เผยพิษจากสารเคมีทางการเกษตร อันตรายที่ยังอยู่ใกล้ตัว

45

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยอันตรายจากการสัมผัสสารเคมีทางการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นชนิดใดๆ ก็อันตรายต่อร่างกายทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรังได้ เช่น อาจทำให้เกิดการระคายเคือง ผื่นคัน คลื่นไส้อาเจียน ผิวหนังอักเสบ เป็นต้น แนะประชาชนป้องกันก่อนเจ็บป่วย ตามหลัก “เกษตรกรปลอดภัย อ่าน ใส่ ถอด ทิ้ง” ทั้งก่อนการใช้ ระหว่างการใช้ และหลังการใช้

ดร.พญ.ชุลีกร ธนธิติกร  นักวิชาการ กองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กล่าวถึงอันตรายของสารเคมีทางการเกษตร ทั้งสารที่ใช้สำหรับฆ่าแมลง ฆ่าหญ้า กำจัดเชื้อรา และกำจัดวัชพืชอื่นๆ รวมถึงสารฆ่าหนูและสัตว์กัดแทะต่างๆ สารเหล่านี้มีประโยชน์ในการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อพืชที่เกษตรกรปลูก ทำให้เพิ่มผลผลิต เพิ่มรายได้ แต่มีผลกระทบต่อสุขภาพของเกษตรกร ทำให้เกิดการเจ็บป่วยแบบเฉียบพลัน เช่น ผื่นคัน ผื่นแดง ปวดศีรษะ มึนงง แสบตา น้ำตาไหล อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน บางรายอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต    ส่วนการเจ็บป่วยจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในระยะยาว ได้แก่ การเกิดโรคมะเร็ง และโรคทางระบบประสาท

สำหรับสารเคมีทางการเกษตรที่มีอันตรายสูง 3 ชนิด (พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต) มีผลกระทบต่อสุขภาพ ดังนี้

1.พาราควอต เป็นสารที่มีพิษเฉียบพลันสูง ไม่มียาต้านพิษ มีการยกเลิกการใช้ในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งพิษทำให้ระคายเคืองทางตา หากผิวหนังมีบาดแผลจะซึมเข้าสู่ร่างกายอย่างรวดเร็วเกิดแผลจากการกัดกร่อนได้ และมีผลระยะยาวต่อระบบประสาททำให้เกิดโรคพาร์กินสัน

2.คลอร์ไพริฟอส งานวิจัยในต่างประเทศ ตรวจพบว่ามีผลต่อความผิดปกติด้านพัฒนาการทางสมองของเด็กที่แม่ได้รับสารระหว่างตั้งครรภ์ ทำให้เด็กพัฒนาการช้า ความจำสั้น IQ ต่ำ เป็นสารที่รบกวนการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อ ส่งผลต่อระบบไทรอยด์ กระตุ้นการเจริญเติบโตเซลล์มะเร็งลำไส้

3.ไกลโฟเซต สถาบันวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ ภายใต้องค์การอนามัยโลก กำหนดให้เป็นสารที่น่าจะก่อมะเร็งได้ เป็นสารที่รบกวนการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อ กระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเต้านมที่อาศัยฮอร์โมนเอสโตรเจน ก่อให้เกิดโรคไตเรื้อรัง และมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคหลายชนิดเพิ่มมากขึ้น เช่น เบาหวาน โรคอ้วน อัลไซเมอร์ รวมทั้งพบการตกค้างในซีรั่มทารกแรกเกิดและมารดา

ดร.พญ.ชุลีกร ยังกล่าวอีกว่า สารเคมีไม่ว่าจะเป็นชนิดใดๆ ก็สามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรังได้ ประชาชนจึงไม่ควรใช้หรือสัมผัสสารเคมีใดๆ และควรป้องกันตนเองก่อนที่จะเจ็บป่วย แต่หากจำเป็นต้องใช้สารเคมีก็ขอให้ระมัดระวัง ตามหลัก “เกษตรกรปลอดภัย อ่าน ใส่ ถอด ทิ้ง” ดังนี้ ก่อนการใช้ 1) อ่านฉลาก ทำตามคำแนะนำก่อนใช้งาน 2) ตรวจสอบอุปกรณ์ ก่อนใช้งานทุกครั้ง 3) ห้ามเปิดขวดและซองสารเคมีด้วยปาก 4) ห้ามใช้มือเปล่าผสมสารเคมี   ระหว่างการใช้ 1) ใส่เสื้อผ้าอุปกรณ์ป้องกันให้มิดชิด 2) ยืนเหนือลมขณะฉีดพ่น 3) ห้ามสูบบุหรี่/กินอาหาร/ดื่มน้ำ 4) หากสารเคมีหกรด ให้รีบล้างด้วยสบู่และน้ำสะอาด  หลังการใช้ 1) ถอดเสื้อผ้าแยกซัก 2) อาบน้ำทันที หลังฉีดพ่นเสร็จ 3) ไม่ทิ้งบรรจุภัณฑ์รวมกับขยะทั่วไป 4) หากมีอาการผิดปกติ ให้รีบไปพบแพทย์  ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422