ม.มหิดล จัดโครงการ “ลดลงสักนิด พิชิตโรค” ลดเสี่ยงเบาหวาน

37

โรคเบาหวาน ความจริงใกล้ตัวกว่าที่คิดมาก ปัจจุบันคนไทยประมาณ 4.8 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 8.9 ของคนไทยทั้งหมดเป็นเบาหวาน และที่น่ากลัว คือ ร้อยละ 50 ของคนไข้ที่เป็นเบาหวาน ไม่ทราบเลยว่าตัวเองเป็นเบาหวาน ส่วนที่รู้ตัวแล้วก็ยังมีอีกประมาณร้อยละ 40 ที่ไม่ได้รับการรักษา และยังมีอีก 7.7 ล้านคนที่แม้ยังไม่เข้าเกณฑ์ในการวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวาน แต่ก็เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานในอนาคต

นายแพทย์ชัยวัฒน์ วชิรศักดิ์ศิริ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการบริบาลผู้ป่วยนอก ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทย ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และกรรมการเครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวในการบรรยาย “เบาหวานที่เคยได้ยิน กับความจริง อาจไม่เหมือนกัน” จัดโดย หน่วยพยาบาลด้านป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพ งานการพยาบาลตรวจรักษาผู้ป่วยนอก ณ ห้องประชุม 7008 ตึกสยามินทร์ ชั้น 7 โรงพยาบาลศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

“เบาหวานในช่วงที่เริ่มเป็น โดยมากมักจะไม่มีอาการอะไร แต่หากปล่อยทิ้งไว้ จะเป็นเหมือนกับยาพิษออกฤทธิ์ช้าๆ ที่จะค่อยๆ กัดกินเส้นเลือดทั่วร่างกายไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายพอร่างกายเราทนไม่ไหว ก็จะเกิดภาวะแทรกซ้อนต่ออวัยวะต่าง ๆ ตามมา เช่น ต่อสมอง หัวใจ ไต ตา และเท้า แล้วคนไข้ถึงจะมาโรงพยาบาล ซึ่งมักจะช้าเกินไปแล้ว”

ปัญหาเกิดจากความไม่ตระหนักในการป้องกันโรค เพราะฉะนั้นอยากให้คนทั่วไปดูตัวเองว่ามีความเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานหรือไม่ หากคนใดมีความเสี่ยงควรเข้ารับการตรวจคัดกรอง และหากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวาน ก็ควรรีบรักษาให้ทันท่วงทีตั้งแต่ระยะแรก ซึ่งการรักษาควบคุมโรคให้ดีแต่แรกสามารถป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้เป็นอย่างดี”

“คนทั่วไปที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง สามารถที่จะเปลี่ยนแปลง หรือปรับพฤติกรรมเพื่อป้องกันการเป็นเบาหวานได้ โดยผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงคือ คนมีอายุเกิน 35 ปีขึ้นไป มีภาวะอ้วนหรืออ้วนลงพุง เคยมีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เป็นโรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าเบาหวานเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้จากปัจจัยหลายด้านทั้งกรรมพันธุ์ และพฤติกรรม แม้ว่าบางรายมีพ่อแม่เป็นเบาหวาน แต่ถ้ามีพฤติกรรมที่ดี ก็อาจจะไม่เป็นเบาหวาน ในขณะที่บางรายพ่อแม่ไม่ได้เป็นเบาหวาน ถ้ามีพฤติกรรมเสี่ยง รับประทานอาหารที่มีน้ำตาลสูง และขาดการออกกำลังกายที่เพียงพอ ก็สามารถเป็นเบาหวานได้” นายแพทย์ชัยวัฒน์ วชิรศักดิ์ศิริ กล่าว

นายแพทย์ชัยวัฒน์ วชิรศักดิ์ศิริ

ปัจจุบันพบว่าคนไข้เป็นเบาหวานอายุน้อยลงเรื่อยๆ เนื่องจากมีพฤติกรรมการกินที่เปลี่ยนแปลงไปจากสมัยก่อน จึงไม่ควรประมาท เพราะยิ่งอายุน้อย ยิ่งทำให้มีเวลาในการสัมผัสกับการเป็นโรคนานขึ้น รวมทั้งโอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคก็มากขึ้นด้วย ซึ่งมีผลต่อคุณภาพชีวิตของคนไข้ในระยะยาว และต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายอีกเป็นจำนวนมาก โดยในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม นายแพทย์ชัยวัฒน์ วชิรศักดิ์ศิริ แนะนำว่าควรเริ่มต้นตั้งแต่วัยเด็ก สอนให้กินผักกับออกกำลังกายให้มากขึ้น และที่สำคัญควรหลีกเลี่ยงอาหาร ขนม และเครื่องดื่มที่มีรสหวาน โดยฝึกดื่มน้ำเปล่าให้เป็นนิสัยจะปลอดภัยที่สุด

จากรายงานวิจัยที่ว่า สารความหวานเป็นสารที่ออกฤทธิ์ต่อสมอง ทำให้เกิดอาการเสพติดความหวาน คล้ายกับการติดเหล้า และบุหรี่ ซึ่งในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม นายแพทย์ชัยวัฒน์ วชิรศักดิ์ศิริ ไม่แนะนำให้ผู้ที่ติดหวานอย่างรุนแรง หยุดหวานทันที แต่ควรค่อยๆ ถอนออก จากที่เคยดื่มน้ำหวานทุกวัน อาจจะเริ่มดื่มเพียงวันเว้นวันก่อน แล้วค่อยๆ ห่างไปเรื่อยๆ จะค่อยๆ ดีขึ้น และหยุดกินหวานให้ได้

การหยุดหวานในทันทีอาจทำให้หงุดหงิด อารมณ์ก้าวร้าว และรู้สึกโหยความหวาน ซึ่งจะทำให้ในท้ายที่สุดก็จะกลับมารับประทานอาหารรสหวานอีกเช่นเคย ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแรกๆ อาจต้องฝืน แต่พอเปลี่ยนไปสักระยะนึงจะทำให้เราเริ่มชิน และรู้สึกว่าไม่กินหวานก็อยู่ได้ และยังมีอาหารที่ไม่ต้องมีรสหวาน แต่มีความอร่อยอีกมากมายให้เลือกรับประทาน

นอกจากนี้ การใช้สารแทนน้ำตาลเพื่อให้ค่อยๆ ถอนน้ำตาลธรรมดาออกไป ก็สามารถทำได้ หากไม่ได้รับประทานจนเกินขนาด อย่างไรก็ดีหากเรายังกินของที่มีรสหวานต่อเนื่อง ร่างกายและสมองจะถูกหลอกว่าต้องการความหวาน เราก็จะไปกินหวานอย่างอื่นเพิ่มเติมโดยไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้น การใช้สารแทนน้ำตาลจึงควรทำเพียงระยะเวลาหนึ่ง เพื่อการวางแผนลดหวานต่อไปในระยะยาว มากกว่าที่จะใช้อย่างต่อเนื่อง

“ขอเพียงมีความตั้งใจ ก็สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดหวานเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ โดย ศูนย์เบาหวานศิริราช (SiDM), ภาควิชาอายุศาสตร์, เวชศาสตร์การกีฬาและหน่วยการพยาบาลด้านป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดโครงการ “ลดลงสักนิด พิชิตโรค” เพื่อให้ความรู้สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง และโรคอ้วนอย่างต่อเนื่อง โดยดำเนินโครงการมาปีนี้เป็นปีที่ 7 แล้ว ผู้สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 0-2419-9568 หรือ 0-2419-9569 https://www.si.mahidol.ac.th/sdc หรือ FB: ศูนย์เบาหวานศิริราช” นายแพทย์ชัยวัฒน์ วชิรศักดิ์ศิริ กล่าวทิ้งท้าย