ศูนย์การค้าโอ.พี.เพลส เจริญกรุง 38 อาคารประวัติศาสตร์ร่วมสมัยตั้งแต่ปลายสมัยรัชกาลที่ 5 อดีตเคยเป็นช็อปปิ้งมอล์เก่าแก่ของกรุงเทพฯ บริหารโดยแอสเสท เวิรด์ คอร์ปอเรชั่น (AWC) ได้รวบรวมผลงานของศิลปินและนักออกแบบสาย Art และงาน Craft ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ที่มีรางวัลระดับนานาชาติการันตีคุณค่ามาจัดแสดงในงาน Arty Crafty Boys ตั้งแต่วันนี้ – 29 กุมภาพันธ์ 2563
โดยการจัดงานในครั้งนี้ ได้รวบรวมผลงานที่น่าสนใจของศิลปินนักออกแบบ อาทิ KITT.TA.KHON, ANGO, APHISIT SITSUNTIEA, PHILIPPE MOISAN & GASPARD, SUMPHAT GALLERY และศิลปินรับเชิญ YOTHAKA และ AYODHYA 93 ซึ่งได้แบ่งการจัดแสดงเป็น SPACE ต่างๆ อย่างมีเอกลักษณ์
SPACE 01
KITT.TA.KHON – Contribute to the Diversify of Identity, Cultural, and Artistic.KITT.TA.KHON หรือ ฆิต•ตา•โขน ก่อตั้งโดยดีไซนเนอร์ชาวไทยสองคน ที่เชื่อว่างานคราฟท์แบบหัตถกรรม เป็นวัฒนธรรมสากลที่ไร้พรมแดน ฆิต•ตา•โขน นำจุดเด่นของสี รูปร่าง และผิวสัมผัสของงานคราฟท์จากทั่วโลก มาผสมผสานกัน จนได้เป็นงานดีไซน์ เก้าอี้ ม้านั่ง และของตกแต่งบ้านในอารมณ์แบบ Mix Culture ที่ดึงจุดเด่นของวัฒนธรรมหลากหลายให้มาอยู่ในชิ้นงาน เชื่อว่าใครที่ได้เห็นงานของ KITT.TA.KHON แล้ว จะย้อนนึกถึงวัฒนธรรมต่างแดนที่อาจจะเคยเห็น แต่เชื่อเลยว่าคุณจะต้องเซอร์ไพร์สไปกับรูปแบบของการเป็นของใช้ไลฟ์สไตล์ ที่มีความพิเศษ แปลกใหม่ และเต็มไปด้วยกลิ่นอายแห่งวัฒนธรรม
SPACE 02
Ango – Architectonic Handcrafted Lighting
แองโก (Ango) โคมไฟแฮนด์เมด ที่นำวัสดุธรรมชาติมาผสานกับเทคนิคงานคราฟท์แบบหัตถกรรม ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ โคมไฟแองโก ออกแบบโดยสถาปนิกชาวอังกฤษ แองกัส ฮัทชิสัน (Angus Hutcheson) รูปแบบของโคมไฟ จึงมีความเป็นสถาปัตยกรรมอยู่ในตัว (Architectonic lighting) ทั้งโครงสร้าง ดีไซน์ การผ่านของแสงจากวัสดุต่างๆ อาทิ หวาย รังไหม เยื่อสา และวัสดุที่เป็นโลหะ ซึ่งนำเทคนิคงานเชื่อมมาใช้ กลายเป็นโคมไฟลุคจิวเวลรี่ ที่เรียบหรู โคมไฟตกแต่งแองโก จึงมีรูปทรงที่แปลกใหม่ สะดุดตา ให้แสงสว่างที่นุ่มนวล ผ่อนคลาย แล้วถ้าใครชอบโคมไฟดีไซน์สไตล์แองโก แต่อยากได้แบบหรือไซส์ที่ทำพิเศษ แองโกมีทีมดีไซน์ที่พร้อมให้คำแนะนำและทำเป็นโคมไฟสั่งทำ เพื่อให้เหมาะและ Unique ที่สุดกับทุกสเปซ
ในสเปซ 02 นอกจากแองโกจะนำโคมไฟดีไซน์มาจัดแสดงแล้ว ยังนำผลงานของสุดยอดนักออกแบบไทยมาร่วมเป็น Guest artists อยู่ในพื้นที่ ชิ้นแรกเป็นเก้าอี้ โดย โยธกา (Yothaka) คุณสุวรรณ คงขุนเทียน นักออกแบบและพัฒนางานคราฟท์แบบหัตถกรรมเฟอร์นิเจอร์ของไทยมายาวนาน LUNAR CHAIR เก้าอี้ถักมือที่ดูคล้ายลบัลลังก์โดยโยธกา ทำเฟรมด้วยอลูมิเนียม แล้วจึงคราฟท์แบบงานหัตถกรรมด้วย PE (POLYETHYLENE) ซึ่งเป็นวัสดุที่คงทน จนเป็นลวดลายสวยงาม
ชิ้นที่สอง เป็นของตกแต่งบ้าน โดย อโยธยา เทรด 93 (Ayodhya Trade 93) หม่อมหลวง ภาวินี (ศุยสวัสดิ์) สันติสิริ นักออกแบบที่คร่ำวอดกับงานคราฟท์แบบหัตถกรรมในการออกแบบของตกแต่งบ้านไลฟ์สไตล์จากวัสดุธรรมชาติโดยเฉพาะผักตบชวา
FLEUR ภาษาฝรั่งเศสแปลว่า ดอกไม้ เป็นของตกแต่งบ้านดีไซน์ที่นำหางอวน (Palm Leaf) ซึ่งเป็นงานทอมือ สำหรับทำประมงจับกุ้งมาใช้ในการออกแบบ โดยบริษัท อโยธยา เทรด 93 ได้ออกแบบและพัฒนาดีไซน์ร่วมกับ แองโก ในรูปแบบของแต่งบ้านที่สวยงาม อ่อนหวาน และมีเอกลักษณ์งานทอที่ไม่เหมือนใคร
SPACE 03
Aphisit Sitsuntiea – Watercolor artist
อภิสิทธิ์ ศิดสันเทียะ ศิลปินสีน้ำที่มีผลงานทั้งในไทยและต่างประเทศมาต่อเนื่องกว่า 6 ปี ในนิทรรศการ Arty Crafty Boys อภิสิทธิ์ นำเสนอภาพวาดสีน้ำจากประสบการณ์ที่ได้จากบันทึกการเดินทางที่ประทับใจ อาทิ ย่านเยาวราช, แสงสียามค่ำคืนของกรุงเทพฯ, เวียดนามในความทรงจำ โดยอภิสิทธิ์ใช้ทักษะการวาดภาพสีน้ำที่มีเอกลักษณ์ของเขา เก็บรายละเอียดของอารมณ์ในขณะนั้น รวมถึงแสงสีและบรรยากาศรอบตัวไว้ได้อย่างมีชีวิตชีวา
SPACE 04
PHILIPPE MOISAN – Photographer
นิทรรศการภาพถ่ายและประติมากรรม Shrine โดย ฟิลิปป์ มัวซง และ รัฐ เปลี่ยนสุข (แกสเพิร์ด) นิทรรศการได้สะท้อนมุมมองของสภาวะการใช้ชีวิตที่หมิ่นเหม่และไม่จีรัง ท่ามกลางความวุ่นวายของสังคมเมืองในประเทศไทย โดยที่ผู้ชมจะสัมผัสได้ถึงความยากลำบาก และความตึงเครียดของผู้คน เมื่อต้องย้ายจากท้องทุ่งชนบทในภาคอีสาน มาสู่ความอึดอัดจอแจของท้องถนนในกรุงเทพฯ ผ่านงานภาพถ่ายของคุณฟิลิปป์ มัวซงและคุณแกสเพิร์ด (นามแผงของคุณรัฐ เปลี่ยนสุข) สองศิลปินที่บอกเล่าวิถีของโลกในยุคของการเปลี่ยนผ่านนี้
SPACE 05
SUMPHAT GALLERY – Colorful and brass new collection
สัมผัส แกลเลอรี เป็นแกลเลอรีออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ผสมผสานงานฝีมือและการผลิตเชิงอุตสาหกรรมเข้าไว้ด้วยกัน คุณรัฐ เปลี่ยนสุข ผู้ออกแบบและก่อตั้ง มีจุดประสงค์ที่ต้องการจะเชื่อมงานศิลปะเข้าสู่ชุมชนผ่านการทำหัตถกรรมพื้นบ้าน สัมผัสแกลเลอรี ทำงานกับชุมชนในหลายภูมิภาค โดยเน้นการทำงานกับวัสดุพื้นถิ่นและองค์ความรู้ของชุมชนจากหลากหลายแหล่งในประเทศไทย ผลงานที่ได้จึงเป็นความสร้างสรรค์ที่ผสมผสานระหว่างเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ และองค์ความรู้ของชุมชน ได้เป็นของใช้ในไลฟ์สไตล์ที่เหมาะกับการใช้งานในปัจจุบัน สามารถเพิ่มรายได้ให้กับหมู่บ้านหัตถกรรม นอกจากนั้น สัมผัสแกลเลอรี ยังนำเทคนิคการทำหัตกรรมแบบดั้งเดิม มาปรับใช้ใหม่ และพัฒนาต่อยอดการทำหัตถกรรมพื้นบ้าน เพื่อให้ก้าวไปสู่ระดับสากล
ชมรายละเอียดการจัดงาน Arty Crafty Boys ได้ที่: https://www.facebook.com/opplace.bkk/