รพ. กรุงเทพ มุ่งเน้นมาตรการลดการติดเชื้อนำ “เฮลท์ตี้บอท” หุ่นยนต์อัจฉริยะ มาช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคระบาด ภายในโรงพยาบาล
นพ. นิวัติ อินทรวิเชียร รองผู้อำนวยการ โรงพยาบาลกรุงเทพ เปิดเผยว่า เนื่องในสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) เกิดขึ้น ทางโรงพยาบาลกรุงเทพ ได้นำนวัตกรรมทางการแพทย์มาประยุกต์ใช้กับแนวทางการดูแล และให้บริการผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไวรัส โดยลดการติดต่อสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง ด้วย “หุ่นยนต์เฮลท์ตี้บอท” ซึ่งจะทำหน้าที่ให้บริการผู้ป่วยแทนบุคลากรโรงพยาบาล ในการส่งยาเวชภัณฑ์ อาหาร น้ำดื่ม รวมถึงสิ่งของอื่นๆ ให้กับผู้ป่วยในพื้นที่คัดแยก และควบคุมการติดเชื้อ ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงในสภาวะที่เกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว
โรงพยาบาลกรุงเทพ และบริษัท เนชั่นแนล เฮลท์แคร์ ซิสเท็มส์ หรือ เอ็นเฮลท์ ผู้ให้บริการด้านการสนับสนุนทางด้านการแพทย์และธุรกิจโรงพยาบาล ได้ร่วมกันต่อยอดเทคโนโลยีให้กับหุ่นยนต์เฮลท์ตี้บอท ซึ่งเดิมถูกใช้ในการทำหน้าที่ขนส่งยาให้แผนกต่างๆ ในโรงพยาบาล โดยพัฒนาระบบเทเลเมดิซีน เพิ่มความสามารถในการสื่อสารกับผู้ป่วยด้วยโปรแกรมสื่อสารพูดคุยผ่านจอมอนิเตอร์ที่ติดตั้งไว้บนตัวหุ่นยนต์ ซึ่งถูกควบคุมด้วยเครือข่ายสัญญานอินเตอร์เน็ต ช่วยให้บุคลากรที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนญาติของผู้ป่วย ได้ติดต่อสื่อสาร ผ่านจอมอนิเตอร์ คลายความกังวล และเพิ่มความมั่นใจให้ผู้ป่วยอุ่นใจตลอดการรักษา
ในด้านมาตรการการคัดกรองผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงของโรงพยาบาล พญ.สมจินตนา เอี่ยมสรรพางค์ ผู้อำนวยการแผนกฉุกเฉินกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ ให้ข้อมูลว่า ทุกจุดลงทะเบียน จะมีการคัดกรองผู้ป่วยทุกราย โดยสอบถามประวัติการเดินทาง อาการไข้ และอาการทางระบบทางเดินหายใจ เพื่อนำส่งผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงไปยังพื้นที่บริการที่จัดไว้โดยเฉพาะที่มีระบบควบคุมการไหลเวียนอากาศ โดยเจ้าหน้าที่จะทำการวัดอุณหภูมิร่างกาย และตรวจประเมินตามมาตรฐานของกรมควบุคมโรค
กรณีที่ผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อตามข้อบ่งชี้จะต้องส่งตรวจหาเชื้อไวรัสจากสารคัดหลั่ง โดยผู้ป่วยจะได้รับการดูแลระหว่างรอผลตรวจในพื้นที่แยกพิเศษ ซึ่งนอกจากการดูแลรักษาโดยบุคลากรการแพทย์แล้ว เราได้ใช้หุ่นยนต์เฮลท์ตี้บอทในการให้บริการอื่นๆ เพื่อลดการสัมผัสกับผู้ป่วยในขั้นตอนต่างๆ นอกจากนี้ ระบบไหลเวียนอากาศภายในโรงพยาบาลยังได้รับการควบคุม และตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอตามมาตรฐาน เพื่อให้ผู้รับบริการมั่นใจได้ถึงความปลอดภัยเมื่อมาโรงพยาบาล