องค์กร Protection Internationalและสถานทูตแคนนาดา จัดงาน ผ้าปักควิลท์ “จากเส้นด้ายและปลายเข็ม สู่ศิลปะแห่งการต่อสู้ของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ #ArtForResistance “พร้อมเวทีพูดคุยสถานการณ์ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิภายใต้ประชาธิปไตยไม่เต็มใบ วันอังคารที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 10.30 -12.30 น. ณ โถงหน้าห้องสมุดชั้น L หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ครั้งแรกของประเทศไทยที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิงได้ลุกขึ้นมาบอกเล่าเรื่องราวของพวกเธอผ่านศิลปะการปักผ้าควิลท์ ที่ผ่านมาองค์กร Protection International ภายใต้การสนับสนุนโครงการ CFLI สถานทูตแคนาดา ได้ลงพื้นที่เพื่อทำงานกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิงในชุมชนและพื้นที่ชนบทที่ห่างไกลและพบว่าผู้หญิงเหล่านั้นไม่ค่อยมีพื้นที่เพื่อการแสดงออกและสื่อสารเรื่องราวและความต้องการของพวกเธอในทางศิลปะ
ในระหว่างการลงพื้นที่ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิได้สะท้อนประสบการณ์ในชีวิตและการต่อสู้ของพวกเธอที่น่าสนใจในหลากหลายประเด็น ซึ่งประเด็นเหล่านั้นมีเรื่องราวและเรื่องเล่าที่ซ่อนอยู่อย่างน่าสนใจมาก รวมถึงประเมินการทำงานของรัฐบาลต่อข้อเสนอของคณะกรรมการว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบของสหประชาติ ( คณะกรรมการซีดอ CEDAW)
หลังจากนั้นเราจึงเดินทางไปทั่วภูมิภาคและเดินทางไปหาผู้หญิงนักปกป้องสิทธิหลากหลายเครือข่ายตั้งแต่ปีที่แล้ว ซึ่งมีเครือข่ายต่างๆที่ทำงานเรื่องสิทธิของผู้หญิงในการเข้าถึงที่ดิน ต่อต้านเหมืองแร่ ผู้หญิงชาติพันธ์ และสิทธิของพนักงานบริการ จนถึงปีนี้ที่ได้ทำงานร่วมกับเครือข่ายสลัมสี่ภาค ผู้หญิงผู้ลี้ภัย ผู้หญิงพิการ ผู้หญิงที่ต้อสู้เรื่องที่ดินในพื้นที่ภาคเหนือ
ผู้หญิงที่มีความหลากหลายทางเพศ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ เพื่อชวนพวกเธอเย็บผ้าต่อควิลท์เพื่อสะท้อนชีวิต เรื่องราว และการต่อสู้ของพวกเธอ ซึ่งในระหว่างการเย็บและปักผ้าลงแต่ละฝีเข็ม นักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิงมีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ เกี่ยวกับการดำเนินงานในระดับบุคคลและกลุ่ม เพื่อปกป้องชุมชนหรือเครือข่ายของตนเอง
“กิจกรรมเย็บผ้าปักควิลท์” จึงเป็นแนวทางการทำงานอีกมุมหนึ่ง ที่เข้าถึงและกระตุ้นให้ผู้หญิงที่เข้าร่วมในกิจกรรมนี้เกิดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน และยังเป็นชิ้นงานที่บอกเล่าเรื่องราวของชีวิตอุปสรรคและผลกระทบที่พวกเธอต้องพบเจอในการลุกขึ้นมาต่อสู้ พร้อมทั้งฉายภาพให้เห็นข้อเรียกร้องในการแก้ไขปัญหาถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกด้วย ตามข้อเสนอของพวกเธอซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอของคณะกรรมการว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบของสหประชาติ ( คณะกรรมการซีดอ CEDAW)
โดยแนวคิดนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากผ้าต่อควิลท์หลากสีแบบสามมิติ หรือที่เรียกว่า arpilleras ที่มีการจัดทำในอเมริกาใต้ Arpilleras มีความสำคัญอย่างมากโดยเฉพาะเมื่อเป็นการจัดทำโดยกลุ่มผู้หญิง (บางครั้งเรียกชื่อกลุ่ม arpilleristas) ในชิลี ในยุคเผด็จการทหารของเอากุสโต ปิโนเชต์ (2516-2533) โดยผ่านผืนผ้าเหล่านี้ พวกเธอได้ฉายให้เห็นภาพของความยากลำบากและความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงจำนวนมากในยุคเผด็จการ เนื่องจากการธำรงชีวิตอย่างยากจนและการกดขี่จากรัฐ
ผลงานผ้าปักควิลท์ทั้ง 54 ชิ้นของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ ได้จัดทำเสร็จสิ้นแล้วด้วยเหตุดังกล่าวนี้องค์กร Protection International ภายใต้การสนับสนุนโครงการ CFLI สถานทูตแคนาดา จึงได้เตรียมจัดงานแถลงข่าวเปิดตัวผ้าปักควิลท์ “จากเส้นด้ายและปลายเข็ม สู่ศิลปะแห่งการต่อสู้ของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ ArtForResistance”
พร้อมเวทีพูดคุยสถานการณ์ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิภายใต้ประชาธิปไตยไม่เต็มใบ ขึ้นในวันอังคารที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 10.30 -12.30 น. ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ขึ้นเพื่อให้สื่อมวลชนและประชาชนทั่วไปได้ร่วมรับชมผลงานและร่วมรับฟังเรื่องเล่าของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิเหล่านี้ Protection International จึงใครขอเรียนเชิญสื่อมวลชนและประชาชนทั่วไปเข้าร่วมงานในวันและเวลาดังกล่าว โดยภายใจงานจะมีกิจกรรมที่น่าสนใจดังนี้
ร่วมรับชมวีดีทัศน์บอกเล่าเรื่องราวผู้หญิงนักปกป้องสิทธิกับการถ่ายทอดเรื่องราวของพวกเธอลงบนศิลปะผ้าควิลท์
และชมนิทรรศการผ้าปักควิลท์ที่บอกเล่าเรื่องราวของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน54 ผลงาน พร้อมรับฟังเวทีพูดคุยเปิดใจผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน “จากเส้นด้ายและปลายเข็ม สู่ศิลปะแห่งการต่อสู้ของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ Art for Resistance”
นอกจากนี้ยังมีเวทีพูดคุยสถานการณ์ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิภายใต้ประชาธิปไตยไม่เต็มใบโดย ปรานม สมวงศ์ องค์กร Protection International ที่จะมาเปิดข้อมูลสถิติ การคุกคามข่มขู่ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และสถานการณ์ของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั่วประเทศไทยประจำปีพ.ศ. 2562 พร้อมทั้งนำเสนอทางออกในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน
อังคณา นีละไพจิตร อดีตกสม.และเจ้าของรางวัลแมกไซไซ 2562 ที่จะมาฉายภาพให้เห็นถึงสถานการณ์และแนวปฏิบัติในเชิงนโยบายที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการเกี่ยวกับการปกป้องผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน
อันธิฌา แสงชัย ผู้ร่วมก่อตั้งห้องเรียนเพศวิถีและร้านหนังสือบูคู จังหวัดปัตตานีที่จะมาการถ่ายทอดเรื่องราวที่ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงในภาคใต้
กัชกร ทวีศรี สมาคมวัฒนธรรมความพิการเชียงใหม่ ตัวแทนผู้หญิงนักปกป้องสิทธิผู้หญิงพิการ ที่จะมาถ่ายทอดเรื่องราวผลกระทบและอุปสรรคที่ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิซึ่งเป็นผู้หญิงพิการต้อง
พุทธณี กางกั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน องค์กร Fortify Rightsที่จะมาบอกเล่าถึงสถานการณ์ของผู้หญิงผู้ลี้ภัยในประเทศไทย
สมบุญ คงคา ประธานเครือข่ายเครือข่ายสลัม 4 ภาค ที่จะมาบอกเล่าถึงสถานการณ์เรื่องที่อยู่อาศัยของผู้หญิงคนจนเมือง
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและยืนยันการเข้าร่วมงานได้ที่โทร 080-970-7492 ,096-913-3983