ่งเดียว ทางคณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติอนุมัติแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. 2560-2564 โดยมีวิสัยทัศน์ลดการป่วย การตาย และการสูญเสียทางเศรษฐกิจจากเชื้อดื้อยา

ดร.ริชาร์ด บราวน์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกให้ความสำคัญกับปัญหาเชื้อดื้อยา โดยปีนี้มีประเด็นการรณรงค์คือ “อนาคตของยาปฏิชีวนะ ขึ้นอยู่กับเราทุกคน” โดยเน้นการกระทำที่ป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ ได้แก่ การล้างมือหรือทำความสะอาดมือที่เหมาะสม ช่วยป้องกันการติดเชื้อและการแพร่กระจายเชื้อ และลดความจำเป็นในการใช้ยาปฏิชีวนะซึ่งทำให้การดื้อยาปฏิชีวนะอยู่ในวงจำกัด นอกจากนี้ยังแนะนำเรื่องสุขอนามัยในช่องปากที่ดี มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อ หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ป่วย และให้ความสำคัญในการปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรในการใช้ยาปฏิชีวนะ พร้อมทั้งยังได้ชื่นชมประเทศไทยถึงการทำงานเรื่องการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพมาอย่างดียิ่งและต่อเนื่อง

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์  ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส. ยังคงมุ่งมั่นแก้ปัญหาเชื้อดื้อยา โดยเฉพาะการเสริมความความรอบรู้ด้านสุขภาพ ให้ประชาชนรู้จักวิธีดูแลตนเองในการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้องในโรคที่พบบ่อย เช่นเป็นหวัดเจ็บคอ โดยในปีนี้ สสส.สนับสนุนการจัดทำและเผยแพร่สื่อสู่สาธารณะอย่างกว้างขวาง ถึงแม้ปีนี้องค์การอนามัยโลกกำหนดให้ระหว่างวันที่ 18 – 24 พฤศจิกายน 2562 เป็นสัปดาห์รณรงค์ แต่สสส.ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายเตรียมแผนการสื่อสารต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า โดยหวังว่าจะสร้างความตื่นตัวในหมู่ประชาชน รวมทั้งคาดหวังให้บุคลากรสุขภาพใช้ประเด็น “แบคทีเรียหรือไวรัส เช็กให้ชัดก่อนกินยาปฏิชีวนะ” เป็นหัวข้อในการพูดคุยสื่อสารกับผู้ป่วย เพื่อให้เกิดการใช้ยาต้านแบคทีเรียหรือยาปฏิชีวนะที่สมเหตุผล เพราะไข้หวัดเจ็บคอมากกว่า 80% เกิดจากเชื้อไวรัส การกินยาต้านแบคทีเรีย นอกจากไม่ช่วยให้หายแล้ว ยังจะทำให้เกิดเชื้อดื้อยาในร่างกาย

นพ.ธีรพงศ์ ตุนาค ผู้อำนวยการกองบริหารการสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขกำหนดนโยบายการพัฒนาระบบบริการสุขภาพให้มีการใช้ยาอย่างสมเหตุผล และจัดการปัญหาเชื้อดื้อยาในสถานพยาบาลทุกระดับ ตั้งแต่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ ไปจนถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล กว่า 10,000 แห่งทั่วประเทศ ในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา กระทั่งสามารถลดการใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็นได้ 5.7 ล้านคน คิดเป็นเงินกว่า 250 ล้านบาท ด้วยการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลในโรคหวัด อุจาระร่วง และแผลสะอาด ปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลให้นโยบายดังกล่าวประสบความสำเร็จ คือความร่วมมือจากทุกภาคีเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานทางสาธารณสุข ภาครัฐ ภาคเอกชน หน่วยงานภาคการเกษตรและปศุสัตว์ ภายใต้แนวคิด one health หรือความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน และบุคลากรจากหลากหลายสาขา                                                                                                                 ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) กล่าวว่า กิจกรรมดังกล่าวจัดต่อเนื่องปีนี้เป็นปีที่ 7 ซึ่งนอกจากกพย.จะสร้างความตระหนักและความตื่นตัวในหมู่ประชาชนให้ตระหนักถึงการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผล ยังขยายเครือข่ายการทำงานออกไปยังด้านการเกษตรและสิ่งแวดล้อม เช่นการไม่ใช่ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงสัตว์และปลูกพืช และมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. 2560–2564 โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ที่ 5 การส่งเสริมความรู้ด้านเชื้อดื้อยาและความตระหนักด้านการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมแก่ประชาชน โดยกพย.ได้จัดทำสื่อให้ความรู้ความเข้าใจ ร่วมกับการสนับสนุนการทำงานในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ โดยการรณรงค์ในปีนี้มุ่งให้ความรู้ในการแยกแยะและตรวจสอบเบื้องต้น เกี่ยวกับอาการป่วย หวัด ไอ ว่าเกิดจากไวรัสหรือแบคทีเรีย ปรึกษาแพทย์ และเภสัชกร ก่อนจะเริ่มใช้ยาต้านแบคทีเรียหรือยาปฏิชีวนะ

สำหรับผู้ที่สนใจสื่อความรู้เชื้อดื้อยา สามารถเข้าไปดูข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ http://atb-aware.thaidrugwatch.org หรือเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/thai.antibiotic.awareness