ผอ.สปสช. เขต 7 ขอนแก่น เผย ผลงานวิจียเกี่ยวกับการร้องทุกข์ทางการแพทย์ 1 กรณี ส่งผลกระทบแฝงต่อคนจำนวน 1,560 คน ชี้ต้องแก้ปัญหาเชิงรุก ด้าน รมว.สธ.เตรียมแผนยกระดับ 10 โรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติฯ เป็นมากกว่าโรงพยาบาล
นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 7 ขอนแก่น กล่าวในเวทีเสวนา หัวข้อปัญหาหรือโอกาส : จากข้อมูลสะท้อนกลับสู่การพัฒนาความปลอดภัยบริการ (2 P Safety Goals) ซึ่งอยู่ภายในงานการสัมมนาเครือข่ายคุณภาพและความปลอดภัยในระบบบริการ ประจำปี 2561 เมื่อวันที่ 6 พ.ย.2560 ตอนหนึ่งว่า ท่ามกลางบาดแผลและความสูญเสียที่เกิดขึ้น สิ่งที่เรามักจะได้ยิน และนำมาสู่การพูดคุยเสมอนั่นก็คือแพทย์ผิดหรือแพทย์ไม่ผิด ขณะที่ความต้องการของผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการสาธารณสุขก็มีความแตกต่างกัน เช่น ประชาชนต้องการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพ ได้รับสิทธิประโยชน์ที่ดี ผู้ให้บริการก็ต้องการจัดบริการที่ดี และมีประเด็นเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ ขณะที่กองทุนสุขภาพก็มักมีประเด็นเรื่องงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรจากภาครัฐ คำถามคือในเมื่อมุมมองของทุกฝ่ายแตกต่างกันแล้วอะไรคือความต้องการร่วม ซึ่งแน่นอนว่าทุกคนต้องการคุณภาพ
นพ.ปรีดา กล่าวอีกว่า จากงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการร้องเรียนหรือร้องทุกข์จากการรับบริการทางการแพทย์ พบว่า 1 คนที่มีความทุกข์ หรือไม่มีความสุขจากการรับบริการนั้น หมายถึงยังมีอีก 25 คน ที่ประสบปัญหาเดียวกัน นั่นหมายความว่าเมื่อพบความทุกข์ 1 คน เท่ากับมีจำนวนจริงๆ ถึง 26 คนที่เป็นทุกข์
นอกจากนี้ งานวิจัยยังระบุอีกว่า ในจำนวน 26 คนที่มีความทุกข์ มักจะไปเล่าหรือบอกต่อความทุกข์เหล่านั้นให้คนอื่นรับรู้อีกคนละ 10 คน โดยคน 10 เหล่านั้นก็จะมีประสบการณ์ร่วมที่คล้ายคลึงกัน นั่นหมายความว่าจะมีคนเกิดทุกข์แล้วถึง 260 คน มากไปกว่านั้นก็คือคนทั้ง 260 คนจะไปพูดต่ออีกอย่างน้อยคนละ 5 คน ซึ่งงานวิจัยสรุปว่าที่สุดแล้วการร้องทุกข์เพียง 1 คน จะมีผู้ที่มีความทุกข์ทั้งสิ้น 1,560 คน นั่นจึงเป็นสาเหตุที่เมื่อหน่วยบริการได้รับการร้องเรียนแล้ว จำเป็นต้องนำเรื่องร้องเรียนเหล่านั้นไปปรับปรุง และทำงานเชิงรุกเพื่อแก้ไขปัญหา
นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า เห็นด้วยกับข้อสรุปจากการประชุมที่ระบุว่าเราคงอยู่ไม่ได้ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชน โดยในระยะเวลาอันใกล้นี้ สธ.กำลังจะรณรงค์ ให้โรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชนที่ตั้งอยู่ในถิ่นทุรกันดารจำนวน 10 แห่ง เป็นศูนย์ศึกษาเรียนรู้ภายใต้แนวคิด “เป็นมากกว่าโรงพยาบาล” ที่จะต้องเป็นของประชาชน โดยความเห็นของประชาชนที่มาร่วมมือกับเรา เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง