ระวังลูกป่วย! ‘PM2.5 – ไวรัส’ ตัวร้ายที่แฝงตัวในลมหนาว

51

รอยต่อช่วงเปลี่ยนจากฤดูฝนเข้าสู่ฤดูหนาวแบบนี้ เป็นช่วงที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเฝ้าระวังสุขภาพของลูกน้อยกันให้ดี เพราะเป็นสภาพอากาศที่เอื้อให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้ง่าย ยิ่งเด็กเล็กที่ภูมิต้านทานยังไม่แข็งแรง แถมยังไม่รู้จักวิธีดูแลป้องกันโรคให้ตัวเองยิ่งต้องใส่ใจเป็นพิเศษ

พญ.อุรารมย์ พันธะผล กุมารแพทย์ทารกแรกเกิดและปริกำเนิด ศูนย์สุขภาพเด็ก โรงพยาบาลพญาไท 2 กล่าวว่า “ช่วงปลายฝนต้นหนาวแบบนี้ อุณหภูมิเริ่มลดต่ำลงอาจทำให้ร่างกายของเด็กปรับตัวไม่ทัน จึงเจ็บป่วยได้ง่าย ยิ่งในเขตเมืองที่มีฝุ่นมาก ต้องระวังฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 กันเป็นพิเศษ เพราะช่วงหน้าหนาวเป็นช่วงที่ความกดอากาศสูง อากาศนิ่ง ฝุ่นควันไม่สามารถลอยขึ้นสูงได้ จึงอาจเกิดการสะสมในพื้นที่จนเกินค่ามาตรฐาน ซึ่งฝุ่นจิ๋วนี้เป็นอันตรายกับเด็กเล็กมากยิ่งกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากระบบทางเดินหายใจของเด็กยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ เมื่อฝุ่นเข้าไปจะทำให้เยื่อบุต่าง ๆ ในทางเดินหายใจอักเสบระคายเคือง เกิดอาการไอ แสบจมูก แสบตา และเป็นไข้ ที่น่ากังวลมากคือ หาก PM 2.5 เข้าถึงสมองเด็กที่กำลังพัฒนา ฝุ่นขนาดเล็กนี้จะไปทำลายเซลล์สมอง ส่งผลต่อพัฒนาการทางสติปัญญา และความสามารถในการเรียนรู้ของเด็กได้”

พญ.อุรารมย์ พันธุมะผล

ทำอย่างไร..ให้ลูกน้อยปลอดภัยจาก PM 2.5
พ่อแม่-ผู้ปกครองควรติดตามสถานการณ์ฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 อยู่เรื่อย ๆ โดยสามารถตรวจสอบค่าฝุ่นละอองได้ผ่านทางเว็บไซต์กรมอนามัย www.anamai.moph.go.th, แอปพลิเคชัน Air4thai ของกรมควบคุมมลพิษ หรือแอปพลิเคชัน AirVisual หากพบว่ามีปริมาณ PM 2.5 สูงเกินค่ามาตรฐาน ไม่ควรให้เด็กไปเล่นกลางแจ้ง ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด และควรเปิดเครื่องฟอกอากาศ หากจำเป็นต้องออกนอกบ้าน ควรให้เด็กใส่หน้ากาก N95 ที่ขนาดพอดีหน้าไม่มีช่องให้ฝุ่นรอดเข้าไป นอกจากนี้ผู้ปกครองต้องคอยหมั่นสังเกตอาการของเด็ก หากมีอาการไอจามผิดปกติ น้ำมูกไหล แน่นหน้าอก หายใจลำบาก หรือหายใจเร็ว ให้รีบไปพบแพทย์

‘เชื้อไวรัส’ อีกหนึ่งตัวร้ายในหน้าหนาว
นอกจากปัญหาฝุ่นละออง ไวรัสก็เป็นอีกหนึ่งตัวร้ายในช่วงหน้าหนาว เพราะเชื้อไวรัสสามารถแพร่กระจาย และมีชีวิตอยู่ในอากาศเย็นได้ยาวนานกว่าช่วงอากาศร้อน ลูกน้อยจึงเสี่ยงได้รับเชื้อไวรัสมากกว่าฤดูอื่น ซึ่งโรคที่พบบ่อยในเด็ก ได้แก่
• โรคไข้หวัดใหญ่
เป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจเกิดจากเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (influenza virus) ซึ่งมีหลายสายพันธุ์
และจะเกิดการกลายพันธุ์อยู่เรื่อย ๆ จึงมักได้ยินการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่กันอยู่ทุกปี ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่มักมีไข้สูงติดกันหลายวัน โดยเฉพาะในเด็กจะมีไข้สูงลอยเกินกว่า 39-40 องศาเซลเซียส มีอาการหนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย และเบื่ออาหาร โดยปกติโรคไข้หวัดใหญ่สามารถหายได้เองภายใน 5-7 วัน เพียงให้ดื่มน้ำมาก ๆ เช็ดตัวเมื่อมีไข้ พักผ่อนให้เพียงพอ และรับประทานยาตามอาการ แต่หากไม่ดูแลให้ดีอาจมีอาการแทรกซ้อน เช่น ปอดอักเสบ ไซนัสอักเสบ หลอดลมอักเสบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปีต้องระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากเด็กเล็กมีภูมิคุ้มกันไม่มากเพียงพอ
จึงเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่ายกว่าและรุนแรงกว่า หากเด็กมีอาการไข้ขึ้นสูง ไอจนเหนื่อย ควรรีบพาไปพบแพทย์
• โรคท้องร่วง
ในช่วงหน้าหนาว มักพบการระบาดของโรคท้องร่วงในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ที่มีสาเหตุมาจากโรต้าไวรัส
ซึ่งก่อให้เกิดโรคท้องร่วงรุนแรง แม้จะได้รับเชื้อไม่มากก็ก่อให้เกิดโรคได้ เด็กที่ได้รับเชื้อจะเริ่มมีไข้ และอาการหวัดนำมา อาเจียนใน 2-3 วันแรกก่อนจะถ่ายเหลวเป็นน้ำ แม้ปัจจุบันจะยังไม่มียาต้านโรต้าไวรัสโดยเฉพาะ แต่โดยปกติผู้ป่วยจะสามารถหายได้เองใน 3-7 วัน เพียงดูแลรักษาตามอาการ ให้รับประทานอาหารอ่อน ดื่มน้ำเกลือแร่เพื่อทดแทนน้ำและเกลือแร่ที่สูญเสียไป แต่ในกรณีที่มีอาการรุนแรงผู้ป่วยจะถ่ายเหลวเป็นน้ำปริมาณมาก ไม่สามารถรับประทานอาหารหรือน้ำได้ ทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ และเกลือแร่ บางรายอาจเกิดภาวะช็อก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็ก หรือเด็กที่มีโรคประจำตัว ควรรีบพบแพทย์
“เด็กๆมักได้รับเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคเหล่านี้จากสารคัดหลั่งตามสถานที่ที่มีเด็กรวมกันอยู่เยอะ ดังนั้นหากลูกป่วย คุณพ่อคุณแม่ควรพิจารณาให้ลูกหยุดเรียนเพื่อไม่ให้นำเชื้อไปติดเด็กคนอื่น ๆ บางครั้งเชื้ออาจติดอยู่กับของเล่น เมื่อเด็กหยิบเข้าปากก็ติดเชื้อได้ คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นล้างมือให้เด็กก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง เตรียมอาหารปรุงสุก รวมทั้งคอยดูแลความสะอาดของใช้และของเล่นอยู่เสมอ อีกหนึ่งวิธีป้องกันคือ การให้ลูกได้รับวัคซีนป้องกันโรคท้องร่วงจากไวรัสโรต้า และไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคไข้หวัดใหญ่ที่เชื้อไวรัสจะมีการกลายพันธุ์ใหม่ทุกปี เพื่อเป็นการช่วยป้องกันลูกน้อยอีกทางหนึ่ง” พญ.อุรารมย์ กล่าว

ลมหนาวที่ใครหลายคนเฝ้ารอ อาจพาอันตรายหลายอย่างมาสู่ลูกน้อย เตือนคุณพ่อคุณแม่-ผู้ปกครองอย่าชะล่าใจ คอยสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้น หากพบว่าเด็กมีอาการที่แตกต่างไป ควรรีบมาปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจเช็คอาการอย่างทันท่วงที อย่าให้หน้าหนาวนี้มาทำร้ายสุขภาพของลูกคุณ