จากเส้นด้ายและปลายเข็ม สู่ศิลปะแห่งการต่อสู้ของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ

34

องค์กร Protection International โดยการสนับสนุนจากสถานฑูตแคนนาดา จัดแสดงผลงานนิทรรศการผ้าปักควิลท์ “จากเส้นด้ายและปลายเข็ม สู่ศิลปะแห่งการต่อสู้ของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ #ArtForResistance ระหว่างวันที่ 4-7 กุมภาพันธ์ ที่โถงหน้าห้องสมุด ชั้น L หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยให้วันพิธีเปิด ได้จัดให้มีเวทีพูดคุยสถานการณ์ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิภายใต้ประชาธิปไตยไม่เต็มใบ

ภายในงานได้มีการเผยสถิติ “ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ” ถูกคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมหลังรัฐประหารพุ่งถึง 440 คดี พบภาคกลางถูกฟ้องร้องดำเนินคดีเยอะสุด รองลงมาคือภาคอีสาน เหนือและใต้ และสามารถเข้าถึงกองทุนยุติธรรมเพียง 25 คน จี้รัฐ ยกเลิกดำเนินคดีทุกคดี ด้าน”อังคณา” ชี้ หลังเลือกตั้งแต่ผลพวงการใช้อำนาจที่เกินขอบเขตยังคงอยู่ –ความเห็นต่างยังถูกจำกัด

น.ส.ปรานม สมวงศ์ จากองค์กร Protection International ระบุว่า ที่ผ่านมาเป็นที่น่าตกใจว่าสถิติการคุกคามผู้หญิงนักปกป้องสิทธิเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยในช่วง 3 ปีแรกหลังรัฐประหาร 2557-2560 มีผู้หญิงนักปกป้องสิทธิจากชุมชนถูกคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรม 179 คน แต่ในปัจจุบันหกปีผ่านไปเพิ่มขึ้นเป็น 440 คน แม้ว่าก่อนหน้านี้ในปี พ.ศ. 2560 คณะกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี หรือ CEDAW มีข้อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติการคุกคามผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ ซึ่งแทนที่ตัวเลขจะลดลง ปรากฏว่าสถิติกลับพุ่งสูงขึ้น และพบว่ามีผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯเพียง 25 คนจากทั่วประเทศเท่านั้นที่เข้าถึงกองทุนยุติธรรม

ตัวแทนจากProtection International ยังเปิดเผยต่อว่า ระหว่างปี 2557-2562 ว่า มีผู้หญิงนักปกป้องสิทธิที่ถูกคุกคามด้วยการดำเนินคดีทางกฎหมายอย่างน้อย 440 คน แบ่งเป็น ความผิดฐานบุกรุก 83 คน ความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ความผิดฐานหมิ่นประมาท จำนวน 36 คน ความผิดตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ 35 คน คดีขัดคำสั่งคสช.3/2558 ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปพ่วงด้วยคดีในข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฏหมายอาญา ม. 116 จำนวน 22 คน คดีขัดคำสั่งคสช. 3/2558 จำนวน 20 คน การฟ้องร้องความผิดฐานละเมิด ขับไล่และเรียกค่าสินไหมทดแทน 17 คน

คดีสร้างสิ่งกีดขวางทางสาธารณะ 12 คน คดีร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่น 3 คน ถูกเชื่อมโยงเกี่ยวกับคดียาเสพติด 2 คน คดีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ จำนวน 8 คน และคดีร่วมกันกระทำด้วยประการใดๆให้ทางสาธารณะประตูน้ำ ทำนบ เขื่อน อยู่ในลักษณะอันน่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่การจราจร และ คดีบุกรุกสถานที่ราชการอย่างละ 1 คน นอกจากนี้ยังมีคดีขับไล่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์ อีกประมาณ 200 คน และเมื่อนำสถิติทั้งหมดมารวมกันเป็นภูมิภาคจะพบว่าผู้หญิงนักปกป้องสิทธิจากกรุงเทพฯและปริมณฑล ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีมากที่สุดถึง 235 คน รองลงมาคือภาคอีสาน 129 คน ภาคเหนือ 44 คน และภาคใต้ 32 คน

ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ เป็นผู้สร้างคุณูปการในการปกป้องสิทธิ เสรีภาพ ขึ้นพื้นฐานของพวกเราทุกคน แต่กลายเป็นว่าลุกขึ้นมาสู้เมื่อไหร่ก็โดนคุกคาม ฟ้องร้องทางคดี ทำร้าย ให้ร้าย ตีตรา ข่มขู่ โจมตีเมื่อนั้น ซึ่งประเด็นนี้จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากแต่การรับรู้ของสังคมยังมีอยู่น้อยและไร้ซึ่งความตระหนักถึงความสำคัญในการปกป้องสิทธิมนุษยชนของพวกเธอ จึงได้จัดกิจกรรมที่จะทำให้พวกเธอได้แสดงออก บอกเล่าเรื่องราวและช่วยในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกลุ่ม ระหว่างภูมิภาค ระหว่างประเด็นการต่อสู้

เพื่อที่สังคมจะได้รับรู้เรื่องราวของพวกเธอมากขึ้นโดยการจัดทำโครงการผ้าปักควิลท์ “จากเส้นด้ายและปลายเข็ม สู่ศิลปะแห่งการต่อสู้ของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ #ArtForResistanceขึ้น ซึ่งโครงการนี้ใช้เวลาสองปี โดยเริ่มจากปีที่แล้วซึ่งเพื่อเป็นการฉลองครบรอบ 20 ปี ปฏิญญาของสหประชาชาติว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งเรื่องราวของแต่ละคน เป็นเรื่องราวของผู้หญิงหลายล้านคนในโลกใบนี้ ที่อาจจะมีความคล้ายคลึงกันในการต่อสู้

“ทางออกในเรื่องนี้ สิ่งแรกจะต้องมีพื้นที่ให้ผู้หญิงเหล่านี้ได้บอกว่าถึงความต้องการ และเมื่อพวกเธอบอกแล้ว ต้องฟังและหาทางออกร่วมกัน รัฐต้องไม่ลงโทษพวกเธอที่ลุกขึ้นมาใช้สิทธิเพื่อเราทุกคน เช่น ต้องยุติการใช้คดีความกลั่นแกล้ง และยุติการคุกคามในทุกรูปแบบเมื่อนักปกป้องสิทธิลุกขึ้นมาใช้สิทธิ ด้วยการยกเลิกคดีทุกคดีที่มีการฟ้องร้องผู้หญิงนักปกป้องสิทธิทุกคน การลงพื้นที่ไปรับฟังผู้หญิงถึงสิ่งที่ต้องการและมีการนำไปปฏิบัติ รวมถึงในพื้นที่ชายแดนใต้ต้องยุติการบังคับตรวจดีเอ็นเอและการควบคุมตัวภายใต้กฎหมายความมั่นคง ซึ่งทำให้ผู้หญิงในสามจังหวัดไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีสันติภาพและปราศจากความกลัวในพื้นที่หลังเลือกตั้งแต่ผลพวงการใช้อำนาจที่เกินขอบเขตยังคงอยู่พร้อมระบุที่ผ่านมา จนท รัฐบางคนยังมองนักสิทธิฯ เป็นศัตรู ” น.ส.ปรานม กล่าว

นอกจากนี้ยังมีผู้มีบทบทาด้านสิทธิผู้หญิง ร่วมเวทีพูดคุยสถานการณ์ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิภายใต้ประชาธิปไตยไม่เต็มใบ อีกหลายท่าน อาทิ อังคณา นีละไพจิตร เจ้าของรางวัลแม็กไซไซ 2562 น.ส.สมบุญ คงคา ประธานเครือข่ายสลัมสี่ภาค น.ส.พุทธณี กางกั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน องค์กร Fortify Rights น.ส.กัชกร ทวีศรี สมาคมวัฒนธรรมความพิการเชียงใหม่ ตัวแทนผู้หญิงนักปกป้องสิทธิผู้หญิงพิการ และ น.ส.อันธิช า แสงชัย ผู้ก่อตั้ง Buku FC

สำหรับ“กิจกรรมเย็บผ้าปักควิลท์” จึงเป็นแนวทางการทำงานอีกมุมหนึ่ง ที่เข้าถึงและกระตุ้นให้ผู้หญิงที่เข้าร่วมในกิจกรรมนี้เกิดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน และยังเป็นชิ้นงานที่บอกเล่าเรื่องราวของชีวิตอุปสรรคและผลกระทบที่พวกเธอต้องพบเจอในการลุกขึ้นมาต่อสู้ พร้อมทั้งฉายภาพให้เห็นข้อเรียกร้องในการแก้ไขปัญหาถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกด้วย ตามข้อเสนอของพวกเธอซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอของคณะกรรมการว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบของสหประชาติ ( คณะกรรมการซีดอ CEDAW) โดยนิทรรศการจัดแสดงตั้งแต่วันที่ 4-7 กุมภาพันธ์ ที่โถงหน้าห้องสมุด ชั้น L หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร