พระสงฆ์-ฆราวาสเห็นพ้องโครงการ “ฉันดีมีสุข”

38

พระสงฆ์-ฆราวาสเห็นพ้องโครงการ “ฉันดีมีสุข”พร้อมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค ให้ห่างไกล NCDs

อย. มุ่งพัฒนาพฤติกรรมการบริโภคกลุ่มเป้าหมายใหม่ จัดกิจกรรมโครงการ “ฉันดีมีสุข” ถวายความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการบริโภคอย่างเหมาะสมแด่พระสงฆ์ หวังผลให้พระสงฆ์มีสุขภาพดี  ห่างไกลโรค      ไม่ติดต่อเรื้อรัง และส่งต่อความรู้ไปยังฆราวาสและญาติโยม ให้สามารถดูแลตนเองในการเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ปลอดภัย รวมทั้งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค ลดหวาน มัน เค็ม และรู้จักเลือกสังฆทานที่เหมาะสมถวายแด่พระสงฆ์ เผย ผลการดำเนินกิจกรรม สำเร็จลงด้วยดี โดยจากผลการวิจัยประเมินผลโครงการ พบว่าผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีแนวโน้มที่จะนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดื่ม และบริโภคอาหาร มากถึงร้อยละ 84.8

นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ปัญหาเกี่ยวกับพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่ถูกต้อง โดยมักจะบริโภคอาหารรสจัดประเภทหวาน มัน เค็ม โดยเฉพาะเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือกลุ่มโรค NCDs เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และโรคไตเรื้อรัง ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างชัดเจนในประเทศไทย และจากรายงานภาระโรคของประชากร พบว่าจำนวนสัดส่วนของผู้เสียชีวิต มีจำนวนเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยทุกปี นอกจากนี้ยังพบปัญหาฆราวาสถวายผลิตภัณฑ์อาหารใส่บาตรและสังฆทานที่ไม่มีคุณภาพ หรือหมดอายุ ทำให้พระสงฆ์ได้รับผลิตภัณฑ์สุขภาพจำพวกอาหาร ยา เครื่องสำอาง ( สบู่ ยาสีฟัน ฯลฯ ) ที่ไม่เหมาะสมและไม่ปลอดภัยมาบริโภค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงได้จัดกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้ในโครงการ “ฉันดีมีสุข” ภายใต้ธีม “อย. ห่วงใย พระสงฆ์บริโภคปลอดภัยไกลโรค NCDs” เพื่อให้ความรู้เรื่องการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มอย่างเหมาะสม และการใช้ยาให้ถูกต้อง รวมถึงผลิตภัณฑ์สุขภาพในชุดสังฆทานที่เหมาะสมและปลอดภัย เพื่อให้พระสงฆ์ที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมมีการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างเหมาะสม และส่งต่อความรู้ไปยังสาธุชนในการเลือกซื้อ เลือกบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์อาหารได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัย รวมทั้งฆราวาสที่เข้าร่วมกิจกรรม นอกจากจะสามารถดูแลตนเองได้แล้ว ยังสามารถรู้วิธีเลือกผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เหมาะสมใส่บาตรหรือถวายสังฆทานแด่พระสงฆ์อีกด้วย ซึ่งปีนี้ได้มีการจัดกิจกรรมรณรงค์ในโครงการฉันดีมีสุข จำนวน 3 ครั้ง ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน 2560 ที่ผ่านมา โดยครั้งแรกจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 จัดที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ และครั้งที่ 3 จัดที่วัดชลประทานรังสฤษดิ์ พระอารามหลวง จังหวัดนนทบุรี กิจกรรมประกอบด้วย การตรวจสุขภาพ       วัดความดันโลหิต ตรวจหาปริมาณน้ำตาลในเลือด การอภิปรายถวายความรู้ แนะนำการอ่านฉลากโภชนาการบนผลิตภัณฑ์อาหาร การบรรยายเรื่อง “โภชนาการกับโรค NCDs” และ “การถ่ายทอดประสบการณ์การรักษาพระภิกษุที่อาพาธด้วยโรค NCDs” ซึ่งมีพระสงฆ์และฆราวาสเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก

เลขาธิการฯ อย. กล่าวต่อไปว่า โครงการฉันดีมีสุขนี้มีการประเมินผลโครงการด้วย ซึ่งผลจากการประเมิน พบว่า การจัดกิจกรรมโครงการดังกล่าว สามารถสร้างการรับรู้ได้ในระดับที่ดี และเป็นการจุดหรือกระตุ้นให้พระสงฆ์และฆราวาสเห็นความสำคัญในการบริโภคอาหารปลอดภัยมากขึ้น     มีส่วนทำให้พระสงฆ์ เห็นความสำคัญในการบริโภคอาหารที่มีประโยชน์มากขึ้น ขณะเดียวกัน พระสงฆ์เอง เห็นว่า ควรมีกิจกรรมแบบนี้ในทุก ๆ พื้นที่ และควรส่งเสริมให้ประชาชนที่ทำบุญตักบาตร รับรู้และมีความเข้าใจในการเลือกอาหารทำบุญได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมโครงการฉันดีมีสุข มีแนวโน้มที่จะนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดื่ม และบริโภคอาหารมากถึงร้อยละ 84.80 แสดงให้เห็นว่า เมื่อรู้แล้วว่า การบริโภคอาหาร ที่จะลดหรือหลีกเลี่ยงการเป็นโรค NCDs ได้นั้น จะต้องบริโภคให้ถูกต้องอย่างไร โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมให้ความสำคัญกับกับการอ่านฉลากโภชนาการมากขึ้นถึงร้อยละ 80 และเห็นว่าการอ่านฉลากโภชนาการมีประโยชน์ทำให้ทราบข้อมูลและตัดสินใจเลือกบริโภคอาหารที่ปลอดภัย ถูกต้อง และเหมาะสม มากขึ้น

ส่วนพฤติกรรมมีแนวโน้มที่ดีในการที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการบริโภคอาหาร  เนื่องจาก พระสงฆ์และประชาชนที่เข้าร่วมกิจกรรม มีความพยายามที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหาร โดยลดการบริโภคเครื่องดื่มที่มีรสหวาน ลดอาหารประเภทหวาน มัน เค็ม มีความพยายามที่จะลดอาหารประเภททอด และกะทิ  เพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นโรค NCDs ซึ่งถือว่าเป็นทิศทางที่ดี และสิ่งสำคัญนอกจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม คือ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมส่วนใหญ่มีการบอกต่อให้กับบุคคลใกล้ชิด    ซึ่งเป็นการเผยแพร่ ตักเตือน บอกกล่าวให้คนอื่นรู้ ทำให้มีคนรู้เรื่องเกี่ยวกับการบริโภคอาหารปลอดภัยที่ถูกต้องมากกว่าจำนวนของผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรม และเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยกันตักเตือน ป้องกัน ช่วยเหลือกันเวลาที่จะบริโภคอาหารได้

เลขาธิการ ฯ อย. กล่าวในตอนท้ายว่า ทาง อย. ก็จะคงมีการดำเนินโครงการเช่นนี้ในปีงบประมาณต่อไป โดยจะขยายการรณรงค์ไปยังพื้นที่ในต่างจังหวัด โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยสงฆ์ เพื่อเป็นการถวายความรู้แด่พระสงฆ์ซึ่งเป็นผู้นำทางความคิดของชุมชน เพื่อให้มีการขยายและส่งต่อความรู้ในการบริโภคที่ถูกต้องไปยังญาติโยมและสาธุชนทั้งหลาย ให้เกิดพฤติกรรมการบริโภคที่ถูกต้องเหมาะสม เพื่อให้ห่างไกลจากโรค NCDs ให้มากที่สุดต่อไป