สสส. ลงพื้นที่ติดตามภาคีสมัชชาสุขภาพจังหวัด ประเด็นอาหารปลอดภัย จ.หนองบัวลำภู หลังพบชาวบ้านป่วยโรคเนื้อเน่า คาดเพราะสารเคมีทางการเกษตรทำพิษ ผลลัพธ์ดีเกินคาด เลิกใช้ 3 ปี คุณภาพชีวิตดีขึ้น
คณะผู้บริหารจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการพัฒนาระบบอาหารปลอดภัย “จากท้องนาสู่พาข้าว” จ.หนองบัวลำภู ที่ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และภาคีเครือข่าย หลังพบเกษตรกรจำนวนมากประสบปัญหาป่วยด้วยโรคเนื้อเน่า คาดว่าเป็นผลมาจากการปนเปื้อนของสารเคมีทางการเกษตรในสิ่งแวดล้อม
ทพญ.วรางคณา อินทโลหิต สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหนองบัวลำภู กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนระบบอาหารปลอดภัย จ.หนองบัวลำภู เกิดขึ้นเมื่อปี 2560 พบเกษตรกรป่วยเป็นโรคเนื้อเน่าเป็นจำนวนมาก จึงทำการสำรวจสภาพปัญหาและปริมาณสารเคมี โดยความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยนเรศวร พบระดับการตกค้างของพาราควอตในน้ำผิวดิน น้ำบาดาล ดิน ตะกอนดิน ในระดับสูงถึงสูงมาก เกษตรกรใช้สารกำจัดวัชพืชความเข้มข้นสูงกว่ากำหนด (ผสมเข้มข้นกว่าปกติ 4 เท่า) และในช่วงเวลาที่มีการใช้สารเคมีพบว่าเกษตรกรป่วยด้วยโรคเนื้อเน่าในอัตราสูง จึงเป็นไปได้ว่ามีความสัมพันธ์กัน ต่อมาทางจังหวัดจึงค้นหารูปแบบการดำเนินงานแก้ไขปัญหาในพื้นที่ต้นแบบ “บุญทัน Model” ที่มาพร้อมกับแผนปฏิบัติการจัดการปัญหาสารเคมีทางการเกษตรตกค้างในสิ่งแวดล้อมที่จ.หนองบัวลำภู ซึ่งทางผู้ว่าราชการจังหวัดในขณะนั้นได้กำหนดให้เป็นนโยบายจังหวัด ด้วยการใช้ความสำเร็จของบุญทันโมเดล เป็นบทเรียนให้ทุกพื้นที่ในจังหวัดปฏิบัติตาม
นายอ้ม ทิธรรม ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชน บ้านป่าแดงงาม ต.กุดแห่ อ.นากลาง กล่าวว่า ชาวบ้าน บ้านป่าแดงงามส่วนใหญ่มีอาชีพปลูกอ้อย และมักใช้ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง โดยเมื่อปี 2559 ที่บ้านป่าแดงงามพบเกษตรกรป่วยด้วยโรคเนื้อเน่าหลายคน ซึ่งคาดว่ามาจากสารเคมีทางการเกษตรตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อม ชาวบ้านบางรายลงไปหาปลาในบ่อน้ำ หลังขึ้นจากน้ำไม่ถึง 2 ชั่วโมง มีอาการขาบวมแดง และค่อยๆ ลามขึ้นตามร่างกาย เพียงแค่ชั่วข้ามคืน ขาเปลี่ยนสีเป็นสีม่วง มีตุ่มขึ้นปวดแสบปวดร้อน แพทย์ระบุว่า หากมาช้ากว่านี้อาจต้องตัดขาทิ้ง ขณะที่เกษตรกรบางรายถึงขั้นสูญเสียชีวิต โรคนี้สร้างความหวาดกลัวให้กับชาวบ้านอย่างมาก จึงเป็นที่มาของการเข้าโครงการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จ.หนองบัวลำภู และองค์การบริหารส่วนจังหวัด เปลี่ยนแปลงวิธีทำเกษตรแบบ ลด ละ เลิกสารเคมีทุกชนิด หันมาปลูกพืชผักที่หลากหลายเพื่อนำไปขายที่ตลาดชุมชน และมีการรับซื้อกันภายในกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกพืชผักปลอดภัยด้วยกัน ทุกวันนี้หลายครัวเรือนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นมาก เพราะไม่มีภาระค่าใช้จ่ายจากการซื้อสารเคมี สุขภาพก็ดีขึ้นเพราะบริโภคผักที่ปลูกเอง
ด้าน นายสุรินทร์ กิจนิตย์ชีว์ คณะกรรมการบริหารแผน คณะที่ 5 และคณะที่ 8 สสส. กล่าวว่า เมื่อปี 2555 สสส. ได้สนับสนุนให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดหนองบัวลำภู ดำเนินโครงการจังหวัดหนองบัวลำภูน่าอยู่ ซึ่งมีประเด็นสิ่งแวดล้อมเป็น 1 ใน 5 ประเด็นของโครงการ ในประเด็นสิ่งแวดล้อมนั้น มีตัวแทนเกษตรกรสนใจเกี่ยวกับผลกระทบของสารเคมีเกษตรต่อสุขภาพ อบจ.หนองบัวลำภูจึงได้จัดเวทีอบรมให้ความรู้เกษตรกรเกี่ยวกับอันตรายจากสารเคมีทางการเกษตร อ.นากลาง ซึ่งนั่นเป็นครั้งแรกที่จุดประกายให้ประชาชนในจังหวัดหันมาตระหนักเรื่องนี้ กระทั่งเกิดการสำรวจสภาพปัญหาอันเกิดจากการบูรณาการของหน่วยงานต่างๆ และเริ่มทำโครงการลด ละ เลิกสารเคมี ซึ่ง สสส. ยังคงทำหน้าที่เสมือนเป็นน้ำมันหล่อลื่นด้วยการต่อยอดงานวิจัยท้องถิ่น และงานวิจัยของจังหวัด เชิญชวนคนหันมาทำเกษตรอินทรีย์ ซึ่งทางจังหวัดต้องการให้ สสส. ประสานให้สามพรานโมเดล จ.นครปฐม เป็นพี่เลี้ยงพัฒนาตลาดอินทรีย์ของจังหวัด ขยายช่องทางและโอกาสให้ชาวบ้านมีพื้นที่จำหน่ายสินค้ามากขึ้น