โหลดแล้วอ่าน จิตวิทยาของการพนัน ในหนังสือ “เสพติดพนัน”

309

ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน – สสส. เปิดตัวหนังสือ “เสพติดพนัน: ความใหญ่โตของปัญหาและแนวทางแก้ไข” แนะติดพนันเป็นอาการป่วยต้องรักษา เสี่ยงฆ่าตัวตาย! ผลวิจัยสหรัฐฯชี้คนติดพนัน 1 คน สร้างผลกระทบให้คนใกล้ตัว 10-17 คน

ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนาวิชาการพร้อมเปิดตัวหนังสือ “เสพติดพนัน: ความใหญ่โตของปัญหาและแนวทางแก้ไข” โดยมีนายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ ประธานคณะกรรมการกำกับทิศทางกลุ่มแผนงานลดปัญหาจากการพนัน สสส. เป็นประธานพิธีเปิด

รศ.วิทยากร เชียงกูล เจ้าของผลงานวิจัยและหนังสือ “เสพติดพนัน : ความใหญ่โตของปัญหาและแนวทางแก้ไข” เปิดเผยว่า หนังสือดังกล่าวจัดทำขึ้นโดยหวังให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงปัญหาจากการพนัน โดยผลการวิจัยภายในเล่มพบว่า ผลกระทบของการติดพนันมีทั้งต่อด้านสุขภาพกายใจ เศรษฐกิจและสังคม อาทิ ขาดประสิทธิภาพในการเรียน ทำงาน ปัญหาด้านการเงิน ปัญหาความสัมพันธ์กับครอบครัว ปัญหายักยอก ฉ้อโกง อาชญากรรม รวมไปถึงปัญหาที่เชื่อมโยงไปสู่ปัญหาอื่นๆ เช่น ติดสุราและสารเสพติดอื่นๆ มีการวิจัยระบุว่า คนเสพติดการพนันจะมีนิโคตินในร่างกายมากกว่าคนทั่วไป ซึ่งการเสพติดซ้ำซ้อนจะทำให้การแก้ปัญหายุ่งยากขึ้นไปอีก นอกจากนี้ยังพบว่าคนติดพนันเป็นโรคซึมเศร้าแบบขั้วเดียวถึง 70% และความผิดปกติด้านอารมณ์รุนแรงสลับไปมา 2 ขั้ว 30% ผลเสียหายอย่างหนักคือการคิดฆ่าตัวตายและพยายามฆ่าตัวตาย โดยราว 17-24% ของคนติดพนันอย่างหนักมีการพยายามฆ่าตัวตายครั้งหนึ่งในชีวิต ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นทันทีหลังจากเล่นสูญเสียเงินจำนวนมาก ส่วนกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงต่อการติดพนันมากสุดคือวัยรุ่น โดยมีสัดส่วนเล่นและติดพนันต่อประชากรวัยเดียวกันประมาณ 4-8% สูงกว่าประชากรวัยผู้ใหญ่ 1-2 เท่าตัว

“แนวทางการป้องกันในหมู่เด็กเยาวชน เช่น การใช้สื่อต่างๆ การสัมมนาพูดคุยให้เข้าใจเรื่องความเสี่ยงที่มาจากการเล่นพนัน โอกาสจะชนะมีความเป็นไปได้น้อยมาก รวมทั้งส่งเสริมพัฒนาจิตวิทยาทางบวก สร้างความเข้มแข็ง รู้จักดูแลควบคุมความคิด จิตใจ อารมณ์ แก้ปัญหาเป็น และให้คำปรึกษาโดยนักบำบัด ศูนย์ให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์หรือออนไลน์ บำบัดเยียวยาโดยนักจิตวิทยา บำบัดแนวพฤติกรรมการรู้คิด (Cognitive Behavioral Therapy) ช่วยเปลี่ยนแปลงแนวคิดการรับรู้ที่บิดเบือน เป็นการคิดอย่างมีเหตุผลและสมจริง” รศ.วิทยากร กล่าว

รศ.วิทยากร กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะกรรมาธิการศึกษาผลกระทบการพนันแห่งชาติของสหรัฐฯเผยความเสียหายทางด้านการเงิน ค่าใช้จ่ายทางกฎหมาย และสูญเสียผลผลิตจากการทำงานของชาวอเมริกันที่ติดพนัน มีมูลค่าราว 5,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐต่อปี และคนติดการพนันแต่ละคนสร้างผลกระทบให้กับครอบครัว ญาติพี่น้อง เพื่อน ราว 10-17 คน  ส่วนการแก้ปัญหาในระดับประเทศนั้น ไทยควรมีการตั้งสถาบันเพื่อวิจัยเผยแพร่ความรู้ในทางป้องกันและเยียวยาปัญหาการเสพติดการพนัน ที่สามารถให้บริการได้อย่างทั่วถึง  เนื่องจากปัญหาของคนติดพนันคือ มักไม่รู้ตัว ไม่ยอมรับและปกปิดครอบครัว เมื่อเกิดปัญหาหนักแล้วจึงจะยอมรับและยอมเข้าสู่การบำบัด ซึ่งโดยทั่วไปผู้เข้ารับการบำบัดมีโอกาสได้รับการฟื้นฟู ลด หรือ เลิกเล่นการพนันได้

สามารถติดตามอ่านหนังสือฉบับเต็มได้ทาง http://www.gamblingstudyth.org/document_book/159/1/1/gambling-addiction/