ม.มหิดล ริเริ่มสอนกู้ชีพออนไลน์

15

โลกในศตวรรษที่ 21 มีความแตกต่างจากโลกในศตวรรษที่ผ่านมาในทุกด้าน เนื่องจากเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม การศึกษาจึงต้องพัฒนาให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง โดยจำเป็นต้องเพิ่มทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ให้กับนักศึกษา ทั้งในด้านความรู้เกี่ยวกับโลก ตลอดจนความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และการเป็นพลเมืองที่ดี

รัฐบาลกำหนดให้วันที่ 26 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ เพื่อให้ทุกฝ่ายรำลึกถึงวันที่ประเทศไทยได้ประสบภัยพิบัติครั้งรุนแรง และกระตุ้นเตือนให้ประชาชนตระหนักถึงผลกระทบจากภัยพิบัติ จะได้ร่วมกันเตรียมความพร้อมในการรับมือภัยพิบัติ และดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท ซึ่งหลายคนรอดพ้นจากนาทีวิกฤติของชีวิตจากการทำ CPR (Cardiopulmonary resuscitation) หรือการกู้ชีพจากการเป็นมหาวิทยาลัยไทยที่ดีที่สุดทางด้านการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ ปี 2020 จากการจัดอันดับของTimes Higher Education (THE) มหาวิทยาลัยมหิดลคาดหวังให้นักศึกษาทุกคนสามารถทำ CPR หรือการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐานได้ ตามดำริของ ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ที่มองว่าการทำ CPR เป็นทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่21 สำหรับนักศึกษา โดยสามารถนำความรู้ด้านสุขภาพ ไปทำหน้าที่พลเมืองที่ดีของสังคมได้

“มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นสถาบันที่เกิดจากการเป็นโรงเรียนแพทย์ เป็นความคาดหวังของคนในสังคมในเรื่องของการแพทย์ เราจึงคิดริเริ่มให้นักศึกษาทุกคนได้เรียนรู้การทำCPR หรือกู้ชีพเบื้องต้น เพื่อทำประโยชน์ต่อสังคม ช่วยเหลือผู้ป่วยที่เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ซึ่งอาจเสียชีวิตได้โดยไม่รู้ตัวหากไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างถูกวิธีในเบื้องต้นได้ทันท่วงที โดยเราจะเป็นที่แรกที่ตั้งเป้าว่านักศึกษาทุกคนจะต้องผ่านการอบรม CPR ขั้นพื้นฐาน

โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นนักศึกษาแพทย์ แต่อย่างน้อยได้เรียนรู้วิธีการที่จะช่วยชีวิตผู้ประสบภัยยามฉุกเฉินได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งรวมถึงความสามารถในการใช้เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจชนิดอัตโนมัติ AED ที่อยู่ใกล้ตัวด้วย” ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ กล่าว

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เรืออากาศโท ทันตแพทย์ชัชชัย คุณาวิศรุต รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเสริมว่า กองกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้พัฒนาพื้นที่หอพักนักศึกษามหิดล (ศาลายา) ให้เป็นแหล่งเรียนรู้และฝึกทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 โดยได้มีการเตรียมจัดสร้างห้อง Mahidol BLS (Basic Life Support) Training Centerไว้เพื่อเป็นพื้นที่ฝึกการกู้ชีพเบื้องต้นให้กับนักศึกษาฝึกทำCPR และใช้เครื่อง AED

มีอุปกรณ์ที่ช่วยในการฝึกช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานพร้อมติดตั้ง ได้แก่ หุ่นฝึกช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน จำนวน 30 ชุด และอุปกรณ์แสดงผลจำนวน 6 ชุด รวมทั้งเครื่อง AED ใน 4 แบบ รวมจำนวน 30 เครื่อง ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ภายในปลายเดือนมกราคม 2563 และจะเสร็จสิ้นประมาณปลายเดือนมีนาคม2563

“เรามีวิชา กู้ชีพ กู้ใจ ใครๆ ก็ทำได้” ซึ่งเป็นการเรียนรู้ด้วยตนเองแบบออนไลน์ เป็นรายวิชาที่สอนการกู้ชีพขั้นพื้นฐานและวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยเนื้อหาวิชากล่าวถึงหลักความปลอดภัยก่อนเข้าช่วยเหลือผู้ป่วย การกู้ชีพขั้นพื้นฐานรวมทั้งการใช้เครื่อง AED ได้อย่างถูกต้อง เป็นวิชาที่จะทำให้ใครๆ ก็สามารถให้การช่วยชีวิต หรือปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้ เปิดให้ผู้สนใจทั่วไปลงทะเบียนฟรีที่www.thaimooc.org” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เรืออากาศโททันตแพทย์ชัชชัย คุณาวิศรุต กล่าว

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยมหิดลได้มีการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉิน หรือ Mahidol University Emergency Response Team (MUERT) ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายาโดย นายสรวิชญ์ วัชรกิจไพศาล ซึ่งปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 3 หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลและเป็นนักศึกษาประจำหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉิน ได้เล่าถึงการทำงานของหน่วยว่า มีนักศึกษาปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์มาประจำหน่วยหมุนเวียนเปลี่ยนเวรกันตลอด 24 ชั่วโมง

เนื่องจากสาขาวิชาที่เรียนเกี่ยวกับด้านการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินโดยตรง โดยมีทำงานกันเป็นระบบ และประสานงานร่วมกับศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 ซึ่งทุกคนในทีมพร้อมที่จะให้การดูแลเบื้องต้นแก่ผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินในพื้นที่ได้อย่างถูกต้องและทันท่วงที ก่อนที่จะมีการส่งต่อไปรักษายังสถานพยาบาลที่เหมาะสมต่อไป

หลักการทำ CPR เบื้องต้น เริ่มจากการประเมินผู้ป่วยว่ารู้สึกตัวหรือไม่ ด้วยการปลุกดังๆ และขอความช่วยเหลือ โดยโทร1669 เพื่อเรียกแพทย์ฉุกเฉิน และขอเครื่อง AED มาใช้กระตุ้นหัวใจผู้ป่วย ระหว่างรอให้กดหน้าอกปั๊มหัวใจผู้ป่วยไปด้วย โดยวางส้นมือ 2 ข้าง ซ้อนกันกลางกระดูกหน้าอกกดลึก 5 – 6 ซม. ด้วยความเร็ว 100 – 120 ครั้ง/นาที ทำไปเรื่อยๆ จนกว่าทีมช่วยเหลือจะมาถึง ซึ่งการใช้เครื่อง AED ให้ติดแผ่นนำไฟฟ้าบริเวณใต้กระดูกไหปลาร้าด้านขวา และชายโครงด้านซ้าย และทำตามคำแนะนำของเครื่อง โดยระหว่างติดแผ่นนำไฟฟ้า ห้ามสัมผัสตัวผู้ป่วย

ซึ่งจากการบอกเล่าของนักศึกษารายหนึ่งที่เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นจนหมดสติไปในขณะวิ่งออกกำลังที่สนามกีฬา และได้รับการช่วยเหลือจนรอดชีวิตด้วยการทำ CPR ประกอบกับการใช้เครื่อง AED เมื่อประมาณต้นปี 2562 ยืนยันว่า CPR เป็นเรื่องใกล้ตัว อาการหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ถึงเเม้จะเป็นผู้ที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอก็สามารถเสี่ยงต่ออาการดังกล่าวได้ ซึ่งการฝึก CPR เปรียบเสมือนยาสามัญประจำบ้านที่สามารถต่อลมหายใจของใครหลายคนได้จริงๆ