ฉายแววดาวเด่นบัวหลวง ๑๐๑ อ.เฉลิมชัย ให้ข้อคิดสู่ศิลปินมืออาชีพ

249

ความสามารถในการสร้างผลงานศิลปะที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์จากฝีมืออันวิจิตรบรรจงผ่านเอกลักษณ์แห่งตัวตน เป็นหัวใจของความเป็นศิลปิน  และส่วนประกอบที่สำคัญไม่แพ้กันคือการใฝ่หาประสบการณ์เพื่อเกิดพัฒนาการอยู่เสมอ

เช่นเดียวกับเวทีที่มีครบเครื่องทั้งด้านประสบการณ์และการเรียนรู้  “ดาวเด่นบัวหลวง ๑๐๑” ซึ่งเป็นโครงการแข่งขันวาดภาพสด ที่จัดขึ้นแล้วเป็นปีที่ 10 ในปีนี้ ภายใต้ความร่วมมือของมูลนิธิบัวหลวง  ร่วมกับ  มูลนิธิหอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ  เพื่อจุดประกายและสร้างแรงบันดาลใจทางด้านงานศิลปะ สนับสนุน เสริมสร้างศิลปินหนุ่มสาวรุ่นใหม่  ให้มีเวทีแสดงออกถึงความสามารถทางด้านการรังสรรค์ศิลปะ

ในการจัดการประกวดในปีนี้ หัวข้อในการสร้างสรรค์งานคือ  ประเทศไทย : อรุโณทัยแห่งจินตนาการ จัดขึ้นระหว่าง วันที่ 18-27 พฤศจิกายน 2560 และได้มีการประกาศผลรางวัลไปแล้วเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ ศาสตราจารย์กิตติคุณกำจร สุนพงษ์ศรี  ศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณปรีชา  เถาทอง  อาจารย์ธงชัย รักปทุม  ศาสตราเมธี ดร.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์, อาจารย์ปัญญา วิจินธนสารและศาสตราจารย์วิโชค มุกดามณี  เป็นต้น

ตัวแทนนักศึกษาจาก 32 สถาบัน จำนวน 70 คน ได้ใช้เวลาในการทำกิจกรรมและวาดภาพเพื่อส่งเข้าประกวดร่วมกันตลอดระยะเวลา 10 วัน เกิดเป็นนิทรรศการจากศิลปินรุ่นใหม่ที่ฉายแววให้เห็นถึงความสามารถจากแนวคิดของคนรุ่นใหม่ผ่านผลงานศิลปะที่มีเทคนิคเฉพาะตัวแตกต่างกันไป และปีนี้คณะกรรมการได้คัดเลือกผลงานที่ได้รับรางวัลดาวเด่นบัวหลวง จำนวน 3 รางวัล ประกอบด้วยรางวัลยอดเยี่ยม รางวัลความคิดสร้างสรรค์ และรางวัลดีเด่น

เอ็ม-ฤทธิเดช เสียงเส้ง จากมหาวิทยาลัยทักษิณ คว้ารางวัลดาวเด่นบัวหลวง ยอดเยี่ยม ประจำปีนี้ จากผลงาน “ต้นกล้าใหม่ของสังคม” ด้วยเทคนิคสื่อผสม จากไม้กระดาน ได้แรงบันดาลใจจากวิถีชนบท ความเป็นอยู่ของที่บ้านของเขา ซึ่งเป็นชาวสวนในจังหวัดตรัง ภาพแสดงถึงความหวังให้กับเด็กรุ่นหลัง ซึ่งเปรียบเสมือนต้นกล้าใหม่ เป็นอนาคตของประเทศไทย สายตาที่มุ่งมั่นของเด็กคิดที่จะต่อยอดเรื่องเก่าไปสู่โลกกว้าง

“ที่ผ่านมาผมมีโอกาสได้ส่งผลงานเข้าประกวดอยู่บ้าง แต่ยังไม่เคยเข้าร่วมโครงการในลักษณะนี้ ซึ่งในช่วง 10 วัน ผมได้รับมิตรภาพดีๆ จากเพื่อนๆ ได้เรียนรู้ความคิดใหม่ๆ ได้เจออาจารย์และศิลปินมืออาชีพที่มาแนะนำเส้นทางที่ดีให้กับผม การได้รับรางวัลในครั้งนี้ ยังสร้างความมั่นใจให้กับผม เพื่อเสาะหาเส้นทางการเดินสู่ศิลปินมืออาชีพ,” เอ็ม ฤทธิเดช กล่าว

ที่จริงแล้ว เอ็มก็เหมือนกับนักศึกษาที่ยังอยู่ในวัยศึกษาหาความรู้ ซึ่งในช่วงเริ่มต้นเข้าเรียน เต็มไปด้วยความสนใจใคร่รู้โดยปราศจากจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน แต่เมื่อเขาได้รับรางวัลจากเวทีระดับชาติอย่าง ดาวเด่นบัวหลวง ความคิดเขาจึงเริ่มชัดเจนขึ้น

“ตอนแรกที่เข้าเรียนมาก็ได้ไม่ได้ตั้งความหวังหรือเป้าว่าตัวเองจะไปในเส้นทางไหนอย่างไร แต่เมื่อได้คุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมทางด้านศิลปะ จึงมีความคิดที่ไต่เต้าไปสู่จุดที่สูงขึ้นในอนาคต และตอนนี้ผมก็คิดว่าผมกำลังจะไปถึงจุดที่วางเป้าหมายไว้ให้ได้ โดยรางวัลนี้ คือก้าวแรกที่สำคัญมากสำหรับผม มันทำให้ผมมั่นใจว่า ที่เดินมามันใช่ และช่วยผลักดันให้เราก้าวขึ้นสู่ความเป็นศิลปินมืออาชีพในอนาคต”  นาย ฤทธิเดช กล่าว

 

เพียว-ผานิตชา จันทรสมโภช คณะจิตรกรรมฯ ม.ศิลปากร กับรางวัล ดาวเด่นบัวหลวงความคิดสร้างสรรค์ จากผลงาน “อรุณสวัสดิ์” ด้วยเทคนิคบาติก ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของการย่างเข้าสู่รัชสมัยในรัชกาลที่ 10 ในขณะที่ยังสำนึกและรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของในหลวง รัชกาลที่ 9

“การเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ได้เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ เกิดการทดลองใหม่ และได้แลกเปลี่ยนเทคนิคต่างๆ จากเพื่อนๆ ทำให้เราได้พัฒนา ได้มีเทคนิคใหม่กลับไปใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานต่อไป และนี่ถือเป็นการเข้าร่วมโครงการประกวดเป็นครั้งแรก  เมื่อได้รับรางวัลก็รู้สึกภาคภูมิใจ ถือเป็นก้าวสำคัญที่ส่งเสริมเส้นทางการเข้าสู่การเป็นศิลปินมืออาชีพต่อไป จริงๆตอนแรกคิดว่า แค่ได้เข้าร่วมโครงการก็ดีแล้ว ถึงไม่ได้รับรางวัลอะไร อย่างน้อยก็ได้แสดงผลงานให้ผู้อื่นได้ชม แค่นั้นก็ดีใจแล้ว” นส.ผานิตชา กล่าว

เทิน-เทิดธันวา คะนะมะ คณะจิตรกรรมฯ ม.ศิลปากร กับรางวัล ดาวเด่นบัวหลวง ดีเด่น จากผลงาน “ยุคอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี” ด้วยเทคนิคสื่อผสม  เล่าเรื่องราวผ่านแผ่นเหล็กอันเป็นตัวแทนของยุคอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีที่กำลังเฟื่องฟู พร้อมแนวคิดที่ว่า การพัฒนาทางด้านจิตใจก็ควรจะยกระดับตามไปด้วย ก็กล่าวถึงประสบการณ์ได้รับว่าการเข้าร่วมกิจกรรมนี้ ไม่ใช่เป็นเรื่องการแข่งขันหรือมาดูผลงานของเพื่อนต่างสถาบัน แต่เป็นการได้โอกาสฝึกฝน การได้มีมิตรภาพและแลกเปลี่ยนความคิด

“สิ่งที่ผมได้รับจากโครงการนี้คือมิตรภาพที่ดี  ไม่ใช่แค่ได้มาเห็นผลงานของเพื่อนๆ แต่เราได้มาอยู่ด้วยกัน แบ่งปันกัน ตอนทำงานผมจึงรู้สึกมีความสุขมาก และอนาคตข้างหน้าผมก็อยากเป็นศิลปินมืออาชีพ ผมจะตั้งใจทำงานและพัฒนางานของผมอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมา ผมเคยเข้าประกวดมาหลายๆเวที แต่เวทีนี้ ต้องนับว่าเป็นความสำเร็จสูงสุด” นาย เทิดธันวากล่าว

ศาสตรเมธี ดร.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ หนึ่งในคณะกรรมการตัดสินในครั้งนี้และหนึ่งในคณะผู้ก่อตั้งโครงการดาวเด่นบัวหลวง ให้ข้อแนะนำว่า สิ่งสำคัญของการเป็นศิลปินมืออาชีพ คือสร้างผลงานที่ดีอย่างต่อเนื่อง และการส่งผลงานเข้าประกวดก็เป็นทางลัดหนึ่งสู่การเป็นศิลปินมืออาชีพ ยิ่งประกวดบ่อย ก็ยิ่งเพิ่มประสบการณ์

แต่ไม่เพียงเท่านั้น เส้นทางสู่ศิลปินมืออาชีพนอกจากการเข้าประกวดเวทีระดับชาติแล้ว ก็ยังต้องอาศัยองค์ประกอบอีกหลายอย่าง

“นอกจากการมีผลงานที่ดีแล้ว ต้องมีสังคมที่ดีด้วย เราต้องไปงานแสดงศิลปะของรุ่นพี่ ครูบาอาจารย์ งานแสดงผลงานของศิลปิน ไปเพื่อแลกเปลี่ยนทัศนคติระหว่างรุ่นพี่รุ่นพี่รุ่นน้อง  ไปเพื่อพบปะกับนักสะสมผลงานศิลปะ  การได้ดูผลงานศิลปะมากเท่าไหร่ก็ยิ่งดี ได้พบกับคนในแวดวงศิลปะมากเท่าไหร่ก็ยิ่งดี   ถ้าเราเขียนรูปแล้วเก็บตัว มันไม่มีโอกาสในยุคสมัยนี้. อ.เฉลิมชัย กล่าว

“สมัยนี้มันคือยุคสมัยแห่งการพรีเซ็นต์ตัวเอง  ผลงานดีแล้วก็ต้องฝึกการพูด ฝึกการอธิบายถึงผลงานของเรา และ ต้องมีจิตวิทยาเรื่องธุรกิจ ต้องรู้ว่าการค้าขายรูปมีหนทางอย่างไร  จะฝากขายผ่านแกลอรี่ จะมุ่งจัดนิทรรศการของตัวเอง หรือรวมกลุ่มกับคนอื่น สองอย่างนี้จะเอาแบบไหน หรือจะเอาทั้งสองแบบ”  อ.เฉลิมชัย กล่าวย้ำ

นอกจากนี้ เส้นทางการเข้าสู่ความเป็นศิลปินมืออาชีพของศิลปินไทย มีทั้งโอกาสและอุปสรรค ซึ่ง อ.เฉลิมชัย ก็ได้อธิบายไว้อย่างน่าสนใจว่า

“ข้อด้อยของศิลปินในประเทศไทย คือไม่มีผู้จัดการมืออาชีพ ในต่างประเทศศิลปินแค่สร้างผลงาน แล้วจะมีคนเข้ามาจัดการให้ ทั้งการแสดงผลงาน ติดต่อซื้อขาย แม้วันนี้ในไทยจะมีอยู่บ้าง แต่ก็จัดการกับศิลปินใหญ่ที่มีชื่อเสียง  วันนี้ศิลปินเล็กๆ  เริ่มมีผู้จัดการบ้างแต่ก็ยังน้อย  ในอนาคตสัก 10 ปีข้างหน้า ศิลปินรุ่นใหม่จะได้รับการดูแลมากขึ้น  ตอนนี้ศิลปินที่อยู่รอดในประเทศไทย ต้องช่วยเหลือตัวเองมาก ต้องมีความสามารถทุกด้าน ไม่ว่าเขียนรูป  จิตวิทยา การค้าขายรูป ดังนั้นเขาจะต้องมีความรอบรู้หลากหลาย เขาต้องพูดเก่ง ต้องพีอาร์เก่ง ต้องคุยกับเศรษฐีเป็น ต้องอยู่ในสังคมได้ทุกรูปแบบ พัฒนาตัวเอง เรียนรู้ให้อยู่รอดได้”

สำหรับโอกาสที่ดีของเส้นทางของศิลปินมืออาชีพ คือ พื้นที่ที่เปิดกว้างสำหรับการแสดงผลงาน   และช่องทางออนไลน์ หรือรูปแบบของการจำหน่ายผลงาน ที่มีมากกว่าเก่า

“ศิลปินพูดไม่เก่ง นั่นคือปัญหา  จะบอกว่า  เราเป็นอย่างนี้ เราทำไม่ได้หรอก มันไม่ได้  ต้องคิดว่าเราเรียนรู้ได้ เหมือนรุ่นพี่ศิลปินหลายๆ คน ก็พูดไม่เป็นมาก่อน เราเกิดมาจากการพูดไม่เป็น  สุดท้ายก็เกิดจากการฝึก เพราะว่ามันต้องฝึก โครงการดาวเด่นบัวหลวง นับเป็นที่ฝึกฝนสิ่งเหล่านี้ ทำให้ได้เห็นว่า เมื่อเพื่อนเราพูดดี ก็ทำให้รูปของเขาดูดีขึ้นในทันที  อยากขายของได้ ก็ต้องฝึกพูด แต่เด็กเดี๋ยวนี้ก็เก่งขึ้น  พูดเก่งขึ้น ขายของเองได้มากขึ้น”

แต่ทั้งนี้ การตั้งราคาที่เหมาะสมกับผลงานก็เป็นประเด็นสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ อ.เฉลิมชัย กล่าวย้ำว่า ผลงานสำหรับศิลปินหน้าใหม่ต้องไม่แพง  คนที่ขายรูปแพงคือคนที่จะดับอนาถ

“มันขายได้ทีสองทีแล้วขายไม่ได้ เพราะจะลดราคาลงมาก็ไม่ได้ นั่นคือผลเสียของคนละโมบโลภมาก มันต้องเริ่มขายจากถูกๆ ไปหาแพง ค่อยๆ ไต่ระดับ ค่อยๆ สร้าง  ใจเย็นๆ ให้เขาได้สะสมรูปถูกๆ ไปก่อน เทคนิคด้านการตลาดของพวกเรายังอ่อนด้อย  ศิลปินไม่ค่อยได้รับการสอนเรื่องแบบนี้ เขาต้องเรียนเอง จริงๆ ในการเรียนศิลปะมันต้องมีการสอน เรื่องของสังคม เรื่องการตลาด เรื่องของการจัดการ ใครจะมาบอกว่าเรื่องพาณิชย์ไม่ใช่เรื่องของศิลปินก็ไม่ได้ สมัยก่อนบอกว่าอายเขาไม่อยากพูดว่าศิลปินต้องขายรูปกิน กลัวภาพลักษณ์ไม่ดี แต่โลกสมัยใหม่มันไม่เสียหายหรอก เมื่อก่อนก็ไม่เสียหาย จริงๆ ฝรั่งเขาก็ค้าขายกันมานาน เพราะมีคนค้าขายให้ แต่บ้านเรามันต้องขายกันเอง ก็เลยถูกต่อว่า จนไม่กล้า ไม่กล้าก็เลยจน เป็นเรื่องธรรมดา แต่เดี๋ยวนี้มันเปลี่ยนแล้ว เขายอมรับกันแล้วว่าศิลปินมันต้องค้ารูป ไม่ค้าแล้วจะเอาอะไรกิน ดังนั้นศิลปินมืออาชีพจึงต้องมีความรู้มากกว่าเมื่อก่อน เมื่อก่อนมันกลัวความรวย กลัวจะมีตังค์ กลัวการขายรูป ก็เลยเอารูปไปติด แล้วแอบอยู่ที่บ้าน ค่อยกลับมาถามว่ารูปขายได้หรือเปล่า แต่วันนี้ทุกศิลปินต้องยืนหน้ารูปเพื่อพรีเซ็นต์รูปตัวเองเพื่อขาย ซึ่งนั่นมันไม่ได้ผิด”

ในตอนท้าย อ.เฉลิมชัย ยังกล่าวย้ำว่า เส้นทางของผู้ที่อยากเป็นศิลปินมืออาชีพ ต้องทำงานให้ดี และมีความกว้างขวาง  ต้องออกไปพบปะผู้คน  และพัฒนางานงานตัวเองให้ดีขึ้นเสมอ รวมทั้งใช้โอกาสของเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น โดยเฉพาะโลกอินเตอร์เน็ตในการโชว์ผลงาน ซึ่งเป็นช่องทางที่ช่วยประชาสัมพันธ์ให้กับตัวเองได้

สำหรับผู้ที่สนใจผลงานที่เยาวชนผู้เข้าร่วมโครงการสร้างสรรค์ขึ้น  สามารถเข้าชมได้ ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ระหว่างวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560-13  มกราคม 2561