ระดับน้ำที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดของแม่น้ำโขง สร้างผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่หลายแห่ง ขณะเดียวกัน ภัยแล้งที่เกิดขึ้น ยังนำมาซึ่งโรคภัยต่างๆ โดยทางกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ออกประกาศเตือนโรคที่มากับภัยแล้งในช่วงนี้
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์ระดับน้ำในแม่น้ำโขงเริ่มลดลง หลังจากสาธารณรัฐประชาชนจีน แจ้งว่ามีการปรับลดการระบายน้ำจากเขื่อนจิ่งหง เพื่อทดสอบอุปกรณ์ของโรงผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ ซึ่งอาจส่งผลกระทบจนเกิดภัยแล้งในพื้นที่ริมแม่น้ำโขง รวมถึงต้องระวังโรคที่มากับภัยแล้ง ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง โรคอาหารเป็นพิษ โรคบิด อหิวาตกโรค ไข้ไทฟอยด์หรือไข้รากสาดน้อย และไวรัสตับอักเสบเอ
ทั้งนี้ในปี 2562 จากระบบเฝ้าระวัง รายงานผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วง 1,031,998 ราย โรคอาหารเป็นพิษ 105,672 ราย โรคบิด 2,049 ราย อหิวาตกโรค 13 ราย ไข้ไทฟอยด์หรือไข้รากสาดน้อย 1,065 ราย และไวรัสตับอักเสบเอ 413 ราย”
“พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพในสัปดาห์นี้ (วันที่ 5 – 11 ม.ค. 63) คาดว่าในช่วงนี้มีโอกาสจะพบผู้ป่วยโรคที่มากับภัยแล้งได้ เนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่เริ่มลดลง ทำให้ประชาชนเริ่มประสบปัญหาขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภค บริโภค และทำการเกษตร โดยเฉพาะในพื้นที่ 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขง ได้แก่ เชียงราย เลย นครพนม หนองคาย มุกดาหาร บึงกาฬ อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี
กรมควบคุมโรค ขอเตือนประชาชนให้ระวัง 6 โรคที่มากับภัยแล้ง ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง โรคอาหารเป็นพิษ โรคบิด อหิวาตกโรค ไข้ไทฟอยด์หรือไข้รากสาดน้อย และไวรัสตับอักเสบเอ โดยประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมดำเนินการคุมเข้มมาตรฐานน้ำดื่ม น้ำประปา น้ำแข็ง ไอศกรีม ความสะอาดของตลาดสด ส้วมสาธารณะ และห้องครัว พร้อมแนะประชาชนให้ยึดหลัก “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” โดยกินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ใช้ช้อนกลางเมื่อกินอาหารร่วมกัน หมั่นล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนกินอาหาร และหลังการขับถ่าย หากมีอาการท้องเสีย ดูแลเบื้องต้นโดยการจิบน้ำผสมสารละลายเกลือแร่ (ORS) บ่อยๆ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ หากอาการไม่ดีขึ้น รับประทานอาหารไม่ได้ กระหายน้ำมากกว่าปกติ หรืออุจจาระเป็นมูกปนเลือด ควรรีบไปพบแพทย์ทันที สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422”