DPU X มธบ. จัดเสวนา China 5.0 ผ่า DNA จีน สู่มหาอำนาจอันดับ 2 ของโลก แนะเด็กไทยรีบปรับทักษะ รองรับอาชีพใหม่ในโลกดิจิทัล
ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการและบุคลากรแห่งอนาคต(DPU X) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์(มธบ.) เปิดเผยว่า DPU X ร่วมกับคณะศิลปศาสตร์และวิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี&วิศวกรรมศาสตร์ (CITE) จัดกิจกรรม Playfessional ชอบทางไหนต้องไปให้สุด ภายใต้หัวข้อ “China 5.0 วัฒนธรรมจีนกับการพัฒนาเทคโนโลยี” โดยมี ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์ไทย-จีน เป็นวิทยากร
ทั้งนี้ เพื่อชี้ให้เห็นถึงแนวทางที่ทำให้ประเทศจีนพัฒนาอย่างก้าวกระโดดทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และเทคโนโลยี รวมถึงปัจจัยที่ส่งผลให้วัฒนธรรมจีนเอื้อต่อการพัฒนาเทคโนโลยี จนกลายเป็นประเทศมหาอำนาจอันดับที่ 2 ของโลก ซึ่งแนวคิดหลายอย่างจากแดนมังกรสามารถพิสูจน์ได้ว่า วิธีคิดหรือสูตรสำเร็จรูปจากประเทศตะวันตกไม่สามารถนำมาใช้ได้อีกต่อไป
ดร.พณชิต กล่าวว่า ตัวอย่างความสำเร็จของจีน ทำให้คนไทยต้องหันกลับมาคิดใหม่ ทำใหม่ และหาจุดที่เหมาะสมกับตนเอง ซึ่งสมัยก่อนวิธีคิดของคนไทยจะศึกษาและนำต้นแบบสูตรสำเร็จรูปจากประเทศมหาอำนาจมาใช้โดยไม่ปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับบริบทของตนเอง จึงทำให้ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก ดังนั้น อนาคตของเด็กไทยก็น่าเป็นห่วงเช่นเดียวกันเพราะส่วนใหญ่ยังขาดการพัฒนาอย่างจริงจังเรื่อง ความรู้ ความคิด ทักษะและจิตใจ ซึ่งหากไม่เรียนรู้ให้กว้างและลึก ไม่ปรับวิธีคิด ไม่พัฒนาทักษะ หรือไม่เปิดใจรับสิ่งใหม่ ประเทศก็จะไปไม่รอด ดังนั้น DPU X จึงอยากเป็นส่วนหนึ่งในการปลูกฝังให้เด็กคิดหาแนวทางเพื่อผ่านความยากลำบากตรงจุดนี้ไปให้ได้ ถ้าผ่านตรงนี้ได้ก็จะสามารถปรับตัวอยู่ในยุคของ AI (Artificial Intelligence) ได้
“การเชิญ ดร.อาร์ม มาเป็นวิทยากรในครั้งนี้ เพื่อต้องการให้เด็กเห็นตัวอย่างของคนที่ประสบความสำเร็จจากความชอบของตัวเอง วิทยากรเรียนจบนิติศาสตร์ แต่ชอบศึกษาเรื่องที่เกี่ยวกับประเทศจีน การศึกษาอย่างถ่องแท้ รู้ลึก รู้จริงนำไปสู่การสร้างคาแรคเตอร์ให้ตนเอง จนพัฒนากลายมาเป็นนักเขียนและวิทยากร สามารถเผยแพร่ความรู้ให้กับผู้อื่นได้ อย่างไรก็ตามการได้เรียนรู้วิธีคิดของคนที่ประสบความสำเร็จ ทำให้ได้รู้ว่าตนเองรู้จริงหรือรู้ลึกในสิ่งที่เราชอบหรือไม่ และสามารถนำความรู้นี้ไปต่อยอดทำอะไรได้บ้าง”ดร.พณชิตกล่าว
ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์ไทย-จีน และผู้เขียนหนังสือ ‘China 5.0 สีจิ้นผิง เศรษฐกิจยุคใหม่ และแผนการใหญ่ AI’ กล่าวว่า ในอนาคตผู้นำด้านเศรษฐกิจและเทคโนลียีอาจไม่ใช่เมืองตะวันตกอีกต่อไป เพราะขณะนี้เริ่มมีอิทธิพลจากประเทศจีนแทรกซึมเข้ามาเรื่อยๆ การเปลี่ยนแปลงในจีนเกิดขึ้นเร็ว ส่งผลให้การขับเคลื่อนเทคโนโลยีเร็วตามไปด้วย ก่อนนี้ทุกคนอาจอยู่ภายใต้แพลตฟอร์มตะวันตก อาทิ Facebook Twitter เป็นต้น
แต่ตอนนี้มีแพลตฟอร์มจีนเข้ามาให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น เช่น Alibaba Tencent Huawei ตลาดเทคโนโลยีจีนเริ่มรุกอย่างรวดเร็วจนเห็นภาพการแข่งขันกับสหรัฐอย่างชัดเจน แต่อย่างไรก็ตาม ภายใน 1 ปีก่อนการเลือกตั้งของสหรัฐ อาจยังไม่มีการยกระดับความรุนแรงของสงครามการค้า ระหว่าง 2 ประเทศมหาอำนาจ เพราะไม่ก่อให้เกิดผลดีต่อสหรัฐเลย แต่มีแนวโน้มในการเจรจาเฟส 2 ซึ่งเป็นเรื่องที่ตกลงกันยากขึ้น อาทิ การอุดหนุนรัฐวิสาหกิจจีน ภัยคุกคามไฟเบอร์จากจีน ซึ่งสงครามนี้อาจกินยาวหลายปี และอาจกล่าวได้ว่ายุคนี้เป็นจุดจบในการนำเดี่ยวของสหรัฐฯ เพราะในอนาคตข้างหน้าจีนอาจแซงหน้าด้านเทคโนโลยี ส่วนสาเหตุหลักที่จีนปรับตัวได้เร็ว เพราะมีวัฒนธรรมการปรับตัวและการอยู่รอดจากรุ่นสู่รุ่น
ดร.อาร์ม กล่าวต่อว่า จีนนอกจากมีการปรับตัวที่ดีแล้ว ยังนำวิธีคิดและวัฒนธรรมดั้งเดิมมาผลักดันให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยี เมื่อถอดรหัสแนวคิดจะพบวัฒนธรรม 4 อย่างที่จีนนำมาใช้เพื่อพัฒนาประเทศ ได้แก่ 1.วัฒนธรรมความคิดแบบหยินหยาง คือ ในขาวมีดำ เช่น การใช้กลไกลตลาดควบคู่กลไกลรัฐ ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและระบบการปกครองภายใต้เอกลักษณ์จีน ทำให้มีการพัฒนาแบบก้าวกระโดด 2.วัฒนธรรมการพัฒนาและเรียนรู้อยู่เสมอ ยกตัวอย่าง Start Up ในจีน ส่วนใหญ่เริ่มจากการศึกษาต้นแบบ (จากสหรัฐฯ)
เกิดการ Inspired สู่การ Innovate จนเกิดเป็นนวัตกรรมของตนเอง 3.วัฒนธรรมด้านการแข่งขัน มีการแข่งขันสูงทุกด้านทำให้เกิดการตื่นตัวอยู่เสมอ และ4.วัฒนธรรมด้านการทดลอง เช่น การทดลองเปิดเมืองเศรษฐกิจพิเศษ(เมืองเซินเจิ้น)จนประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ยังมีการตั้งเป้ายุทธศาสตร์อุตสาหกรรม Made In China 2025 เพื่อยกระดับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ รถยนต์พลังงานสะอาด และยังมีแผน AI 2030 เพื่อขึ้นสู่การเป็นผู้นำโลกด้าน AI
“เป้าหมายใหญ่ของจีนทำให้ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐเริ่มสั่นคลอน ลามไปสู่การขัดแย้งทางด้านเศรษฐกิจ การเกิดสงครามการค้าระหว่าง 2 ประเทศยักษ์ใหญ่ จะส่งผลให้ในอนาคตเกิดโลก 2 ใบ หรือโลกดิจิทัล 2 ซีก ทั้งนี้ในปี 2563 อาจต้องจับตาการประกาศใช้ “หยวนดิจิทัล” และเทคโนโลยี Social Credit Score ซึ่งคนในวงการ FinTech มองว่ามีความสำคัญมากต่อการเปลี่ยนแปลงภาคการเงินของโลก อย่างไรก็ตามเรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งที่ต่างชาติสนใจและพูดกันในวงกว้าง และสำหรับคนไทยต้องหันมาตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงของโลก ในภาคเศรษฐกิจต้องแสวงหาความร่วมมือจากผู้ประกอบการจีน เพราะถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัย ที่ไทยสามารถนำสิ่งที่เรียนรู้มาปรับใช้ในเชิงธุรกิจได้ เนื่องจากประเทศดังกล่าวมีเทคโนโลยีหลายระดับ มิหนำซ้ำยังมีตัวอย่างความสำเร็จหลากหลายด้านให้เรียนรู้ด้วย”ดร.อาร์ม กล่าว
ดร.อาร์ม กล่าวทิ้งท้ายว่า เด็กไทยไม่ต้องกลัวการถูกแย่งงานจาก AI เพราะมีผลการศึกษาว่า งานใดที่ AI มาแทนที่ มักมีงานใหม่เกิดขึ้นเสมอ เพราะฉะนั้นคนที่จะคว้าโอกาสในยุค 5.0 ต้องพัฒนาทักษะในการเรียนรู้ตลอดชีวิตและต้องเรียนรู้ตลอดเวลา เพื่อคว้าโอกาสใหม่ที่เกิดขึ้น อย่างเช่น การเรียนภาษาจีน ต้องรู้ลึกเรื่องวัฒนธรรม เรื่องเศรษฐกิจ และเรื่องอื่นๆ เพื่อเปิดโลกความคิดของเจ้าของภาษาด้วย