เรียกเสียงปรบมือได้นับตั้งแต่เปิดตัวโครงการ “เมืองสุขสยาม” เพราะนอกจากความสุขในการรวบรวมสุดยอดเสน่ห์ไทยมาไว้ในที่เดี่ยวกันแล้ว นี่คือหนึ่งในโมเดลใหม่ของวงการค้าปลีก ที่เปิดโอกาสให้สินค้าจากชุมชนได้อวดโฉมต่อสายตาชาวไทยและต่างชาติ จนกลายเป็นแม็กเน็ตในการดึงคนเข้ามาใช้บริการที่ “ไอคอนสยาม” และสามารถสร้างยอดขายสะพัดถึง 1,000 ล้านบาท ผลักดันสู่การกระจายรายได้สู่ชุมชนต่างๆ ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศที่หมุนเวียนเข้ามาออกร้าน
“เมืองสุขสยาม” เป็นหนึ่งในพื้นที่แห่งความสุขใน “ไอคอนสยาม” แลนด์มาร์คที่ได้รับการยกย่องระดับโลก แหล่งรวบรวมสุดยอดเสน่ห์แห่งวิถีไทยจากทุกภูมิภาค บนพื้นที่ประมาณ 15,000 ตารางเมตร คัดสรร ของกิน ของใช้ ของแท้ ต้นตำรับไทยมาไว้ในที่เดียวกัน ภายใต้บรรยากาศแห่งความสุขและการสร้างสรรค์ ปัจจุบันมีผู้ประกอบการร้านค้าชุมชนเปิดให้บริการทุกวันกว่า 30 ร้านค้า และร้านค้าที่หมุนเวียนเข้ามาสร้างความสุขกว่า 1,000 ร้าน
ในปีที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวให้ความสนใจ เกิดกระแส “สัมผัสเสน่ห์วิถีไทย ให้สุขใจ ต้องไปเมืองสุขสยาม” ขึ้นแท่นสุดยอดแหล่งกินแหล่งช้อปของไทยครบครัน ที่ต้องห้ามพลาด ขานรับนโยบายรัฐบาลสู่การกระจายรายได้สู่ชุมชน สืบสานภูมิปัญญาวิถีไทยอย่างยั่งยืน โดยปัจจุบัน มีนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการเฉลี่ย 50,000-70,000 คนต่อวัน แบ่งเป็น ชาวไทย 40% ชาวต่างชาติ 60% โดยครึ่งหนึ่งของลูกค้าต่างชาติคือ จีน รองลงมาคือ ชาวไต้หวัน และนักท่องเที่ยวจากอาเซียน รวมถึงจากรัสเซีย อินเดีย เกาหลี ญี่ปุ่น ยุโรป และตะวันออกกลาง
นางลักขณา นะวิโรจน์ ประธานโครงการเมืองสุขสยาม กล่าวว่า “เมืองสุขสยาม” หนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของไอคอนสยาม เป็นความสำเร็จของมหาปรากฏการณ์ที่รวบรวม Local Heroes ศิลปิน ช่างฝีมือ ผู้ประกอบการ และวิสาหกิจชุมชนจำนวนมากที่ไม่มีโอกาสได้ทำการค้าขายในกรุงเทพฯ ให้ได้เข้ามาทำการค้าขายบนเวทีที่มีศักยภาพภายใต้แนวคิดให้การสนับสนุนและส่งเสริมผู้ผลิตสินค้าชุมชนในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ให้มีความรู้ทางด้านการขายและการทำการตลาด รวมทั้งการประกอบธุรกิจรูปแบบใหม่ ให้เข้าถึงความต้องการของลูกค้าชาวต่างชาติ สนับสนุนให้สินค้าเหล่านั้นสามารถเจาะตลาดได้ทั้งในและต่างประเทศ ต่อยอดไปสู่การทำ e-Commerce ได้ในอนาคต รองรับการเข้าสู่ความเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ของประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นการช่วยสืบสานมรดกทางภูมิปัญญา รักษางานศิลปะและงานฝีมือดั้งเดิมของไทยให้คงอยู่แบบยั่งยืน
“จากการส่งเสริมด้านการตลาด และสร้างองค์ความรู้อย่างรอบด้านให้กับผู้ประกอบการจากชุมชนต่างๆ ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ ส่งผลต่อความสำเร็จในการทำธุรกิจในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา โดยผู้ที่มาค้าขายในเมืองสุขสยามต่างมีรายได้ที่ดีขึ้น ส่งผลต่อจำนวนเงินทุนที่ใช้ทำธุรกิจและพัฒนาสินค้าต่อไป ขณะที่ลูกหลานของผู้ประกอบการสินค้าชุมชนก็ได้เห็นช่องทางและยินดีที่จะมาต่อยอด เพื่อสืบสานกิจการค้าขาย หรือ งานฝีมือของครอบครัวให้มีความก้าวหน้าอย่างยั่งยืน เพราะได้เห็นโอกาสและความสำเร็จที่เกิดขึ้นจริง นับเป็นการสืบสานรักษาภูมิปัญญา ศิลปะและงานฝีมือดั้งเดิมของไทย โดยมีความพร้อมที่จะนำสินค้าก้าวสู่เวทีโลกต่อไป”
“เมืองสุขสยาม” คือพื้นที่นำเสนอมหัศจรรย์วิถีไทย มรดกทางวัฒนธรรมจาก 4 ภูมิภาคหลักของประเทศ ได้แก่ อาหาร งานศิลปะ หัตถกรรมงานฝีมือ เวชศาสตร์ การแสดงการละเล่นพื้นบ้าน และภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นการผนึกกำลังระหว่างพันธมิตรทางธุรกิจ ศิลปิน วิสาหกิจท้องถิ่น ชุมชนวิถีไทย และผู้ประกอบการรายย่อยระดับท้องถิ่นทั้ง 77 จังหวัด โดย “เมืองสุขสยาม” จะทำหน้าที่เสมือน “เวที” ในการนำเสนอสุดยอดผลิตภัณฑ์จากทั้ง 4 ภูมิภาค แบ่งพื้นที่เป็น 4 โซนหลัก คือ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ และภาคอีสาน
ความโดดเด่นของ “เมืองสุขสยาม” คือ การเปิดพื้นที่ให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นเข้ามานำเสนอสินค้าได้ตลอด 365 วัน อีกทั้งยังส่งเสริมการพัฒนาในด้านต่างๆ อาทิ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ในรูปแบบใหม่ การผสมผสานนวัตกรรมและเทคโนโลยีล้ำสมัย เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ให้แก่เกษตรกรและชาวบ้าน รวมถึงการสนับสนุนในการเรียนรู้กลไกการค้าปลีก และค้าส่งสู่ต่างประเทศ และการตลาดในรูปแบบใหม่อย่างครบวงจร (Omni Channel) ซึ่งเป็นการดำเนินธุรกิจในกลไกของระบบนิเวศน์ทางการค้าที่มีการบริหารจัดการสินค้าอย่างยั่งยืน ตอบโจทย์นโยบาย ‘ประเทศไทย 4.0’ (Thailand 4.0) ของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการนำนวัตกรรมเข้ามาพัฒนาสินค้าภูมิปัญญาท้องถิ่น
นอกจากเสียงตอบรับจากนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลเข้ามาใช้บริการที่เมืองสุขสยามอย่างล้นหลาม ในรอบปีที่ผ่านมา สุขสยามยังช่วยส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการจากชุมชนต่างๆ ด้วยการคัดเลือกร้านค้าที่มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์จากแต่ละภาค มาเข้ารับการฝึกอบรมเสริมทักษะความรู้ ก่อนจะทำการทดสอบเพื่อคัดเลือกสุดยอดร้านค้า เพื่อมอบรางวัลแห่งเกียรติยศ “SOOKSIAM Local Heroes 2019” ให้กับผู้ประกอบการจำนวน 10 ราย สำหรับ Local Heroes แห่งปี โดยรางวัลเหล่านี้จัดขึ้นเพื่อเชิดชูสินค้าเอกลักษณ์จากท้องถิ่นไทย และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการจากชุมชนต่างๆ สามารถรักษามาตรฐานพร้อมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันอยู่เสมอ อันนำมาซึ่งการเติบโตที่ยั่งยืน โดยได้ทำการมอบรางวัล “SOOKSIAM Local Heroes 2019” เป็นครั้งแรกในโอกาสครบรอบ 1 ปีของสุขสยามไปเมื่อเร็วๆ นี้
“ถือเป็นความภาคภูมิใจของสุขสยาม ที่มีส่วนผลักดันให้สินค้าชุมชนได้รับความสำเร็จเป็นอย่างดีจากตลาดทั้งในและต่างประเทศ ด้วยเอกลักษณ์และเสน่ห์ของความเป็นไทย ในปีที่ผ่านมามีผู้ประกอบการหลายรายที่เข้ามาออกร้านในสุขสยามจนได้รับเสียงตอบรับที่ดีเยี่ยมแล้ว ยังได้รับความสนใจจากลูกค้าชาวต่างชาติ สามารถต่อยอดความสำเร็จสู่การออกสู่ตลาดสากล อาทิ ลุงเงินกาแฟหม้อดิน จ.เชียงใหม่ ที่ได้ขยายสาขาไปยังประเทศอินโดนีเซีย, ก๋วยเตี๋ยวเรือเมืองปทุม ที่ได้รับการซื้อเฟรนไชส์ไปยังประเทศจีน, ผลิตภัณฑ์แฮนเมดจากไหมพรม “จุ๊บเจลเนอรัล” จากเขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร ที่ได้รับการติดต่อไปจำหน่ายในประเทศไต้หวัน, ขนมงาบ้านชานเมือง (เด็กดอย) จ.แม่ฮ่องสอน, หัตถกรรม “ผ้าตุ้มทอง” จ.บุรีรัมย์ กลุ่มวิสาหกิจไทเมืองเพีย จ.ขอนแก่น, และขนมจีบป้าพิณ จ.ตรัง”
สำหรับแผนการพัฒนาและขยายธุรกิจ “เมืองสุขสยาม” ณ ไอคอนสยาม ในปี พ.ศ. 2563 มีแผนเปิดตัวโครงการ “เมืองสุขสยามอะคาเดมี” เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการท้องถิ่นของไทยให้ก้าวสู่สากลอย่างเป็นรูปธรรม ส่วนแผนในระยะยาว “เมืองสุขสยาม” ยังคงมุ่งมั่นส่งเสริมและผลักดันให้ผู้ประกอบการและสินค้าชุมชนของไทย ไม่ว่าจะเป็นอาหารและหัตถศิลป์ ไปสู่เวทีระดับนานาชาติ
โดยในปี 2563 จะร่วมมือกับ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) รวมทั้งกรมพัฒนาชุมชน เพื่อเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการในด้านต่างๆ ทั้งผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัล SOOKSIAM Local Heroes และ ผู้ประกอบการที่จะทำการคัดเลือกใหม่มาอีกประมาณ 10 ราย โดยมีเป้าหมายในการหาออกสู่ตลาดต่างประเทศ ทั้งนี้อาจจะต้องใช้เวลาพอสมควรในการพัฒนาผู้ประกอบการซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวบ้าน เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า จะสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนได้อย่างแท้จริง โดยตั้งเป้าว่าจะเห็นภาพที่ชัดเจนของ “เมืองสุขสยามอะคาเดมี” ภายใน 3 ปีข้างหน้า
“เราต้องการให้เมืองสุขสยาม เป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของคนไทยทุกคน และได้รับการกล่าวถึงเป็นประเด็นระดับชาติ ด้วยความตั้งใจในการส่งเสริมและสนับสนุนของภาคเอกชน ที่ต้องการกระจายองค์ความรู้และรายได้ไปสู่ผู้ประกอบการสินค้าชุมชนของไทย ตามนโยบายของรัฐบาลที่เน้นการพัฒนาองค์ความรู้ ความสามารถ และการสร้างรายได้ของชุมชนท้องถิ่น ในการจะนำมาซึ่งการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวมและอย่างยั่งยืน” นางลักขณา กล่าวในตอนท้าย